หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
โรคต่าง ๆ เกี่ยวกับการนอนหลับผิดปกติ

โรคต่าง ๆ เกี่ยวกับการนอนหลับผิดปกติ (Sleep Disorders) ได้แก่

1. Insomnia โรคนอนไม่หลับ

เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคนไข้เกือบทุกวัย ไม่ว่าจะมีอาการนี้ในระยะสั้น (acute) หรือเป็นเรื้อรัง (chronic) สามารถเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1.1 Pyschophysiologic insomnia คนไข้มักมีอาการกังวลคิดมาก (racing thought) ในช่วงเวลาก่อนนอน โดยมักมีความรู้สึกฝังใจว่าจะนอนไม่หลับขณะเข้านอน ส่งผลให้ยิ่งนอนไม่ค่อยหลับ คนไข้ในกลุ่มนี้อาจได้ผลบางส่วนจากการรักษาโดยวิธี cognitive behavioral therapy for insomnia

1.2 Parodoxical insomnia  คนไข้ในกลุ่มนี้มีความเข้าใจผิดว่านอนไม่หลับและจะมีความกังวลว่าอาการดังกล่าวจะมีผลต่อสุขภาพของตนเอง บางคนทานยานอนหลับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม benzodiazepine ทุกคืนจนไม่สามารถหยุดได้ (dependence) บางครั้งอาจต้องเพิ่มขนาดของยาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพเท่าเดิม (tolerance)

อย่างไรก็ตาม คนไข้ paradoxical insomnia เมื่อได้รับการตรวจค้นเพิ่มเติมโดย polysomnography จะพบว่าที่จริงแล้วคนไข้ในกลุ่มนี้สามารถเริ่มนอนหลับหลังจากเข้านอนได้โดยใช้ระยะเวลาปกติ (normal sleep onset) แต่คนไข้ในกลุ่มนี้อาจมีความผิดปกติในแง่  sleep microstructure ทำให้คุณภาพการนอนไม่ดีมากนัก ถึงแม้ระยะเวลาในการนอนอาจจะดูเพียงพอ ทำให้คนไข้ในกลุ่มมีความรู้สึกว่ายังนอนหลับไม่เพียงพอ จึงเข้าใจผิดว่าตนเองนอนไม่หลับ

1.3 Insufficient sleep syndrome ภาวะนี้พบได้ค่อนข้างบ่อยในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ซึ่ง Internet หรือ smart phones กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลาย ทำให้วัยรุ่นในสมัยนี้เข้านอนค่อนข้างดึกถึงแม้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับก็ตาม โดยผลที่ตามมาจะทำให้คนในกลุ่มนี้ตื่นสายและไม่ค่อยสดชื่นหลังตื่นนอน (non-restorative sleep) จนมีผลเสียต่อการเรียน

1.4 Insomnia secondary to medical problems นอนไม่หลับเนื่องจากมีปัญหาจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ

1.5 Insomnia secondary to medication นอนไม่หลับจากยาบางชนิดที่มีผลกระตุ้นระบบประสาท (Central nervous system stimulants)

1.6 Idiopathic insomnia นอนไม่หลับโดยไม่ทราบสาเหตุ

1.7 Others

2. Central origin of hypersomnolence นอนหลับมากเกินปกติ / โรคนอนเกิน / โรคนอนขี้เซา

คนไข้ในกลุ่มนี้นอนหลับมากเกินไป ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางระบบประสาท ดังนั้นจึงควรได้รับการค้นหาสาเหตุเพิ่มเติมเช่นกัน อย่างไรก็ตามก่อนจะลงความเห็นว่าคนไข้ที่ง่วงนอนผิดปกติตกอยู่ในกลุ่มนี้ ควรมั่นใจก่อนว่าคนไข้ดังกล่าวได้รับการนอนหลับพักผ่อนแล้วอย่างเพียงพอ ไม่ใช่พวกอดหลับอดนอน (Insufficient sleep syndrome)

คนไข้ Central origin of hypersomnolence ส่วนใหญ่มีการง่วงนอนผิดปกติในเวลากลางวัน (excessive daytime sleepiness) โดยความผิดปกตินี้อาจเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่ Narcolepsy

นอกจากคนไข้ Narcolepsy จะมีอาการง่วงนอนในเวลากลางวัน (excessive daytime sleepiness) แล้ว บางคนอาจมีอาการคอพับ (head nodding) เข่าทรุด (knee buckling) หรือ ความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลงทันทีทันใด (cataplexy) ทำให้อ่อนแรงฉลับพลัน  ชั่วขณะหนึ่ง (loss of muscle tone) อาการพวกนี้มักถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ต่าง ๆ เช่น อารมณ์ขบขัน

อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ในคนไข้ narcolepsy ได้แก่ sleep paralysis ซึ่งคนไข้ไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ชั่วขณะทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ขาดสติ (preserved consciousness) มักเกิดอาการในขณะเพิ่งตื่นนอน กำลังสะลึมสะลือ โดยชาวบ้านบางคนอาจเรียกกันว่า ผีอำ

ส่วน hypnaggoggic hallucination ก็สามารถพบได้ในคนไข้ narcolepsy โดยคนไข้จะเห็นภาพหลอนในขณะนอนเคลิ้มหลับเคลิ้มตื่น

3. Circadian rhythm disorder ภาวะนอนไม่เป็นเวลา

3.1 Advanced phase sleep disorder  พบได้ในคนสูงอายุบางคน โดยคนไข้จะนอนหลับแต่หัววัน (early falling asleep time) และตื่นนอนตั้งแต่ไก่ยังไม่ขัน (early awakening) คนไข้บางคนอาจมีตื่นนอนกลางดึกร่วมด้วย

3.2 Delayed phase sleep disorder พบในวัยรุ่นค่อนข้างบ่อย โดยเด็กในกลุ่มนี้นอนดึกและตื่นสาย ซึ่งถ้ามีความจำเป็นต้องตื่นตอนเช้า อาจมีผลทำให้ง่วงนอนในขณะเรียนหรือทำงานในตอนกลางวัน

3.3 Irregular sleep-wake rhythm  อาจพบได้ในคนไข้ neurodegenerative disorders เช่น คนไข้ dementia

3.4 Non 24 hour sleep-wake disorder (free running) พบได้ในคนตาบอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งตาบอดสนิท

3.5 Jet lag disorder

4. Parasomnia พฤติกรรมผิดปกติขณะหลับ

4.1 Non-Rapid eye movement parasomnia เช่น night terror, sleep walking (เดินละเมอ), sleep talking, sleep drinking

4.2 Rapid eye movement parasomnia เช่น REM behavior disorder ซึ่งพบได้บ่อยในคนไข้ที่มีความผิดปกติชนิด synucleinopathy ได้แก่ คนไข้ multiple system atrophy, dementia with lewy bodies และ idiopathic parkinson disease

โรคอื่น ๆ ได้แก่

5. Sleep related breathing disorder ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เช่น Obstructive sleep apnea, Obesity hypoventilation syndrome

6. Sleep related movement disorder เช่น bruxism (กัดฟันในขณะนอนหลับ), periodic limb movement disorder


สอบถามเพิ่มเติม
โทร. 0 2310 3000 หรือ โทร. 1719
Email: [email protected]