หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ทำไมผู้สูงอายุถึงเปลี่ยนเวลานอน

หลาย ๆ ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน  อาจจะเคยสงสัยว่า ทำไมเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้สูงอายุถึงเปลี่ยนเวลานอน บางคนนอนกลางวันแล้วไปตื่นช่วงกลางคืน  บางคนนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ แทบทุกชั่วโมง บางคนไม่นอนติดต่อกันมากกว่า 24 ชั่วโมง แต่พอจะนอนก็นอนยาวข้ามวันข้ามคืนไม่ตื่นมารับประทานอาหารหรือทำกิจวัตรประจำวัน  ทำให้ลูกหลานหรือคนดูแลมีความยากลำบากในการดูแลและเกิดความเหนื่อยล้าเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ จนอาจจะพาลหงุดหงิดและอารมณ์เสียใส่ผู้สูงอายุได้

การมีคนหลายช่วงวัยรวมกันอยู่ในครอบครัวนับเป็นเรื่องท้าทาย เพราะต้องทำความเข้าใจข้อจำกัดและเข้าใจธรรมชาติของทุกช่วงวัย  ผู้สูงอายุก็เช่นกัน  แม้คนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นวัยที่ต้องพึ่งพาเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง จึงมักจะให้การดูแลแบบเดียวกัน ซึ่งไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด เพราะการที่จะดูแลผู้สูงอายุได้ดีควรต้องทำความเข้าใจสาเหตุ  ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการนอนของผู้สูงอายุ  เพื่อจะได้วางแผนการดูแลที่เหมาะสม โดยที่เราไม่เหน็ดเหนื่อยมากเกินไปและมีทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุในบ้าน

การเปลี่ยนแปลงร่างกายในผู้สูงอายุ

เมื่อย่างเข้าวัยสูงอายุร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง การรับรสที่เปลี่ยนไปทำให้รับประทานอาหารไม่อร่อย สายตามัวลง เป็นต้อกระจก หูได้ยินไม่ชัด เนื่องจากความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ทำให้ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวลดลง แต่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามอายุคือ ระยะเวลาที่ต้องการนอน คือยังคงเท่าเดิมประมาณวันละ 8 ชั่วโมง แต่คุณภาพในการนอนของผู้อายุลดลงจึงทำให้นอนไม่ค่อยพอ

มีหลายปัจจัยที่ทำให้การนอนของผู้สูงอายุไม่มีคุณภาพ เช่น การงีบหลับในเวลากลางวัน การนอนไม่เป็นเวลา การเข้านอนก่อนที่จะง่วง (advanced sleep phase syndrome) หรือเข้านอนเมื่อผ่านเวลานอนไปแล้ว (delayed sleep phase syndrome) หรือใช้เตียงเพื่อจุดประสงค์อื่น เช่น การดูทีวี การอ่านหนังสือ การรับประทานอาหาร อาจจะเนื่องมาจากข้อจำกัดของการเคลื่อนไหว หรือมีสิ่งรบกวนในห้องนอน เช่น เสียงดัง มีแสง ห้องร้อน นอกจากปัจจัยภายนอกแล้วปัจจัยภายในของผู้ป่วยโรคต่าง ๆ เช่น อาการปวดด้วยสาเหตุต่าง ๆ ความไม่สุขสบายตัวจากโรคประจำตัว ปัญหาทางด้านจิตใจ สาเหตุทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การนอนหลับในผู้สูงอายุมีคุณภาพลดลง

การเปลี่ยนแปลงการนอนในผู้สูงอายุ

โดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจะมีนาฬิกาชีวภาพ ( Biological Clock ) อยู่ภายในเพื่อคอยบอกเวลาหลับตื่นของร่างกาย  หลังจากนั้นวงจรการนอนจะเริ่มขึ้น  โดยวงจรการนอนจะแบ่งเป็น 2 ส่วนทำงานสลับกันไปเรื่อย ๆ ได้แก่

  1.  Non Rapid Movement ( NON – REM ) เป็นส่วนของการนอนที่นำไปสู่การหลับลึก  ซึ่งพบว่าการหลับลึกมีความสัมพันธ์กับความรู้สึกสดชื่นในตอนกลางวัน
  2. Rapid  Eye Movement (REM ) เป็นช่วงที่มีการทำงานของกล้ามเนื้อตากลอกไปมา การนอนหลับในส่วนนี้ทำให้เกิดการฝันด้วย  โดยปกติวงจรการนอนหลับจะเป็นแบบ NON – REM, REM สลับกันไป 5 – 6 ครั้งในแต่ละวัน

แต่ในผู้สูงอายุจะนอนยากขึ้น มีรายงานว่าร้อยละ 24 ของผู้ป่วยสูงอายุใช้เวลามากกว่า 30 นาทีในการนอนให้หลับ สาเหตุเนื่องจากการที่ร่างกายสร้าง melatonin และ growth hormone ลดลง โดยมักจะสร้างลดลงในช่วงอายุหลัง 60 ปี การเจอแสงแดดลดลงและการที่ผู้ป่วยตื่นบ่อยเนื่องมาจากปัจจัยภายในร่างกายเหล่านี้เป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุหลับยากขึ้น

โรคที่มีผลต่อการนอนของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมักจะมีโรคประจำตัว โรคประจำตัวหลายโรคก็มีผลต่อการนอนของผู้สูงอายุ เช่น

  • โรคปวดข้อปวดหลังมักจะปวดตอนกลางคืนทำให้ต้องตื่นบ่อย
  • โรคหัวใจวายที่ยังคุมไม่ดี เมื่อนอนราบจะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ต้องตื่นลุกขึ้นนั่ง เมื่อหายแน่นจึงนอนต่อ
  • การกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้
  • อาการหอบเหนื่อยจากภาวะถุงลมโป่งพอง
  • ภาวะสมองเสื่อมที่ทำให้การรับรู้เปลี่ยนแปลง
  • ฯลฯ

การดูแลเรื่องการนอนหลับให้ดีจึงต้องรักษาปัจจัยเหล่านี้ด้วย แต่ทั้งนี้ผู้สูงอายุบางรายอาจจะมีปัจจัยด้านจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้รบกวนการนอนได้เช่นกัน  บ่อยครั้งที่พบว่าการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก  เช่น  คู่ชีวิต  เพื่อน คนใกล้ชิด หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่อยู่ด้วยกันมานานก็มักจะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า การสูญเสียบทบาทหน้าที่ในสังคม  การสูญเสียภาพลักษณ์ การสูญเสียความเคารพนับถือจากบุคคลรอบข้าง สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อจิตใจ ซึ่งทำให้กระทบต่อการนอนได้เช่นกัน

การรักษาภาวะนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ

การรักษาภาวะนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ แบ่งได้ 2 แบบ ดังนี้

1) การรักษาโดยไม่ใช้ยา 

  • ฝึกเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา
  • รับประทานอาหารให้พอดี
  • ถ้าหิวหรืออิ่มเกินไป ทำให้นอนไม่สบาย
  • ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ช่วงเช้าและช่วงเวลาบ่าย แต่ไม่ควรเป็นช่วงก่อนนอน
  • หยุดสูบบุหรี่
  • ลดแอลกอฮอล์
  • ไม่อ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์บนเตียง ใช้เตียงสำหรับการนอนเท่านั้น
  • ให้ร่างกายถูกแสงแดดบ้าง ออกกำลังกลางแจ้ง เพื่อกระตุ้นการรับรู้ว่าตอนนี้มีดวงอาทิตย์ มีแสงสว่างเป็นตอนกลางวัน เป็นช่วงเวลาที่ไม่ใช่เวลานอน หากผู้สูงอายุไม่สามารถออกไปข้างนอกได้เองหรือต้องนอนบนเตียงเป็นส่วนใหญ่ คนดูแลจะต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้ ตอนกลางวันให้เปิดม่าน ให้มีแสงสว่าง คอยบอกว่าตอนนี้เป็นเวลากลางวัน กลางคืนก็ต้องลดแสงสว่างลง จัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหับการนอน ลดการทำกิจกรรมที่ส่งเสียงดังรบกวนการนอน
  • ฯลฯ

2) การรักษาโดยใช้ยา มักเป็นทางเลือกสุดท้ายที่แพทย์แนะนำ เนื่องจากระบบการเผาผลาญและการทำลายยาในผู้สูงอายุจะทำงานลดลงเช่นกัน ทำให้ฤทธิ์ของยาตกค้างอยู่ในร่างกายนานกว่าปกติ  หรือทำให้ร่างกายเกิดความเคยชินต้องใช้ยาที่มีขนาดสูงขึ้นเรื่อย ๆ บางรายการให้ยานอนหลับจะทำให้คนดูแลประเมินความผิดปกติจากความเจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวของผู้สูงอายุได้ยาก ดังนั้นการรักษาโดยการใช้ยาจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ผู้ดูแลควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้สูงอายุได้

หากผู้ดูแลมีความเข้าใจในข้อจำกัดและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุแล้ว  การดูแลอย่างเข้าใจก็เป็นเรื่องไม่ยาก ทั้งนี้ต้องระลึกเสมอว่าผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่ผ่านประสบการณ์ในการใช้ชีวิตผ่านช่วงวัยต่าง ๆ มา การเคารพนับถือและให้เกียรติในทุกการกระทำจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะในอนาคตตัวเราเองก็จะต้องก้าวเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุเช่นเดียวกัน