หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
อย่ามองข้ามอาการปากเบี้ยว 9 แชมป์โรคสมอง

สมองต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง ลดความเครียด ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดูแลสมองให้ทำงานได้ดี ที่สำคัญอย่ามองข้ามอาการปากเบี้ยวที่เป็นสัญญาณของ 9 แชมป์โรคสมองที่พบมากที่สุด

1) โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เป็นโรคที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ปัจจุบันพบเร็วขึ้นในกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน, หัวใจ, ความดันสูง, ไขมันในเลือดสูง และผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็น Stroke มาก่อน สามารถป้องกันโรค Stroke โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยง อาการที่น่าสงสัยมักเริ่มจากแขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก หน้าหรือปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัวหรือมองไม่เห็น ปวดหัวเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุ รวมถึงอาการเวียนหัว หรือวูบแบบเฉียบพลัน หากมีอาการดังกล่าวไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์ภายใน 3 ชั่วโมงเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที หากมีปัจจัยเสี่ยงควรตรวจเช็กการตีบตันของหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง Carotid Duplex เป็นประจำทุกปี

2. โรคหลอดเลือดสมองโป่ง

เกิดได้ทุกเพศทุกวัย พบมากในคนอายุ 40 – 60 ปี โดยเฉพาะเพศหญิงพบมากกว่าเพศชายเล็กน้อย คิดเป็น 1.6:1 คน ส่วนใหญ่เกิดกับผู้ป่วยโรคความดันสูง สูบบุหรี่จัด ปวดหัวบ่อย ๆ เป็น ๆ หาย  มีญาติที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่ง ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองโป่งมักจะตรวจพบเมื่อหลอดเลือดแตกแล้ว (Rupture Aneurysm) โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวรุนแรงฉับพลัน ชาและอ่อนแรงตามใบหน้า แขน ขา การทรงตัวมีปัญหาอย่างฉับพลัน ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองแตกจะมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงถึง 50% อีก 25% อาจพิการ และ 25% สามารถหายเป็นปกติ แต่หากตรวจพบหลอดเลือดสมองโป่งก่อนที่จะแตกจะมีอัตราการเสียชีวิตแค่เพียง 2 – 3%, เกิดความพิการ 7% และกว่า 90% สามารถเป็นปกติได้ เพราะฉะนั้นรู้เร็ว ลดอัตราการเสียชีวิตและพิการได้ด้วยการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRA) หรือบางกรณีที่จำเป็นจะต้องใช้การฉีดสีทึบแสงตรวจเส้นเลือด (Angiography) ร่วมด้วย หรือการใช้เครื่อง X-ray คอมพิวเตอร์ (CTA) ช่วยในการดูหลอดเลือดในสมองก็ต้องแล้วแต่กรณีตามการวินิจฉัยของแพทย์

3. ความจำถดถอยจุดเริ่มอัลไซเมอร์

อาการหลง ๆ ลืม ๆ เพียงเล็กน้อย หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ และกลายเป็นโรคสมองเสื่อมขั้นรุนแรงได้ จุดสังเกตว่าสมองเริ่มถดถอยลง คือ หลงลืมบ่อย จำเรื่องแต่ละวันไม่ค่อยได้ นึกชื่อไม่ออก พฤติกรรมหรืออารมณ์เปลี่ยนไป เก็บตัว นอนไม่หลับ มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่หากรู้แต่เนิ่น ๆ สามารถชะลออาการของโรคให้เกิดช้าลงได้ โดยการตรวจสมรรถภาพความจำถดถอยด้วยเทคโนโลยีการตรวจหาสารเบต้าอมีลอยด์ โดยการใช้ PET Scan เพื่อวินิจฉัยแยกชนิดของโรคความจำถดถอยได้ชัดเจน ก่อนนำไปสู่แผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ      

4)  รู้ทันโรคพาร์กินสัน กระตุ้นสมอง หยุดสั่น ป้องกันล้ม

โรคความเสื่อมของสมองที่เกิดจากการขาดสารโดพามีน พบมากในอายุ 60 ปีขึ้นไป และอาจพบในวัยกลางคนที่มีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน มักเริ่มต้นด้วยอาการสั่นที่แขน ขา กราม หรือใบหน้า กล้ามเนื้อเกร็ง เคลื่อนไหวช้า พูดหรือกลืนลำบาก ซึมเศร้าหดหู่ หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นอาการปกติของผู้สูงอายุ แต่หากปล่อยไว้จนอาการทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำให้ร่างกายฟื้นตัวยาก ถึงแม้โรคพาร์กินสันจะเป็นโรคเรื้อรัง แต่สามารถควบคุมอาการได้ การตรวจหาความผิดปกติของสมองส่วนที่สร้างสารโดพามีน ด้วย PET Brain F – DOPA ช่วยวินิจฉัยระยะความรุนแรงของโรคหรือการรักษาโรคพาร์กินสันด้วยการผ่าตัดฝังไมโครชิปกระตุ้นสมองส่วนลึก DBS Therapy เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว ลดการใช้ยา ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น  

5) ร่างกาย “สั่น” ไม่สู้ “ความผิดปกติของการเคลื่อนไหว”

เมื่อร่างกายไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เช่น อาการสั่น หน้ากระตุก ตากะพริบหรือกระตุก ปากบิดเบี้ยว คอหรือลำตัวบิดเกร็ง เดินเซ เคลื่อนไหวซ้ำ ๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อยา อาการเคี้ยวปากหรือคล้ายรำละคร ปัจจุบันการแพทย์สมัยใหม่สามารถลดอาการปวดจากกล้ามเนื้อบิดเกร็งได้ด้วยการฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน เพื่อรักษาโรคหน้ากระตุก โรคคอบิดเกร็ง กล้ามเนื้อเกร็งจากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ลดการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อชั่วคราว ลดการกระตุกและปวดเกร็งลงได้ หลังจากฉีดไปแล้ว 3 – 4 วัน ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม ฝึกการเดินและการเคลื่อนไหวแก่ผู้ป่วย  

6) ลมชัก วายร้ายทำลายสมอง

โรคลมชักสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิตและเกิดขึ้่นได้กับทุกเพศทุกวัย กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาการชักที่แสดงไม่จำเป็นต้องชักเกร็งกระตุกเสมอไป บางรายเหม่อลอย นิ่ง ไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคลมชักจนสมองถูกทำลาย สูญเสียความจำ ที่สำคัญมีผลต่อพัฒนาการทางสมองที่ช้าลงในเด็กเล็ก ล่าสุดมีเทคโนโลยี EEG simultaneous fMRI brain สามารถตรวจหาจุดกำเนิดไฟฟ้าส่วนที่ผิดปกติได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

7) วูบ เบลอ อาจเป็นลมชักแฝง

อาการวูบ เบลอ จำอะไรไม่ได้ในผู้สูงอายุ อาจไม่ใช่ความเสื่อมตามอายุ แท้จริงแล้วมีผลมาจากโรคลมชักแฝงที่เชื่อมโยงมาจากโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองฝ่อลง และโรคทางกายอย่างตับไตเสื่อม รวมทั้งโรคติดเชื้อ กรรมพันธุ์ และปัจจัยภายนอกจากอุบัติเหตุ ที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร เซลล์สมองผิดปกติจนเกิดโรคลมชักแฝงที่ไม่แสดงอาการชักกระตุก หากชักครั้งแรกแล้วไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องหรือรักษาทันทีอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเซลล์สมองได้ ดังนั้นการเฝ้าดูพฤติกรรมที่ผิดปกติเป็นสิ่งจำเป็น และหาสาเหตุได้ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง EEG เพื่อให้การรักษาได้ทันที อย่ารีรอจนสมองถูกทำลายจนอาจรักษาด้วยยาไม่ได้ผล

8) ปวดไมเกรนเรื้อรัง

อาการปวดหัวตุ๊บ ๆ ตื้อ ๆ เป็น ๆ หาย ๆ ปวดข้างเดียวที่หน้าผาก ขมับ ท้ายทอย หรือกระบอกตา พบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (บางรายปวดหัวขณะมีประจำเดือน) วงการแพทย์ได้ค้นพบเทคโนโลยีรักษาอาการปวดหัวเฉียบพลันได้แล้ว ด้วยการฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน ลดความถี่ของอาการปวดไมเกรนเรื้อรังได้ การฉีดยาระงับอาการปวดที่เส้นประสาทหลังศีรษะ Occipital Nerve Block เพื่อระงับอาการปวดหัวขั้นรุนแรง การใช้ค็อกเทลยารักษาโรคไมเกรน Migraine Cocktail ช่วยลดการกลับมาปวดหัวซ้ำอีกภายใน 24 ชั่วโมงได้ การกระตุ้นกระแสไฟฟ้าลดปวดด้วยเครื่อง TMS และการฝังเข็มกระตุ้นการไหลเวียนของเส้นลมปรานลดอาการปวดลงได้

9) เครียด ปวดคอร้าวขึ้นศีรษะ

อาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว เพราะความเครียด การนั่ง (ทำงานหรือขับรถ) ท่าเดียวนาน ๆ การใช้สายตานาน ๆ (จ้องหน้าคอมหรืออ่านหนังสือนาน ๆ) ทานอาหารผิดเวลา นอนน้อยหรือมากไป ขาดน้ำ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะปวดตื้อ ๆ หนัก ๆ เหมือนถูกรัดบีบหัว มักไวต่อแสงหรือเสียงที่ดัง พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และปวดมากตอนบ่าย ๆ เย็น ๆ การทานยาแก้ปวดอาจช่วยได้ในรายที่ไม่รุนแรง หากปวดมากมีตัวช่วย คือ Posture Analysis โปรแกรมปรับสมดุลของกล้ามเนื้อคอ บ่า หลังให้ถูกวิธี การบำบัดขจัดอาการปวดศีรษะด้วย LASER Therapy และลดเครียดด้วยการฝึกผ่อนคลายกับเครื่อง Biofeedback