หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
โรคกระดูกพรุนป้องกันได้

รู้จักโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน คือ โรคที่มีการสลายของเนื้อกระดูกอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก อันที่จริงความหมายของกระดูกพรุนก็คือ การที่มีความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงหรือโปร่งบางมากขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานเป็นปี โดยไม่สามารถสังเกตเห็นได้ หรือไม่สามารถรู้สึกได้จนกว่าจะเกิดกระดูกหักหรือเกิดการค่อมโค้งผิดรูปของกระดูกสันหลังเนื่องจากกระดูกทรุดและตัวเตี้ยลงอย่างชัดเจน

ความสำคัญของโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน จัดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ อัตราการเกิดกระดูกหักเนื่องจากกระดูกพรุนในแต่ละปีมีมากขึ้น ประมาณร้อยละ 50 ของผู้หญิง และร้อยละ 20 ของผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะต้องเกิดกระดูกหักที่เกี่ยวเนื่องกับกระดูกพรุน และมีความเจ็บปวดทรมานจากกระดูกหักบริเวณสะโพก กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ แขนและขา ซึ่งมักจะเป็นผลสืบเนื่องจากการหกล้ม แต่ก็อาจเกิดจากกิจวัตรประจำวันทั่วไปได้ด้วย เนื่องจากกระดูกเปราะและหักได้ง่าย จากข้อมูลการศึกษาพบว่า กระดูกสะโพกหักเป็นภาวะกระดูกหักที่ร้ายแรงและบั่นทอนสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยเองและผู้อยู่รอบข้าง อาจต้องพึ่งพาผู้อื่น หรืออย่างน้อยต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดินไปเป็นระยะเวลานาน และประมาณร้อยละ 50 ที่จะต้องใช้ตลอดไป

ปัจจัยเสี่ยงกระดูกพรุน

แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า ภาวะกระดูกพรุนเกิดจากสาเหตุใด แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่นำไปสู่โรคกระดูกพรุน ได้แก่

  • อายุ
    โดยธรรมชาติ ร่างกายจะมีการสะสมแคลเซียมเข้าในกระดูกเพื่อให้มวลกระดูกหนาแน่นขึ้น โดยจะมีความหนาแน่นสูงสุดที่อายุประมาณ 30 ปี และ จะคงที่อยู่ระหว่าง 30 – 40 ปี และมวลกระดูกจะลดลงเรื่อย ๆ ทุกปี หลังจากนั้นจนกระทั่งวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิง จะมีการลดลงของมวลกระดูก อย่างรวดเร็ว และ เมื่ออายุมากกว่า 65 ปี มวลกระดูกจะลดต่ำลงจนถึงจุดเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก

  • พันธุกรรมหรือกรรมพันธุ์
    พบว่าคนเชื้อสายคอเคเชียนและเอเชียน (ผิวขาวและผิวเหลือง) มีอัตราเสี่ยงของกระดูกพรุนสูงและจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีประวัติกระดูกหักของผู้สูงอายุในครอบครัวหรือผู้ที่มีรูปร่างผอมบางอยู่แล้ว
  • ภาวะโภชนาการและการดำเนินชีวิต
    ภาวะทุพโภชนาการ การขาดอาหาร น้ำหนักตัวน้อย การรับประทานแคลเซียมในปริมาณต่ำ ภาวะการดูดซึมแคลเซียมไม่ดี ผู้ที่ชอบการดื่มสุราและสูบบุหรี่  ผู้ที่อยู่เฉย ๆ นั่ง ๆ นอน ๆ หรือขาดการออกกำลังกาย
  • ยาและโรคประจำตัว
    ยาที่มีผลต่อกระดูกพรุน ได้แก่ ยาที่มีสารสเตียรอยด์ ยาเกี่ยวกับโรคต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น

ป้องกันโรคกระดูกพรุน

สะสมแคลเซียมในกระดูกให้มากที่สุดในช่วงอายุก่อน 30 ปี และต้องรับประทานแคลเซียมและวิตามินดีไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต เพื่อให้กระดูกคงสภาพที่ดีและลดความเสี่ยงต่อกระดูกหัก ที่สำคัญต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในทุกช่วงของอายุ

ปริมาณแคลเซียมตามวัย

ปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายต้องการอาจแตกต่างในแต่ละวัย และสภาวะร่างกาย ดังนี้

  • อายุ     9 – 18 ปี                     เท่ากับ      1,300 มิลลิกรัม ต่อวัน
  • อายุ   19 – 50 ปี                    เท่ากับ      1,000 มิลลิกรัม ต่อวัน
  • สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร    เท่ากับ      1,000 – 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน
  • อายุ มากกว่า 50 ปี               เท่ากับ      1,200 มิลลิกรัม ต่อวัน

อาหารดีมีแคลเซียม

อาหารที่มีปริมาณแคลเซียมมาก ได้แก่

  • ผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า บรอกโคลี
  • นมและผลิตภัณฑ์ของนม
  • ปลาซาร์ดีนพร้อมกระดูก
  • ปลาตัวเล็ก ๆ พร้อมกระดูก
  • กุ้งแห้ง
  • เต้าหู้แข็ง
  • งาดำ
  • กะปิ
  • ฯลฯ

วิตามินดีดูดซึมแคลเซียม

วิตามินดีมีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม โดยร่างกายต้องการวิตามินดี วันละ 200 – 600 หน่วย ซึ่งในนม 1 แก้วจะมีวิตามินดี 100 หน่วย และมีแคลเซียม 300 มิลลิกรัม ถ้าคิดว่าได้แคลเซียมและวิตามินดีจากอาหารไม่เพียงพอควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน

 

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในทุกเพศทุกวัยจะช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกและยังช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรงได้ โดยออกกำลังกายชนิดที่มีการลงน้ำหนัก เช่น เต้นรำ เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ  ทั้งบนถนนหรือบนลู่วิ่งก็ได้  ทั้งนี้การฝึกทรงตัวเพื่อป้องกันการหกล้มเป็นวิธีการที่ดีที่จะลดอุบัติการณ์ของกระดูกหักได้ เช่น การรำมวยจีนบางประเภท  แต่ถ้าไม่แน่ใจให้ปรึกษาแพทย์ก่อน

ตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน

ลักษณะภายนอกของร่างกายจะช่วยบ่งบอกภาวะกระดูกพรุนได้ โดยเฉพาะกระดูกสันหลังที่ค่อมงองุ้มลง หรือตัวเตี้ยลง หมายความว่ากระดูกสันหลังทรุดตัวลงอย่างมาก หรือมีกระดูกพรุนที่รุนแรงแล้ว ดังนั้นหลังวัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาก่อนที่จะเกิดภาวะโรคกระดูกพรุน ซึ่งการวินิจฉัยต้องอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด และการตรวจด้วยเครื่องมือต่าง ๆ  ดังนี้

  • การถ่ายภาพรังสีของกระดูก
    ในภาวะกระดูกพรุนจะเห็นเนื้อกระดูกจาง ๆ โพรงกระดูกกว้างออก และมีเส้นลายกระดูกหยาบ ๆ โดยจะเห็นขอบของกระดูกเป็นเส้นขาวชัด ในบางรายอาจเห็นกระดูกหักหรือกระดูกสันหลังทรุดตัว

  • การตรวจวัดมวลกระดูก (ความหนาแน่น)
    โดยการตรวจด้วยเครื่องมือรังสีชนิดพิเศษ เป็นวิธีการที่ไม่เจ็บปวด ใช้ตรวจกระดูกได้ทุกส่วน แต่ที่นิยมและใช้เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ ที่กระดูกสันหลังช่วงเอว และกระดูกสะโพก

รักษาโรคกระดูกพรุน

กระดูกเป็นโครงสร้างในแกนกลางร่างกาย มีการเสื่อมสลายไปตามอายุ การรักษาจึงต้องเน้นไปที่การป้องกัน ทั้งนี้ยังคงต้องเน้นให้ความสำคัญต่ออาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ต้องการการรักษาก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลร่วมกันของแพทย์หลาย ๆ สาขารวมถึงการให้ยา การผ่าตัด และการฟื้นฟู

ยารักษาโรคกระดูกพรุน

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุนมีหลายกลุ่ม ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละราย ได้แก่

  • ยาฮอร์โมนเพศหญิง
    เหมาะสำหรับผู้หญิงวัยเริ่มหมดประจำเดือน มีทั้งชนิดรับประทาน ชนิดทา หรือชนิดติดผิวหนัง โดยที่ฮอร์โมนจะช่วยในเรื่องของการลดการสลายของมวลกระดูก ลดอุบัติการณ์ของกระดูกหักได้ ทั้งนี้ยังมีข้อดี และข้อพึงระวังของการใช้ฮอร์โมนเพศหญิงอีกหลายข้อ ซึ่งจะต้องปรึกษาสูติ-นรีแพทย์ก่อนการใช้ยา
  • ยากลุ่มฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่กระดูก
    เป็นยาเม็ดรับประทาน โดยที่ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์เฉพาะที่จุดจับตัวของฮอร์โมน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการคงสภาพมวลกระดูก เช่น ที่กระดูกสันหลัง แต่ไม่มีฤทธิ์แบบฮอร์โมนต่อมมดลูกและเต้านม และยังอาจลดอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมได้ ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
  • ยาแคลซิโตนิน
    ยาในกลุ่มนี้เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์อีกชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่ฮอร์โมนเพศ มีทั้งชนิดยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อและชนิดพ่นจมูกเพื่อให้ยาดูดซึมในเยื่อบุโพรงจมูก โดยจะออกฤทธิ์ลดการเจ็บปวดได้ และเสริมมวลกระดูกโดยเฉพาะกระดูกสันหลัง และต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
  • ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต
    มียาหลายตัวในกลุ่มนี้ แต่มีการออกฤทธิ์เหมือนกันคือลดการสลายของแคลเซียมออกจากกระดูก มีทั้งชนิดฉีดเข้าหลอดเลืดดำและชนิดรับประทาน อาจจะเป็นชนิดทานทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือนก็ได้ โดยจะมีผลต่อกระดูกสะโพก และกระดูกสันหลัง ทั้งนี้มีข้อพึงระวังหลายประการในวิธีการใช้ และผลข้างเคียงจากการใช้ยา จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
  • ยาสตรอนเทียม
    ยารับประทานกลุ่มใหม่ ซึ่งจะช่วยลดการสลายของมวลกระดูก และเพิ่มมวลกระดูกได้ ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
  • ยาพาราไทรอยด์ฮอร์โมน
    ยากลุ่มใหม่ชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุกวันอย่างน้อย 6 เดือน จะกระตุ้นการสร้างมวลกระดูกได้ดี แต่มีข้อบ่งชี้ที่จำกัดและต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยแพทย์จะเป็นผู้สั่งใช้ยากับผู้ป่วยเฉพาะราย

หลักการรักษาโรคกระดูกพรุน

การใช้ยาต่าง ๆ ต้องให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งถ้าใช้ถูกต้องก็จะมีผลดีต่อการสร้างเสริมมวลกระดูก และลดอุบัติการณ์ของกระดูกหักได้ ทั้งนี้การป้องกันก่อนการเกิดโรคยังเป็นหัวใจสำคัญสำหรับโรคกระดูกพรุน