กระดูกหักเกิดได้ทุกช่วงวัย เด็กมักกระดูกหักจากเล่นซน ผู้ใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุ ผู้สูงวัยมักเกิดกระดูกหักจากกระดูกพรุน มวลกระดูกที่เปราะบางแม้เพียงลื่นหกล้มก็หักได้ง่าย
สาเหตุหลักของกระดูกหัก
สาเหตุหลักของกระดูกหัก นอกจากอุบัติเหตุจากการจราจรแล้ว ยังมีอุบัติเหตุจากการทำงาน การเล่นกีฬา อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งพบมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ กระดูกหักในผู้สูงอายุ ซึ่งมีคุณภาพของกระดูกลดน้อยลงหากมีอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลให้เกิดกระดูกหักไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง เป็นต้น
อาการกระดูกหัก
อาการกระดูกหักที่เห็นชัดเจนจะบวมปวด ไม่สามารถลงน้ำหนักหรือเคลื่อนไหวได้บริเวณที่หัก โดยเฉพาะกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุจะมีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน ดังนั้นจึงควรตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกทุกปี เพื่อป้องกันกระดูกทรุดตัว เสริมความแข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย ทานอาหารแคลเซียมสูงตั้งแต่อายุยังน้อย
ผ่าตัดเชื่อมกระดูกหักแบบแผลเล็ก
ปัจจุบันใช้เทคนิคผ่าตัดเชื่อมกระดูกหักแบบแผลเล็ก โดยจะเปิดแผลเล็กหัวท้ายของตำแหน่งกระดูกที่หักแล้วสอดเหล็กดามใต้กล้ามเนื้อคล้ายขบวนรถไฟใต้ดิน แล้วยึดกระดูกด้วยสกรู เนื้อเยื่อจะได้รับบาดเจ็บน้อยกว่าผ่าเปิดแผลยาว ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ กระดูกติดดี ฟื้นตัวเร็วขึ้น หากมีกระดูกพรุนหักยุบและปวดหลังมากอาจรักษาด้วยการฉีดซีเมนต์เสริมกระดูกสันหลัง
กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ
จากสถิติพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุภายในปีแรก 20% และเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ความพิการ ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก 40% ไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง ส่วน 60% ผู้ป่วยต้องพึ่งพาผู้อื่นในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน
ปัญหากระดูกหักในผู้สูงอายุ หลัก ๆ มีอยู่ 3 ที่ คือ ข้อมือ สันหลัง และสะโพก ขึ้นอยู่กับว่าล้มท่าไหน แต่กระดูกข้อมือหัก กระดูกหลังทรุดตัวไม่ถึงขั้นเสียชีวิต และมักจะไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ส่วนกระดูกสะโพกหักถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดรักษาอาจต้องนอนติดเตียง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจากการนอนนิ่ง ๆ เป็นระยะเวลานาน เกิดแผลกดทับ กระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อ หรือปอดบวม ซึ่งอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
ถ้ามือหรือแขนหักยังใส่เฝือกได้ กระดูกสันหลังหักยังเดินได้ไม่ถึงขั้นเป็นอัมพาต แต่ถ้าสะโพกหักจะเกิดอันตรายจากโรคแทรกซ้อน จากประสบการณ์ถ้ากระดูกสะโพกหักส่วนใหญ่เกินกว่า 90% หากไม่ได้รับการผ่าตัดมักจะเดินไม่ได้ บางรายที่เป็นแค่กระดูกร้าวถือว่าโชคดี ซึ่งกระดูกอาจจะสามารถติดได้ภายในระยะเวลา 2 – 3 เดือนโดยไม่ต้องผ่าตัด ทั้งนี้ถ้ากระดูกสะโพกหักแล้วได้รับการผ่าตัดเร็ว ผู้สูงอายุจะฟื้นตัวเร็ว เจ็บปวดน้อย สามารถกลับไปใช้ชีวิตใกล้เคียงเดิมได้เร็ว กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุเป็นกลุ่มที่ต้องรักษาให้เร็ว พยายามให้เจ็บปวดน้อย สามารถลุกออกจากเตียงได้เร็ว ป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน
รักษากระดูกสะโพกหัก
กรณีผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก วิธีการรักษาจะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยและตำแหน่งการหักของกระดูกสะโพก โดยจะมี 2 วิธีคือ- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ
- การผ่าตัดเพื่อยึดตรึงกระดูกไว้ภายใน โดยการผ่าตัดใส่โลหะพิเศษยึดกระดูกไว้ให้เข้าที่และเกิดการติดของกระดูกตามธรรมชาติ