หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ผ่าตัดยึดตรึงกระดูกหักแบบแผลเล็ก

ภาวะกระดูกหัก

กระดูกหัก หมายถึง การเสียความต่อเนื่องอย่างใดอย่างหนึ่งของกระดูก การหักอาจเป็นเพียงแค่กระดูกเป็นรอยร้าวหรือหักออกจากกันเป็นสองท่อน หรือแตกออกหลายชิ้น โดยสาเหตุมักเกิดจากมีแรงกระแทกต่อกระดูก เช่น การถูกตีด้วยของแข็ง การตกจากที่สูง เป็นต้น ในปัจจุบันสาเหตุของกระดูกหักที่พบบ่อยมักเกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งมักก่อให้เกิดอันตรายที่รุนแรง ซึ่งแรงที่กระทำต่อกระดูกนี้ นอกจากจะทำให้กระดูกหักแล้วยังทำให้เยื่อหุ้มกระดูก เส้นเลือด และเนื้อเยื่อรอบ ๆ กระดูกที่หักได้รับอันตราย  อาการของกระดูกหักมักเด่นชัด โดยจะมีอาการปวดและกดเจ็บ บวม เขียวช้ำ รูปร่างของอวัยวะบริเวณนั้นผิดปกติ เช่น กระดูกเกยกันหรือโค้งงอ เคลื่อนไหวไม่ได้ อาจมีบาดแผลหรือกระดูกโผล่ออกมาให้เห็น

รักษากระดูกหัก

โดยธรรมชาติร่างกายสามารถซ่อมแซมกระดูกที่หักและสามารถทำให้กระดูกที่หักเชื่อมต่อกันเองได้ แต่มักมีกระดูกติดผิดรูปหรือบางครั้งไม่เชื่อมติดกัน ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือใช้งานได้ดังเดิม แพทย์จะเป็นผู้ช่วยจัดแนวกระดูกเพื่อให้เชื่อมติดในตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยจะร่วมกับผู้ป่วยในการพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ เช่น สภาพร่างกายของผู้ป่วย อายุ กระดูกที่หักอยู่ตำแหน่งไหน ลักษณะของกระดูกหัก กระดูกหักแล้วเคลื่อนที่ไปมากหรือน้อย  และความรุนแรงของการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อโดยรอบ

การรักษากระดูกหักนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธี

  1. การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด เช่น การใส่เฝือก หรือการดึงถ่วงน้ำหนัก วิธีนี้มีข้อดี คือผู้ป่วยไม่มีบาดแผล แต่ผู้ป่วยจะถูกจำกัดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน จากการใส่เฝือกหรือพักในโรงพยาบาล ซึ่งความเสี่ยงของการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ อาจทำให้กล้ามเนื้อเล็กลีบ ข้อยึดติดหรือเกิดแผลกดทับได้
  2. การรักษาด้วยการผ่าตัดยึดตรึงกระดูก ข้อดี คือ ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้เร็ว และสามารถกลับไปปฏิบัติกิจวัตรได้ในระยะเวลาอันสั้น ส่วนข้อเสียคือ มีความเสี่ยงจากการดมยาสลบ มีบาดแผล เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรืออาจต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อเอาเหล็กดามออกในอนาคต

ในการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกหักนั้น นอกจากทำให้กระดูกที่หักสมานติดกันแล้ว แพทย์ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ที่หุ้มโดยรอบกระดูก ในการผ่าตัดนั้นจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ในการยึดตรึงกระดูกให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้เฝือกดามหลังผ่าตัด การที่ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วภายหลังการผ่าตัดจะทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ คงความแข็งแรงไว้ได้และสามารถใช้งานได้ใกล้เคียงเดิม

 

อุปกรณ์ที่ใช้ในการยึดตรึงกระดูกหัก

การเลือกใช้อุปกรณ์ในการยึดตรึงกระดูกหักนั้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของกระดูกที่หัก ลักษณะการหัก การบาดเจ็บภายนอก และการบาดเจ็บของอวัยวะอื่น ๆ แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมในการเลือกใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ อุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาต้องได้รับการประกันคุณภาพว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน เชื่อเถือได้ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และทำให้ผลการรักษาดี

  1. การใช้เหล็กแกนสอดในโพรงกระดูก  การใช้เหล็กแกนในการยึดตรึงกระดูกนั้น ใช้เทคนิคในการผ่าตัดเปิดแปลขนาดเล็กได้ โดยผ่าตัดเปิดแผลที่ด้านนบนของกระดูก จากนั้นจึงสอดเหล็กแกนเข้าไปในโพรงกระดูก โดยไม่จำเป็นต้องกระทบกระเทือนกับตำแหน่งที่ได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตามการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ไม่สามารถใช้ได้กับกระดูกหักทุกส่วน ในบางกรณีจำเป็นต้องใช้เหล็กแผ่นและสกรูในการยึดตรึงกระดูกอยู่เนื่องจากตำแหน่งที่หักอยู่ใกล้บริเวณข้อ
  2. การใช้โครงเหล็กยึดตรึงกระดูกจากภายนอก  มักใช้กับผู้ป่วยที่มีกระดูกหักแบบแผลเปิด มีสิ่งสกปรกในแผล ถ้าใช้การยึดตรึงกระดูกภายในจะก่อให้เกิดปัญหาการติดเชื้อรุนแรงตามมา
  3. การใช้เหล็กแผ่นและสกรูเพื่อยึดตรึงกระดูกหัก การผ่าตัดเปิดแผลเพื่อยึดตรึงกระดูกหักโดยใช้เหล็กแผ่นแบบดั้งเดิมนั้น แผลจะมีความยาวไม่น้อยกว่าความยาวของเหล็กแผ่นที่ใช้ในการยึดตรึงกระดูก ซึ่งเหล็กแผ่นนี้จะมีความยาวตั้งแต่ 15 – 30 เซนติเมตร ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ขนาดใดนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของกระดูกที่หัก  การผ่าตัดเปิดแผลแต่ละครั้งนั้นจำเป็นต้องตัดผ่านชั้นผิวหนัง ชั้นไขมัน และชั้นกล้ามเนื้อจนกว่าจะเห็นตำแหน่งของกระดูกที่หัก

การเปิดแผลผ่าตัดยาวมีผลดี คือ แพทย์สามารถมองเห็นบริเวณกระดูกที่หักได้ชัดเจน แต่การเปิดแผลยิ่งยาวเท่าใดก็จะทำลายเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อต่าง ๆ มากขึ้นตามไปด้วย การกระทำเช่นนั้นจึงเป็นการทำลายโอกาสในการสร้างกระดูกใหม่ นอกจากนี้ยังส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ อุปกรณ์ที่ยึดตรึงกระดูกอาจหัก กระดูกไม่ติด ฯลฯ

นอกจากนี้การเปิดแผลลักษณะนี้มักจำเป็นต้องใช้กระดูกเสริมจากกระดูกสะโพกของผู้ป่วยเองมาวางบริเวณกระดูกที่หักเพื่อช่วยให้การเชื่อมติดของกระดูกดีขึ้น จึงทำให้ผู้ป่วยต้องมีแผลเพิ่มขึ้นบริเวณสะโพก จากความเสี่ยงและข้อแทรกซ้อนดังกล่าว จึงมีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกหักแบบแผลเล็กขึ้น

เทคนิคการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกหักแบบแผลเล็ก 

การผ่าตัดเปิดแผลแบบดั้งเดิมในตำแหน่งของกระดูกที่หักจะต้องผ่าเปิดเนื้อเยื่อซึ่งมีการบาดเจ็บอยู่แล้ว ทำให้เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อรอบบริเวณกระดูกหักนั้นได้รับความบอบช้ำเพิ่มมากขึ้น จึงต้องใช้ระยะเวลาพักฟื้นนานและผู้ป่วยมีอาการปวดมากหลังผ่าตัด

ในปัจจุบันเทคนิคในการผ่าตัดแบบแผลเล็กมีการพัฒนาไปอย่างมาก มีอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่ทันสมัย การพัฒนาเครื่องเอกซเรย์ฟรูโอโรสโคป (Fluoroscope) ที่ทำให้เห็นภาพเอกซเรย์ได้ทันทีขณะผ่าตัด ก่อให้เกิดการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกหักด้วยเหล็กแผ่นแบบแผลเล็ก โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลยาวในตำแหน่งที่หัก ซึ่งก่อให้เกิดความบอบช้ำของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อน้อยกว่าเทคนิคเปิดแผลแบบดั้งเดิมมาก ผู้ป่วยจึงมีอาการปวดน้อยลง ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อาทิ เช่น ภาวะกระดูกติดช้า การติดเชื้อ ฯลฯ

เทคนิคการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกหักแบบแผลเล็ก Minimally Invasive plate Osteosynthesis (MIPO) ได้รับการพัฒนามายาวนานในต่างประเทศ ส่วนในประเทศไทยเริ่มมีการผ่าตัดเมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา โดยเทคนิคดังกล่าวจะเปิดแผลขนาดเล็กบริเวณด้านบนของกระดูกที่หัก แล้วจึงใช้อุปกรณ์เฉพาะในการทำทาง เพื่อสอดเหล็กแผ่นใต้ชั้นกล้ามเนื้อผ่านตำแหน่งที่หัก โดยวางเหล็กแผ่นอยู่เหนือผิวกระดูก จากนั้นจึงเปิดแผลเล็ก ๆ เพื่อยึดกระดูกด้วยสกรูด้านบนและด้านล่างของตำแหน่งที่หัก โดยพยายามทำให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อให้น้อยที่สุด  ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องเอกซเรย์ฟรูโอโรสโคปช่วยในการจัดแนวกระดูกและวางตำแหน่งของเหล็กแผ่น

นอกจากนี้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับเทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็กนี้จะเป็นเครื่องมือในการจัดและยึดตรึงกระดูกที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ ทำให้เกิดร่องรอยขนาดเล็ก เพื่อป้องกันเนื้อเยื่อไม่ให้ชอกช้ำและทำลายระบบไหลเวียนเลือดบริเวณเยื่อหุ้มกระดูกและรอยหักให้น้อยที่สุด รวมทั้งจะใส่สกรูจำนวนพอเหมาะที่จะให้ความมั่นคงเพียงพอต่อการส่งเสริมการเชื่อมติดของกระดูก  ด้วยเทคนิดดังกล่าวจึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดน้อยลง ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด ลดการเสียเลือด ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว กระดูกติดเร็ว และแผลมีขนาดเล็กสวยงาม

อย่างไรก็ตามแพทย์ที่ทำการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกหักแบบแผลเล็กจะต้องมีประสบการณ์ ผ่านการอบรม และฝึกทักษะการใช้เครื่องมือเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้การผ่าตัดประสบความสำเร็จได้อย่างดี และจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยในการกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว


สอบถามเพิ่มเติม
โทร. 0 2310 3000 หรือ โทร. 1719
Email: [email protected]