หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ปวดหลังเรื้อรัง อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

โรค Office Syndrome เป็นปัญหาสุขภาพที่มักพบบ่อยในคนวัยทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่ต้องนั่งอยู่กับที่และจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรค Office Syndrome ได้มากกว่ากลุ่มอื่น ส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกิดจากการอักเสบและเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการปวดคอ ปวดตามตัว รวมถึงการปวดหลังเรื้อรังตามมา


ต้นเหตุ Office Syndrome

การปวดหลังเรื้อรังถือเป็นลักษณะอาการสำคัญอย่างหนึ่งของโรค Office Syndrome ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทำงานออฟฟิศในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหาร พนักงานปฏิบัติการ รวมถึงงานในสายการผลิต ซึ่งเกิดจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ

  1. คุณภาพของกล้ามเนื้อที่แย่ลงจากการขาดความเอาใส่ใจในการออกกำลังกาย
  2. อิริยาบถในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งนาน นั่งหลังค่อม นั่งยกไหล่ หรือแม้แต่การปรับตำแหน่งจอคอมพิวเตอร์สูงหรือต่ำจนเกินไป ส่งผลให้ต้องก้มหรือเงยจนก่อให้เกิดอาการปวดคอและปวดหลังเรื้อรัง
แต่ก็นับว่าโชคดีที่อาการปวดตามส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณหลังที่เกิดจากโรค Office Syndrome ส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้วมักจะไม่รุนแรง สามารถทุเลาได้เอง หากได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอหรือได้รับการรักษาในเบื้องต้น อย่างเช่น การประคบเย็น ประคบร้อน หรือการรับประทานยา เป็นต้น

ป้องกัน Office Syndrome

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 30 นาที ทุก ๆ 4 – 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • คนทำงานออฟฟิศที่ต้องนั่งนาน ๆ ควรพักและเปลี่ยนอิริยาบถในทุก ๆ 1 – 2 ชั่วโมงเพื่อให้กล้ามเนื้อที่ทำงานหนักและล้าได้ผ่อนคลาย ด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น บิดขี้เกียจ หรือที่เรียกว่า การ Streching คือการเหยียดกล้ามเนื้อให้ตึงและทิ้งไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและลดอาการเกร็งตัว ตลอดจนอาการปวดกล้ามเนื้อได้มาก

Office Syndrome หรือโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง

มีโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังบางโรคที่มีรูปแบบอาการคล้ายคลึงและแฝงตัวมาในลักษณะของโรค Office Syndrome แต่มีความรุนแรงและเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางกระดูกสันหลังที่ร้ายแรง เช่น กระดูกสันหลังตีบแคบไปเบียดเส้นประสาทหรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

วิธีสังเกตอาการของโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ส่วนใหญ่เมื่อมีอาการปวดร่วมกับการชา ปวดร้าวไปยังบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย การควบคุมการทำงานของอวัยวะผิดเพี้ยน เช่น ลายมือเปลี่ยน หรือมีอาการ Night Pain คือ การปวดอย่างรุนแรงในตอนกลางคืน นอกจากนี้เมื่อได้พักผ่อนและรับการรักษาในเบื้องต้นแล้วอาการดังกล่าวยังคงไม่ดีขึ้น ให้สงสัยว่าเป็นอาการปวดหลังที่ไม่ปกติจึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

แพทย์ที่มีความชำนาญจะมีขั้นตอนในการพิจารณาอาการอย่างละเอียดก่อนให้การรักษา โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญ 4 ประการ คือ

  1. ความรุนแรงของอาการปวด ดูว่าคนไข้มีอาการปวดที่ไปรบกวนการทำกิจวัตรประจำวันมากน้อยเพียงใด
  2. ความต้องการยาเพื่อควบคุมอาการปวดนั้น
  3. การตรวจร่างกายและพบว่ามีอาการรบกวนเส้นประสาท เช่น ผู้ป่วยรู้สึกชาหรืออ่อนแรงมากขึ้น รวมถึงการคดของกระดูกสันหลัง
  4. ข้อมูลจากการตรวจพิเศษ เช่น เอกซเรย์ MRI ในกรณีที่จำเป็น

หลังจากประเมินอาการตามหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ประการที่กล่าวมาแล้ว แพทย์จะแนะนำวิธีการรักษาซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่การรักษาเบื้องต้นโดยการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ควบคุมน้ำหนักตัว การรับประทานยา รวมไปถึงการทำกายภาพบำบัด แต่หากอาการไม่ดีขึ้นการรักษาเฉพาะทางด้วยวิธีการผ่าตัดจะเข้ามาเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคทางกระดูกสันหลังที่มีประสิทธิภาพ

โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำที่มุ่งมั่นให้การรักษาผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล พร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยโรคทางกระดูกสันหลังอย่างเต็มรูปแบบผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างศัลยแพทย์กระดูกสันหลังและศัลยแพทย์ระบบประสาท พร้อมด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีในการรักษาที่ทันสมัย ช่วยให้การผ่าตัดสามารถทำได้เร็วขึ้น แผลผ่าตัดเล็ก เจ็บน้อย ช่วยลดอัตราเสี่ยง และใช้เวลาในการพักฟื้นไม่นาน ประกอบด้วย

  1. กล้องผ่าตัดทางจุลศัลยกรรม (Microscope) เป็นกล้องขยายกำลังสูงที่ช่วยให้แพทย์มองเห็นเส้นประสาทและหมอนรองกระดูกสันหลังที่ต้องการแก้ไขได้ชัดเจน ทั้งยังมีแสงไฟจากตัวกล้องส่องตรงไปยังบริเวณจุดที่เป็นปัญหา ทำให้สามารถมองเห็นได้ทุกซอกทุกมุม ป้องกันโอกาสที่เส้นประสาทจะได้รับความบอบช้ำอันเป็นสาเหตุให้เกิดอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ทั้งยังช่วยลดความจำเป็นในการเปิดแผลขนาดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บน้อยลงและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  2. เครื่องช่วยผ่าตัดด้วยระบบคอมพิวเตอร์สร้างภาพแบบสามมิติ ประกอบด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์โออาร์ม (O – Arm) ที่ทำงานร่วมกับเครื่องมือผ่าตัดนำวิถี (Navigation System) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด โดยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะบันทึกภาพกระดูกสันหลังขณะผ่าตัด แสดงผลในรูปแบบแอนิเมชัน 3 มิติ เมื่อทำงานร่วมกับเครื่องนำวิถี (Stealth) จะช่วยให้การประเมินระยะและการกำหนดตำแหน่งผ่าตัดทำได้ละเอียดถึงระดับมิลลิเมตร
  3. เครื่องมือติดตามการทำงานของระบบประสาทขณะผ่าตัด (Intraoperative Monitoring : IOM) ช่วยติดตามการทำงานของระบบประสาทในรูปคลื่นไฟฟ้าและส่งสัญญาณเตือนให้แพทย์รับทราบถึงโอกาสเสี่ยงในการสร้างความบอบช้ำหรือความเสียหายต่อเส้นประสาท เหมาะสำหรับการผ่าตัดซ้ำหรือการผ่าตัดในกรณียาก ๆ เช่น ภาวะกระดูกสันหลังผิดรูป กระดูกสันหลังเคลื่อนอย่างรุนแรง เป็นต้น

โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลมีความพร้อมทั้งบุคลากรที่มีคุณภาพและเทคโนโลยีทันสมัยในการดูแลรักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ตามการเอาใจใส่ดูแลร่างกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรค ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การรักษาสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์และก่อให้เกิดผลสำเร็จในการรักษา