หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ส่อง 10 โรคที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวระยะยาว

เพราะร่างกายคนเราต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน โดยปกติการเคลื่อนไหวของร่างกายมีอยู่ 3 ส่วนหลัก คือ สมองและประสาท กระดูกและข้อ และกระดูกสันหลัง ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้จะทำงานประสานกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ แต่ถ้าเกิดโรคหรือได้รับอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุก็อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามต้องการ นั่นคือสัญญาณฉุกเฉินของร่างกาย ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีอาจส่งผลเสียต่อชีวิตในระยะยาว อีกทั้งความเสื่อมของร่างกายที่เกิดขึ้นได้ก่อนกำหนด

10 อันดับโรคดังต่อไปนี้ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวได้ในระยะยาว ลองสังเกตด้วยตัวคุณเอง

1) โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน

โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือ Stroke ปัจจุบันพบเร็วขึ้นในกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป มักพบในผู้ป่วยเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่จัด หรือมีคนในครอบครัวเคยเป็น Stroke มาก่อน อาการเริ่มต้นคือ หน้าหรือปากเบี้ยว มุมปากตก ชาครึ่งซีก แขนขาไม่มีแรง พูดไม่ชัด หรือพูดไม่ออก ปวดศีรษะเฉียบพลัน เวียนศีรษะ เดินเซ ตาพร่า เมื่อเกิดอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต้องรีบพบแพทย์ภายใน 3 ชั่วโมงเพื่อรับการรักษาทันที สำหรับการป้องกันก่อนเกิด Stroke นั้น ควรรับการตรวจอัลตราซาวนด์หลอดเลือดคอ (Carotid Duplex) เพื่อตรวจหาภาวะการตีบตันของหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมองเป็นประจำทุกปี ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัมพฤกษ์อัมพาต

2) โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันเป็นโรคความเสื่อมของสมองที่เกิดจากการขาดสารโดพามีน พบมากในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป และอาจพบในวัยกลางคนที่มีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน มักเริ่มด้วยอาการสั่นที่แขนขา กราม หรือใบหน้า กล้ามเนื้อเกร็ง เคลื่อนไหวช้า พูดหรือกลืนลำบาก ซึมเศร้าหดหู่ หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นอาการปกติของผู้สูงอายุ แต่หากปล่อยไว้จนเกิดความรุนแรงมากขึ้นจะทำให้ร่างกายฟื้นตัวยาก โรคนี้สามารถควบคุมอาการได้ โดยการตรวจ PET Brain F-DOPA หาความผิดปกติของสมองส่วนที่สร้างสารโดพามีน เพื่อวินิจฉัยระยะความรุนแรงของโรค หรือการผ่าตัดฝังไมโครชิปกระตุ้นสมองส่วนลึก DBS Therapy เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว ลดการใช้ยา ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

3) โรคกระดูกต้นคอเสื่อม (Text Neck)

โรคกระดูกต้นคอเสื่อม เกิดจากการ ก้มหน้า” (จนหูต่ำลงมาเกือบแนวเดียวกับไหล่) บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ นาน ๆ จนทำให้กล้ามเนื้อ เส้นประสาท และเส้นเอ็นตึง เกร็ง เครียด อาการที่พบบ่อยอาจเป็นเพียงแค่อาการปวดต้นคอนำมาก่อน ลักษณะคล้ายกับการนอนตกหมอน หรือหากมีการกดทับรากประสาทอาจมีอาการปวดชาหรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนร่วมด้วยจนต้องมาพบแพทย์ ต่างกับการกดทับที่เกิดขึ้นกับไขสันหลังผู้ป่วย มักจะไม่มีอาการปวดร่วมด้วย แต่จะพบว่ามีการเคลื่อนไหวผิดปกติ เช่น เดินลำบาก ทรงตัวไม่มั่นคง ล้มบ่อย เดินช้าลง แขนขาสั่นกระตุก ซึ่งหากปล่อยให้โรคดำเนินไปมากแล้วไม่มาพบแพทย์ อาจทำให้การเคลื่อนไหวผิดปกติจนอาจเดินไม่ได้ในที่สุด

4) กระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน

กระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนสามารถเกิดได้ทุกช่วงวัย เด็กมักกระดูกหักจากการเล่นซน ผู้ใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุ ผู้สูงวัยมักเกิดกระดูกหักจากกระดูกพรุน เพราะมวลกระดูกที่เปราะบาง เพียงลื่นหกล้มก็หักได้ง่าย อาการกระดูกหักมักเห็นชัดเจน บวม ปวด ไม่สามารถลงน้ำหนักหรือเคลื่อนไหวได้บริเวณที่หัก โดยเฉพาะกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุมีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน ดังนั้นจึงควรตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกทุกปีเพื่อป้องกันกระดูกทรุดตัว ควรเสริมความแข็งแรงของกระดูกด้วยการออกกำลังกาย ทานอาหารแคลเซียมสูงตั้งแต่อายุยังน้อย การรักษาในปัจจุบันใช้เทคนิคผ่าตัดเชื่อมกระดูกหักแบบแผลเล็ก เปิดแผลเล็กหัวท้ายของตำแหน่งกระดูกที่หักแล้วสอดเหล็กดามใต้กล้ามเนื้อคล้ายขบวนรถไฟใต้ดิน แล้วยึดกระดูกด้วยสกรูว์ วิธีนี้เนื้อเยื่อจะได้รับบาดเจ็บน้อยกว่าผ่าเปิดแผลยาว ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ กระดูกติดดี ฟื้นตัวเร็วขึ้น หากมีกระดูกพรุนหักยุบและปวดหลังมากอาจรักษาด้วยการฉีดซีเมนต์เสริมกระดูกสันหลัง

5) ข้อไหล่ติด

ข้อไหล่ติดพบมากในชายและหญิงวัยสูงอายุที่มีความเสื่อมของเอ็นรอบข้อและปลายกระดูกไหปลาร้าที่อยู่ติดกับข้อ มีหินปูนเกาะไปขูดเอ็นรอบข้อจนอักเสบ หรือจากกระดูกงอกบริเวณกระดูกสะบักด้านหน้า หรือเคยได้รับอุบัติเหตุข้อไหล่เคลื่อน มักมีอาการปวดหัวไหล่ ปวดร้าวลงมาบริเวณต้นแขน ปวดเวลาใส่เสื้อ ถอดเสื้อ เวลายกแขนขึ้นสูง จะยิ่งปวดมากขึ้นเวลานอน ทำให้นอนตะแคงทับหัวไหล่ข้างที่ปวดไม่ได้ พลิกตัวไม่ได้ ข้อไหล่ติดหรือเคลื่อนไหวไม่สุด หากเป็นมากอาจไม่สามารถยกแขนเพื่อหวีผมได้ สามารถรักษาเบื้องต้นโดยการใช้ยาและบริหารข้อไหล่ กายภาพบำบัด ถ้าไม่ทุเลาและตรวจพบว่ามีกระดูกงอกไปที่ไหปลาร้า แนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อกรอกระดูกที่งอกบริเวณไหล่และเย็บซ่อมเอ็นหุ้มข้อไหล่ วิธีนี้แผลเล็ก พักฟื้นสั้น ช่วยรักษาอาการปวดและข้อไหล่ติดให้หายได้ในเวลาที่รวดเร็ว

6) ข้อเข่าคลอนแคลน

ข้อเข่าคลอนแคลน หรือโรคข้อเข่าเสื่อมตามวัย มักพบในหญิงอายุ 60 ปีขึ้นไป และพบเข่าเสื่อมก่อนวัยเพิ่มขึ้นในหนุ่มสาววัยทำงาน นักวิ่ง นักฟุตบอลที่ใช้เข่าเยอะ หรือบาดเจ็บหัวเข่าบ่อย อ้วน กระดูกอ่อนผิวข้ออักเสบจากการสวมรองเท้าส้นสูงนาน ๆ โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ นั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ คุกเข่า หรือนั่งยอง ๆ นาน ๆ เข่าเสื่อมจากอุบัติเหตุ ทำให้เข่าหลวม รวมถึงการดื่มสุรา สูบบุหรี่จัด ทานยาสเตียรอยด์ มักมีอาการปวด อักเสบบวมแดง ร้อนที่ข้อ ข้อฝืดตอนเช้าขณะลุกขึ้นยืนจะมีเสียงในข้อขณะเคลื่อนไหว เมื่อยตึงที่น่องและข้อพับเข่า ข้อเข่าขัดเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ เจ็บเมื่อลงน้ำหนัก เข่าโก่ง หากทานยาแก้ปวดหรือกายภาพแล้วไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะด้านข้อเข่าเพื่อดูว่าเข่าสึกมากน้อยแค่ไหน หากกระดูกอ่อนผิวข้อสึกทั่วข้อเข่า แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยคอมพิวเตอร์นำวิถีแบบไม่เจาะกระดูก Pinless Navigating TKR ช่วยให้วางตำแหน่งข้อเทียมถูกต้อง ลดการติดเชื้อหรือกระดูกหักในผู้สูงวัย และผ่าตัดแล้วหัดเดินในสภาวะไร้น้ำหนักด้วยเครื่อง Alter – G

7) ข้อสะโพกโยกเยก

สำหรับใครที่มีอาการปวดง่ามขาด้านหน้าข้างใดข้างหนึ่ง เจ็บแปล๊บที่ข้อสะโพกขณะเดินหรือวิ่ง ปวดสะโพกและปวดเข่า (บางคนปวดเข่าก่อนปวดสะโพกคล้ายโรคปวดหลัง) ปวดในเข่าด้านใน เจ็บเวลาเดิน พึงระวังเพราะนั่นคือสัญญาณเตือนของอาการข้อสะโพกเสื่อม ส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงวัยจากการสึกหรอของผิวข้อต่อ การทรุดตัวของหัวกระดูกต้นขา กระดูกสะโพกหัก ส่วนวัยกลางคน 80% มีปัญหาข้อสะโพกเสื่อม เพราะขาดเลือดเลี้ยงส่วนหัวของกระดูกต้นขา ดื่มสุรา สูบบุหรี่จัด ทานยาสเตียรอยด์ เกิดอุบัติเหตุข้อหลุด โรครูมาตอยด์ โรคข้อยึดติดแข็ง โรคติดเชื้อในเด็กเกิดจากสะโพกหลวมตั้งแต่กำเนิด หรือเบ้าสะโพกตื้นทำให้ข้อหลวมหลุด ส่งผลให้หลังคด ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน เดินโยกเยกได้ ปัจจุบันการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมใช้เทคนิคแผลเล็กเพื่อยืดอายุการใช้งานของข้อสะโพกเทียมรุ่นใหม่ให้ยาวนานขึ้น และฟื้นตัวเร็วด้วยโปรแกรมลดปวด

8) หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

หลายคนคงเคยทรมานกับอาการปวดหลังร้าวลงขาไปถึงน่องหรือหลังเท้าข้างใดข้างหนึ่ง บางคนเจ็บข้อพับเข่าด้านหลัง ปวดน่อง นิ้วเท้าชาหลังเล่นกีฬาแล้วเข้าใจผิดคิดว่ากล้ามเนื้ออักเสบ แต่เมื่อตรวจอย่างละเอียดด้วย MRI แล้วพบว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท แพทย์จะแนะนำให้ทานยา ทำกายภาพ หรือลดอาการปวดโดยไม่ผ่าตัด “อินเตอร์เวนชั่น” วิธีนี้ลดการทานยาแก้ปวด โดยฉีดยาลดการอักเสบเข้าช่องเส้นประสาทเฉพาะจุด ลดอาการปวดร้าวตามเส้นประสาท ใช้รักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังทับเส้นประสาทจากความเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทที่คอหรือเอวได้ ทำให้ลดโอกาสการถูกผ่าตัดลงได้ นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดที่พัฒนา “กระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก บาดเจ็บน้อย (MIS)” ยังช่วยทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ ลดความเสี่ยงของการผ่าตัดบางประการลงได้ เช่น อัตราการติดเชื้อหลังผ่าตัดต่ำ เสียเลือดจากการผ่าตัดน้อยลง

9) โรคปวดศีรษะไมเกรน

พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการปวดตุ๊บ ๆ เป็น ๆ หาย ๆ ปวดข้างเดียวที่หน้าผาก ขมับท้ายทอย คลื่นไส้อาเจียน ไวต่อเสียงและแสง คือ อาการนำของปวดศีรษะไมเกรน ต่างจากปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัวที่จะปวดทั้งสองข้างเหมือนถูกรัดบีบหัว หลายคนมักคิดว่าทานยาแก้ปวดเดี๋ยวก็หาย จึงรักษาไม่ถูกชนิดของโรค หากปวดมาก เรามีตัวช่วยด้วยการรักษาอาการปวดศีรษะแบบเชิงป้องกัน ฝึกผ่อนคลายลดเครียดกับ Biofeedback กายภาพบำบัดลดปวดด้วย Laser Therapy Posture Analysis ปรับสมดุลกล้ามเนื้อคอบ่าหลังให้ถูกวิธี เครื่อง TMS กระตุ้นกระแสไฟฟ้าลดปวด ฉีดยาระงับปวดที่เส้นประสาทหลังศีรษะ ลดการกลับมาปวดซ้ำใน 24 ชั่วโมง หรือฝังเข็มแพทย์แผนจีนกระตุ้นการไหลเวียนลดความถี่ของอาการปวดได้

10) โรคนอนกรน

เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะเสียงกรนขณะหลับ อาการสะดุ้งตื่นตอนดึก ขาขยุกขยิก อ่อนเพลีย ปวดหัวเมื่อตื่น ง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน ส่งผลให้เรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ ความจำแย่ ตื่นสาย นอนหลับในขณะขับรถอาจเกิดอุบัติเหตุในท้องถนนได้ อาจเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับได้ นอกจากนั้นจะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตในปอดสูง โรคหลอดเลือดในสมอง อย่าลืมว่าคนที่อ้วนมาก ๆ จะนอนกรนทุกคน แต่คนผอม ๆ ก็มีโอกาสนอนกรนได้เช่นกัน หากมีความผิดปกติของการนอนหลับควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนเพื่อรับการตรวจการนอนหลับด้วยเครื่อง Sleep Lab

อย่างไรก็ตามการดูแลสุขภาพเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่และสามารถทำกิจกรรมที่ชื่นชอบอย่างมีความสุขได้นานยิ่งขึ้นนั้นทำได้ไม่ยาก นอกจากการทานอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอแล้ว ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ เพราะการรู้ก่อนเราย่อมสามารถป้องกันหรือชะลอโรคต่าง ๆ ได้ หากพบความผิดปกติของร่างกายก็อย่าชะล่าใจ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อให้คุณเคลื่อนไหวได้อย่างมีความสุข มีอิสระทุกการเคลื่อนไหว