หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
หยุดฝันร้ายกับ 8 เทคนิคป้องกันผู้สูงวัยล้ม

ปัญหาที่พบบ่อยใน “ผู้สูงอายุ” ที่ได้รับอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มส่วนมาก คือ กระดูกสะโพกหักและศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน เป็นสาเหตุทำให้พิการและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงมาก ที่สำคัญหากผู้สูงอายุในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ หากหกล้มแล้วย่อมไม่ใช่คนเดียวที่เจ็บ แต่สมาชิกในบ้านทุกคนก็เจ็บด้วย

จากข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุมักมีสาเหตุจากความเสื่อมและการถดถอยของร่างกาย อีกทั้งจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นผลให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ลดลง ซึ่งมักเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 65 – 75 ปี และเนื่องจากผู้สูงอายุมักจะมีภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุน เมื่อหกล้มกระดูกจึงเกิดการแตกหรือหักได้ง่าย

  • ในแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักลื่นล้มและครึ่งหนึ่งลื่นล้มมากกว่า 1 ครั้ง
  • ร้อยละ 10 ของการลื่นล้ม ทำให้กระดูกสะโพกหัก
  • ร้อยละ 25 ของการบาดเจ็บกระดูกสะโพกเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต
  • การลื่นล้มมักเกิดขึ้นในที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในห้องน้ำและบันได
  • ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยที่กระดูกหักในครั้งแรกไม่เคยตรวจหรือรักษาโรคกระดูกพรุนเลย
  • ผู้สูงอายุที่เคยหกล้มในครั้งแรกแล้ว มีแนวโน้มที่จะหกล้มเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่า
  • มีผู้ป่วยกระดูกหักจากการลื่นล้มที่บ้านเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มีโรคประจำตัว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคหัวใจ บางรายมีไตวายเรื้อรัง ดังนั้นจึงทำให้การดูแลรักษาซับซ้อนมากขึ้น ทำให้สมาชิกในบ้านต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด และขณะอยู่ในโรงพยาบาลก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ ปอดบวม ติดเชื้อในระบบต่าง ๆ เป็นต้น

สาเหตุการลื่นล้มของผู้สูงวัย

การลื่นหกล้มเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ โดยต้องทราบสาเหตุของการลื่นล้ม เช่น

  • สาเหตุทางกาย ได้แก่ การทรงตัวไม่ดี ขาอ่อนแรง ชา อ่อนเพลีย หน้ามืด มีปัญหาด้านสายตาและการได้ยิน การรับยาที่มีผลต่อระบบการไหลเวียนโลหิต ฯลฯ
  • สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พื้นลื่น เปียก มีหยดน้ำ พื้นผิวขรุขระ มีขั้นสูงต่ำ ขอบไม่เรียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ อุปกรณ์ของใช้ไม่มั่นคงชำรุด ใช้อุปกรณ์ช่วยเดินไม่เหมาะสม สวมใส่เสื้อผ้า รองเท้าไม่พอดี ฯลฯ


ดูแลสุขภาพผู้สูงวัย

สำหรับการดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่

  • รับประทานอาหารให้เพียงพอ เน้นผักและผลไม้ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกายและต้านทานโรค
  • ไม่ควรงดอาหาร ทำให้อ่อนเพลีย มึนงง
  • เคลื่อนไหวทุกวัน เดินหรือออกกำลังกายตามวัย เช่น ไทจี๋ เพื่อรักษาความยืดหยุ่นของข้อและสมดุลของร่างกาย
  • สอบถามแพทย์หรือเภสัชทุกครั้งที่รับยาถึงผลข้างเคียงของยา ได้แก่ ยาที่ทำให้ง่วงซึม ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต และยาขับปัสสาวะ หรือมีประวัติการใช้ยาเป็นประจำตั้งแต่ 4 ชนิดขึ้นไป (ไม่รวมวิตามิน) ถ้ารับยาที่มีผลทำให้ง่วงซึม หลับ ต้องปรับเปลี่ยนการทำกิจวัตรประจำวันเพื่อลดภาวะเสี่ยงต่อการลื่นล้ม ห้ามผสมยากับแอลกอฮอล์ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เพราะเป็นสาเหตุของการลื่นล้ม
  • ไม่อายที่จะใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน ตรวจสอบอุปกรณ์ช่วยเดินให้มีความสูงเหมาะสมและมั่นคง

8 เทคนิคป้องกันผู้สูงวัยล้ม

เทคนิคกันล้มที่ลูกหลานควรใส่ใจ คือ “บ้าน” สถานที่คิดว่าปลอดภัยที่สุด แต่สำหรับ “ผู้สูงวัย” บ้านอาจเป็นอันตรายหรือร้ายกว่าที่คิด หากไม่เตรียมพร้อมป้องกันให้ดีอาจทำให้ลื่นหกล้มบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต จนอาจกลายเป็นฝันร้ายของคนในบ้าน เพราะฉะนั้นเทคนิคกันล้ม 8 ข้อง่าย ๆ ที่ควรรู้และนำไปใช้ ได้แก่

1. เพิ่มแรงเสียดทานให้พื้น

คือติดแผ่นกันลื่น ใช้วัสดุไม้สังเคราะห์ หรือถ้าเป็นกระเบื้องในห้องน้ำควรใช้กระเบื้องแผ่นเล็ก มีผิวด้านหรือผิวสัมผัสเป็นลวดลาย

2. ทางลาดต้องมี

เพื่อผ่อนแรงผู้ป่วยพักฟื้นที่ใช้วีลแชร์ ควรทำทางลาดไว้ตามทางลงบันใดต่าง ๆ ให้มีความชันไม่เกิน 5 องศา กว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ทางลาดยาวไม่เกิน 6 เมตร

3. ขนาดเตียงที่เหมาะสม

เลือกเตียงให้มีทางยาวไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร สูงประมาณ 40 เซนติเมตร (สำหรับการใช้รถเข็น) หรือสูงจากพื้นถึงข้อพับเข่า โดยให้รอบเตียง3 ด้านมีพื้นที่ว่างอย่างน้อยด้านละ 90 เซนติเมตร

4. ประตูดีต้องเปิดง่าย

เปลี่ยนจากลูกบิดแบบหมุนมาเป็นคันโยกเพื่อทุ่นแรง ประตูต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร หรือมีความกว้างมากกว่าความกว้างของวีลแชร์ หรือจะเปลี่ยนเป็นประตูบานเลื่อนแบบไม่มีธรณีประตูก็ได้เช่นกัน

5. ราวจับกระชับทุกก้าว

ติดตั้งราวจับลักษณะสั้น – ยาว หรือตัวแอล – ตัววี ที่เหมาะกับการใช้งานไว้ตามจุดต่าง ๆ เช่น บันได ห้องน้ำ ผนังทางเดิน เป็นต้น โดยติดตั้งไว้สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 – 100 เซนติเมตร

6. แสงไฟส่องสว่าง

เลือกใช้แสงแบบ Day Light สวิตช์ไฟควรมีขนาด 5 – 7.5 เซนติเมตร ให้อยู่ในระยะเอื้อมถึงสะดวก สูงจากพื้นอย่างน้อย 45 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 90 เซนติเมตร

7. ฟังก์ชันเพื่อผู้สูงวัย

ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในบ้านควรจะมีฟังก์ชันที่เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งาน เช่น ราวแขวนผ้าที่ปรับระดับสูงต่ำได้ ไม่ต้องเอื้อม เป็นต้น

8. ตัวช่วยยามฉุกเฉิน

ติดตั้งอุปกรณ์เสริม เช่น สวิตซ์ดึงเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในห้องน้ำหรือที่หัวเตียง เป็นต้น