หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
รู้ก่อนสายเนื้องอกในกระดูกสันหลังและไขสันหลัง

แม้เนื้องอกในกระดูกสันหลังและไขสันหลังเป็นโรคที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้นชื่อนัก รวมถึงมีโอกาสในการเกิดไม่สูงมากหากเทียบกับการเกิดเนื้องอกในบริเวณอื่นของร่างกาย แต่ก็เป็นโรคที่ควรทำความเข้าใจอย่างมาก เนื่องจากอาการแรกเริ่มมีความใกล้เคียงกับอาการปวดหลังธรรมดา หากละเลยและไม่ได้รับการวินิจฉัยโดยละเอียดก็อาจยากต่อการรักษาอย่างทันท่วงที การรู้จักโรคให้นี้ดีพอจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญให้เข้าใจร่างกายและรู้เท่าทันหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น

 

ทำความรู้จักเนื้องอกในกระดูกสันหลังและไขสันหลัง 

ระบบประสาทส่วนกลางของร่างกาย ซึ่งประกอบไปด้วยสมองและไขสันหลัง เป็นหนึ่งในระบบของร่างกายที่มีความสำคัญอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเกิดความผิดปกติขึ้นมาได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากเกิดการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ก็สามารถพัฒนากลายเป็นเนื้องอก ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเนื้องอกธรรมดาและเนื้อร้ายหรือมะเร็ง ถึงแม้โดยทั่วไปโอกาสในการเกิดโรคนี้จะไม่สูงนัก แต่ก็เป็นโรคที่พึงระวังและทำความรู้จักให้มากพอเพื่อจะได้รู้เท่าทัน   

เนื้อเยื่อที่สามารถเป็นเนื้องอกได้บริเวณนี้เกิดได้ทั้งจากตัวกระดูกสันหลังไปจนถึงเยื่อหุ้มไขสันหลัง หรือกระทั่งเนื้องอกของระบบประสาท นั่นคือ ตัวไขสันหลังหรือตัวรากประสาท และเนื้องอกที่เกิดนอกเยื่อหุ้มไขสันหลังแต่โตเข้ามาในช่องไขสันหลัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่นของร่างกายแล้วมีผลกระทบต่อไขสันหลัง เช่น หากเกิดมะเร็งที่ปอดจะสามารถกระจายมาตามกระแสเลือดจนเกิดเนื้องอกขึ้นที่ไขสันหลังได้ โรคนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับคนทั่วไปไม่มากนัก แต่ในกรณีที่เป็นคนไข้ในกลุ่มที่มีเนื้อร้ายในบริเวณอื่นอยู่ก่อนแล้วก็อาจมีความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกในบริเวณนี้มากขึ้นตามไปด้วย เป็นเหตุผลให้ต้องเฝ้าระวังมากกว่าคนทั่วไป แม้ว่าจะรักษาโรคเดิมหายแล้วก็ตาม

 

เนื้องอกในกระดูกสันหลังและไขสันหลัง, โรคกระดูกสันหลัง

 

ปวดหลังที่ไม่ใช่แค่ปวดหลัง

อาการบ่งชี้ของเนื้องอกในกระดูกสันหลังและไขสันหลังมีความใกล้เคียงกับอาการปวดหลังทั่วไป หากละเลยคิดว่าเป็นเพียงอาการปวดหลังธรรมดาก็อาจรักษาได้ไม่ทันท่วงที 

สิ่งสำคัญที่เป็นข้อสังเกตคือ อาการปวดหลังธรรมดามักหายเองได้ในเวลาไม่นาน แต่หากมีอาการปวดหลังที่บ่งบอกว่าเป็นเนื้องอกในกระดูกสันหลังและไขสันหลังจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดหลังต่อเนื่องยาวนานหรือเป็น ๆ หาย ๆ ไม่หายขาด 
  • อาการปวดที่มีระบบประสาทร่วมด้วย เช่น
    • หากเกิดขึ้นที่ระดับคอ จะมีอาการปวดต้นคอร้าวลงแขนข้างใดข้างหนึ่งหรือ 2 ข้าง มีอาการชาที่แขนหรือมือ หรืออาจมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย หากเป็นมากขาอาจอ่อนแรงและมีปัญหาระบบขับถ่าย 
    • หากเกิดที่ระดับกลางลำตัว จะมีอาการปวดร้าวไปตามชายโครง ปวดรัดแน่นอึดอัด ชาตั้งแต่ช่วงลำตัวลงไป หากเป็นมากอาจมีอาการขาอ่อนแรงและมีปัญหาระบบขับถ่าย 
    • หากเกิดที่ระดับเอว จะมีอาการปวดเอวร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง และอาจมีอาการขาชาร่วมด้วยหรือมีปัญหาระบบขับถ่ายเช่นกัน 
  • มีความผิดปกติของระบบอื่น ๆ เช่น น้ำหนักลดผิดปกติ มีไข้เป็นประจำโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหารร่วมกับอาการปวดหลัง ต้องระวังและเข้ารับการวินิจฉัยโดยละเอียด 
  • ส่วนใหญ่มักปวดหลังเฉพาะตำแหน่งที่มีปัญหาและปวดมากตอนกลางคืน ต่างจากอาการปวดหลังจากโรคกระดูกสันหลังเสื่อมที่มักปวดเวลาขยับ เอี้ยวตัว ก้ม หรือเดิน 
  • อาการปวดจากเนื้องอกจะไม่หายสนิทเมื่อนวดหรือใช้ยาบรรเทา สำหรับเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงและโตช้า อาการปวดอาจจะค่อยเป็นค่อยไป มักคลำไม่เจอก้อน จนทำให้เข้าใจว่าเป็นอาการเจ็บป่วยจากโรคกระดูกสันหลังอย่างหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือกระดูกทับเส้น แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานจนกระทั่งเนื้องอกโตเบียดทับเนื้อเยื่อไขสันหลังโดยตรงจะมีอาการปวดหลังมาก และสูญเสียการควบคุมของอวัยวะส่วนล่าง รวมทั้งการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ หากเนื้องอกกลายเป็นเนื้อร้ายอาจลุกลามอย่างรวดเร็ว

 

ระวังเนื้อร้าย

จากสถิติทางการแพทย์พบว่า หากเกิดมะเร็งที่อวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายและแพร่มายังกระดูกสันหลัง ส่วนใหญ่มักจะพบว่าเป็นเนื้อร้าย แต่หากเป็นเนื้องอกธรรมดาในเนื้อเยื่อบริเวณอื่น ส่วนใหญ่มักไม่แพร่มาที่กระดูกสันหลัง โดยเนื้อร้ายที่พบว่าแพร่มายังกระดูกสันหลังมักเกิดกับคนไข้ที่เป็นมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงมะเร็งจากระบบเลือด เป็นต้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมคนไข้กลุ่มนี้จึงควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็สามารถพบในคนที่ไม่เคยมีประวัติการเกิดโรคมะเร็งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน 

 

เนื้องอกในกระดูกสันหลังและไขสันหลัง, โรคกระดูกสันหลัง

 

ตรวจวินิจฉัยทำการรักษาทันท่วงที

การเป็นคนใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างละเอียด มีความจำเป็นอย่างมากในการวิเคราะห์อาการเบื้องต้นที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเนื้องอกในกระดูกสันหลังและไขสันหลัง ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบันก็ก้าวหน้ามากขึ้นจนการวินิจฉัยสามารถทำได้อย่างละเอียด สามารถตรวจชิ้นเนื้อว่าเป็นเนื้อร้ายหรือเนื้อดี รวมถึงออกแบบการรักษาได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

การวินิจฉัยเนื้องอกระบบประสาทไขสันหลังในปัจจุบัน นอกจากการตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์ระบบประสาทแล้ว แพทย์จะทำการตรวจระบบประสาทไขสันหลังและเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียงด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ร่วมกับเครื่อง CT Scan เพื่อให้เห็นโครงสร้างของกระดูกสันหลังได้ชัด หากพบเนื้องอก แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาเนื้องอกที่ผิดปกติกดทับเส้นประสาทไขสันหลังออกไป โดยการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Spine Surgery : MISS) ช่วยให้คนไข้เสียเลือดน้อย ลดการทำลายโครงสร้างกระดูกสันหลัง และเนื้อเยื่อข้างเคียงบาดเจ็บน้อย 

ในผู้ป่วยบางรายที่มีปัญหากระดูกสันหลังหลวม (Unstable) จากการลุกลามของเนื้องอกหรือเป็นผลจากการผ่าตัดเนื้องอก และมีความจำเป็นต้องใส่อุปกรณ์โลหะเพื่อยึดหรือเชื่อมกระดูกสันหลัง ในปัจจุบันการผ่าตัดแผลเล็กร่วมกับการใช้เทคโนโลยี O – Arm and Spinal Navigator  ช่วยให้การใส่อุปกรณ์ยึดเชื่อมกระดูกสันหลังมีความชัดเจนและปลอดภัยมากขึ้น เมื่อใช้ร่วมกับเครื่องติดตามการทำงานระบบประสาทขณะผ่าตัด (Intraoperative Neurological Monitoring – IONM) ช่วยป้องกันเส้นประสาทบาดเจ็บขณะผ่าตัด ทำให้สามารถผ่าตัดเนื้องอกของไขสันหลังในจุดที่ต้องการได้มีประสิทธิภาพ

ส่วนคนไข้ที่มีเนื้องอกไม่ดีหรือเป็นมะเร็ง การรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค หากอยู่ในระยะแรกสามารถผ่าตัดเพื่อรักษาได้ แต่ตามธรรมชาติของกระดูกสันหลัง โดยมากเนื้อร้ายจะกัดกร่อนกระดูกสันหลังถือว่าเป็นระยะสุดท้าย ดังนั้นการผ่าตัดรักษาอาจช่วยให้คุณภาพชีวิตที่เหลือของผู้ป่วยดีขึ้น เช่น ปวดน้อยลง เคลื่อนไหวได้ หรือกรณีที่ขาไม่มีแรงกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เป็นต้น

ทุกวันนี้การวินิจฉัยและรักษาก้าวหน้าขึ้นมาก แม้แต่ในบางกรณีที่พบคนไข้อยู่ในระยะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาแบบประคับประคองหรือการรักษาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกับคนไข้ เช่น ลดปวดด้วยการผ่าตัด หรือใช้รังสีรักษาช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงเวลาที่ยังเหลืออยู่ได้

แม้จากสถิติทางการแพทย์แล้ว เนื้องอกในกระดูกสันหลังและไขสันหลังจะพบได้เพียง 1% จากบรรดาเนื้องอกที่เกิดจากอวัยวะอื่นทั้งหมด แต่ไม่ควรละเลยหรือมองข้าม เพราะสามารถเกิดขึ้นได้เสมอเช่นกัน ดังนั้นหากมีอาการปวดหลังควรสังเกตอาการเบื้องต้นว่าปวดแบบใด ระยะเวลาที่เกิดยาวนานเพียงใด รวมถึงพบอาการบางอย่างที่ระบบอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งหากพบความผิดปกติเหล่านี้ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที