หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
กระดูกพรุน รู้ให้ไวป้องกันกระดูกหัก

รู้จักโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ โรคที่ความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดน้อยลงจนทำให้กระดูกเสื่อม เปราะบาง ผิดรูป และมีโอกาสแตกหักได้ง่าย ในผู้ป่วยบางรายกระดูกพรุนมีผลให้ส่วนสูงลดลง เนื่องจากมวลกระดูกผุกร่อน ผลจากโรคกระดูกพรุนคือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก เนื่องจากกระดูกสามารถรับน้ำหนัก แรงกระแทก หรือแรงกดได้ลดลง


จุดเสี่ยงกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน

บริเวณที่มักเกิดกระดูกหักจากกระดูกพรุน ได้แก่

  • กระดูกสันหลัง
  • สะโพก
  • ข้อมือ
  • ต้นแขนบริเวณไหล่


อาการโรคกระดูกพรุน

เนื่องจากโรคกระดูกพรุนมักไม่มีอาการเตือนใด ๆ ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคกระดูกพรุนจนเกิดอุบัติเหตุและนำไปสู่ภาวะกระดูกหัก อาการบ่งชี้อื่น ๆ ที่ควรใส่ใจและหมั่นสังเกต เพื่อให้สามารถรักษาและป้องกันโรคกระดูกพรุน ได้แก่

  • ปวดหลังเรื้อรัง
  • หลังค่อมหรือกระดูกสันหลังส่วนบนโค้งลง
  • ความสูงลดลง
  • กระดูกหักง่ายจากภยันตรายที่ไม่รุนแรง


สาเหตุโรคกระดูกพรุน

กระดูกประกอบด้วยเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) ทำหน้าที่สร้างกระดูกขึ้นมาใหม่จากแคลเซียมและโปรตีนตามกระบวนการการเจริญเติบโตของร่างกายและช่วยทดแทนกระดูกส่วนที่สึกหรอ และภายในกระดูกยังมีเซลล์สลายกระดูก (Osteoclast) ทำหน้าที่สลายเนื้อกระดูกเก่า

โรคกระดูกพรุนเกิดจากการทำงานที่ไม่สมดุลกันของเซลล์กระดูกทั้ง 2 ชนิดจึงทำให้มีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูกเกิดขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากการที่ปริมาณแคลเซียมในร่างกายไม่เพียงพอต่อกระบวนการสร้างกระดูก หรืออาจมีความผิดปกติของเซลล์กระดูก


ปัจจัยเสี่ยงโรคกระดูกพรุน

ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคกระดูกพรุน ได้แก่

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้น มวลกระดูกจะต้องลดลง เป็นผลให้เปราะบางและแตกหักง่ายหากถูกกระทบกระเทือนแม้ไม่รุนแรงก็ตาม
  • การลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ส่วนในเพศชายจะมีความเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อมีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) น้อยลง
  • กรรมพันธุ์ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
  • ความผิดปกติในการทำงานของต่อมและอวัยวะต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ไตและตับ
  • โรคและการเจ็บป่วย เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็งกระดูก 
  • การบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในการสร้างกระดูก หรือกินอาหารที่ทำให้แคลเซียมเสียสมดุล
  • การใช้ยาบางชนิดที่ออกฤทธิ์เร่งการสลาย หรือรบกวนการสร้างกระดูก เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์


ภาวะแทรกซ้อนจากโรคกระดูกพรุน

เมื่อเกิดโรคกระดูกพรุน ปัญหาหลักที่มักตามมา คือ ความเจ็บปวดจากภาวะกระดูกทรุดตัวและอาการปวดหลัง ทำให้เคลื่อนไหวได้จำกัดและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันลดลง อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้หากเกิดการกระแทก มีโอกาสกระดูกหักสูง โดยเฉพาะการแตกหักบริเวณกระดูกสะโพกจะทำให้ผู้ป่วยเดินไม่ได้ ขยับตัวลำบาก เพราะความเจ็บปวด ต้องนั่งหรือนอนอยู่กับที่ตลอดเวลา ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคและอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิต เช่น เกิดแผลกดทับหรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินปัสสาวะ

กระดูกพรุน รู้ให้ไวป้องกันกระดูกหัก

วินิจฉัยโรคกระดูกพรุน

การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนทำได้โดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย ที่สำคัญคือการตรวจทางรังสี เพื่อตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก ใช้เวลาไม่นาน ปริมาณรังสีที่เข้าสู่ร่างกายในขณะสแกนต่ำ ไม่ทำให้เจ็บหรือปวด เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากในการประเมินความหนาแน่นของมวลกระดูก ทำให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มของโรค ทั้งนี้ค่าความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density หรือ BMD) ของคนปกติจะอยู่ที่มากกว่า -1.0 ส่วนคนที่มีภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) จะมีค่า BMD อยู่ระหว่าง -1.0 ถึง -2.5 และผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจะมีค่า BMD น้อยกว่า -2.5


รักษาโรคกระดูกพรุน

เนื่องจากโรคกระดูกพรุนเกิดจากภาวะกระดูกเสื่อมที่มาจากหลายสาเหตุ หลักการรักษาจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกและลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูก มีทั้งการรับประทานยา การฉีดยา และการเพิ่มฮอร์โมน ได้แก่

การรักษาด้วยยา มีทั้งการรับประทานยาและการฉีดยา โดยแบ่งยาเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ยากลุ่มยับยั้งการสลายกระดูก และยากลุ่มกระตุ้นการสร้างกระดูกใหม่

ป้องกันโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนสามารถลดความเสี่ยงได้โดยการดูแลสุขภาพและบำรุงกระดูก ได้แก่

  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน และมีค่าความเป็นกรดสูง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • ระมัดระวังการใช้ยา โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์ที่ต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน