หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
รู้ทันสมองเสื่อม ตรวจก่อนลุกลามเกินรักษา

โรคความเสื่อมทางสมองควรต้องใส่ใจรู้เท่าทันเพื่อป้องกันและหาแนวทางการรักษาได้อย่างเหมาะสม นอกจากจะมีคุณภาพชีวิตที่สดใส สมองยังต้องไบรท์ คิด วิเคราะห์ และแยกแยะเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างดี

การรู้เท่าทันความเสื่อมของโรคทางสมอง 3M ได้แก่ Memory (โรคอัลไซเมอร์) Moving (โรคพาร์กินสัน) และ Multiple Sclerosis (โรคเอ็มเอสหรือปลอกเยื่อหุ้มประสาทอักเสบ) ควรดูแลสมองตั้งแต่วัยทำงาน เพราะสมองมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย การสั่งการ การเคลื่อนไหว พฤติกรรม และหน้าที่ต่าง ๆ แต่เมื่ออายุมากขึ้น สมองก็เสื่อมไปตามวัย ทำให้อุบัติการณ์ของโรคสมองเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ จึงยิ่งต้องเฝ้าสังเกตอาการและตรวจวินิจฉัยก่อนอาการของโรคจะลุกลามเกินป้องกันและรักษา

รู้ให้ทันอัลไซเมอร์

ปรากฏการณ์โรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ที่เกิดขึ้นกับคนไทยและยังเป็นปัญหาสุขภาพที่คุกคามคนไทยมานานแล้ว ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์สมองที่ถูกทำลายด้วยหลายสาเหตุ เช่น การเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย พันธุกรรม อุบัติเหตุทางสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น โรคนี้มีระยะเวลาในการก่อโรคนาน 15 – 20 ปี กว่าจะแสดงออกถึงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน เดิมพบว่าคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ 10% ส่วนคนที่อายุ 85 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ 40 – 50% มีการศึกษาพบว่า โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์จะเริ่มมีอาการเริ่มต้น คือ ความจำถดถอยก่อน ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นการยากในการวินิจฉัยจากภาวะความจำถดถอยตามอายุ จากภาวะความจำถดถอยที่เป็นการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ จากการศึกษาจะเห็นมีสถิติของผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ทั่วโลกถึงเกือบ 50 ล้านคน และในเมืองไทยคาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงระยะเวลา ใน 10 ปีข้างหน้า

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่า ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคความจำถดถอยในกลุ่มที่จะเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนจะเกิดโรค สามารถที่จะชะลอตัวโรคได้ โดยการดูแลตัวเองอย่างดี รวมทั้งการใช้ยาป้องกัน เพื่อชะลอตัวโรค ปัญหาในปัจจุบัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้อยู่ ปล่อยจนเป็นโรคสมองเสื่อมแล้ว ซึ่งเกินกว่าจะรักษาได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ตั้งแต่อายุ 50 ปี ถือว่าเป็นวิธีการรักษาป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด

หากสามารถวินิจฉัยในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้แต่เนิ่น ๆ ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาและผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตสามารถช่วยชะลอตัวโรค ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อ่านหนังสือ การทำงาน โดยไม่เกษียณตัวเอง เล่นเกมที่อาศัยการคิดคำนวณ การพบปะพูดคุยเข้าสังคม ดูแลสุขภาพจิตให้ดี คิดบวก ลดความเครียด ทานอาหารที่มีประโยชน์ การนอนหลับที่ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยชะลอหรือทุเลาอาการเสื่อมที่จะเกิดขึ้นได้

อย่าชะล่าใจกับพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันเป็นโรคทางสมองที่พบได้เป็นอันดับ 2 รองจากอัลไซเมอร์และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งโรคพาร์กินสันจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ความผิดปกติของระบบการเคลื่อนไหว (Motor System Disorders) ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่มาของโรคได้แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากเซลล์สมองผลิตสารที่ชื่อว่า ‘โดพามีน’ ไม่เพียงพอ ซึ่งต้องใช้การสแกนสมอง (CT Scan หรือ MRI Scan) และเทคโนโลยีเครื่องสแกนรังสี F-DOPA PET Scan ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่มาของโรคได้แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากเซลล์สมองผลิตสารที่ชื่อว่า ‘โดพามีน’ ไม่เพียงพอ ซึ่งต้องใช้การสแกนสมอง (CT Scan หรือ MRI Scan) และเทคโนโลยีเครื่องสแกนรังสี F-DOPA PET Scan

สำหรับการวินิจฉัยการทำงานของสมองและตรวจปริมาณสารโดพามีน หน้าที่ของโดพามีนคือ เป็นสารสื่อประสาทที่ผลิตขึ้นในสมอง ช่วยให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวอย่างสมดุลและประสานกัน เมื่อขาดสารนี้ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางประสาทส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดอาการ ดังต่อไปนี้

  • สั่น (Tremor) ที่มือ แขน ขา กราม และใบหน้า
  • กล้ามเนื้อเกร็ง (Rigidity) แขนขาหรือลำตัวแข็งไม่สามารถขยับได้
  • เคลื่อนไหวช้าลง (Bradykinesia)
  • เสียการทรงตัว (Postural Instability)
  • กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน

เมื่ออาการเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะเดิน พูด หรือทำกิจวัตรประจำวันง่าย ๆ ได้อย่างยากลำบาก มีปัญหาด้านการกลืน การเคี้ยว การพูด การถ่ายปัสสาวะ มีอาการท้องผูก นอกจากนี้อาจมีความจำหลงลืม อาการซึมเศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลง และนอนไม่หลับร่วมด้วย

ปัจจุบันทางการแพทย์มีเทคโนโลยีใหม่ในการติดตามการดำเนินของโรคในผู้ป่วยคือ เครื่องบันทึกการเคลื่อนไหวพีเคจี (PKG : Parkinson Kinetic Graphy) เป็นการบันทึกการเคลื่อนไหวของพาร์กินสันไคเนติกราฟที่จะถูกนำมาใช้ประเมินการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยทั้งวันและทุกวันโดยอัตโนมัติ เหมือนนาฬิกาสวมใส่ที่ข้อมือของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันประมาณ 6 – 10 วัน และเมื่อผู้ป่วยส่งเครื่องบันทึกข้อมูลกลับมาแพทย์ก็จะทราบถึงการเปลี่ยนแปลงในการเคลื่อนไหว หลังจากที่ผู้ป่วยทานยาเลโวโดปา (levodopa) แต่ละวันของผู้ป่วย รวมไปถึงเครื่องจะแจ้งเตือน บันทึกของการรับประทานยาในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

โรคเอ็มเอสอย่าละเลย

โรคเอ็มเอส (MS) หรือ Multiple Sclerosis เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งได้แก่ สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทตา ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค แต่เชื่อว่าโรคนี้อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม พันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสบางชนิด การที่มีระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำ หรือมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคเอ็มเอสจะเกิดอาการขึ้นในช่วงอายุระหว่าง 20 – 40 ปี ซึ่งเป็นประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน จากการสำรวจพบว่า 3 ใน 4 ของผู้ป่วยเอ็มเอสได้รับผลกระทบต่อการทำงาน ทั้งนี้พบว่าหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา มากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยเอ็มเอสจะเกิดภาวะทุพพลภาพภายใน 20 – 25 ปี หลังเริ่มมีอาการครั้งแรกและพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า รวมไปถึงมีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรมหากพบมีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นประมาณ 1%

ลักษณะเฉพาะของโรคเอ็มเอส คือ มักพบอาการผิดปกติของระบบประสาทเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นผลมาจากการอักเสบของระบบประสาทส่วนกลางได้แก่ สมอง ไขสันหลัง รวมถึงเส้นประสาทที่เกี่ยวกับการมองเห็น ความเสียหายที่เกิดจากการทำลายปลอกหุ้มประสาทจะทำให้การส่งสัญญานระหว่างเซลล์ประสาทช้าลงหรือขัดขวางการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทส่วนกลางไปตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย

ซึ่งอาการที่เกิดจากการกำเริบของโรคมีได้หลากหลายแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละรายแต่ที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ปัญหาเกี่ยวกับการเดิน มีอาการเกร็งปวด ขากระตุก ปัสสาวะไม่ออก
  • อาการชาแน่น ๆ รอบอก อ่อนแรงหรือรู้สึกเหมือนมีเข็มแทง ปวดร้าวที่คอและกลางหลัง
  • ปัญหาเรื่องการมองเห็น ตามัวกึ่งเฉียบพลัน เห็นภาพซ้อน สีผิดเพี้ยน
  • ปัญหาเรื่องการทรงตัว ทรงตัวลำบากมีลักษณะเฉพาะคือ มักเป็นและดีขึ้นเอง จากนั้นจะมีอาการกำเริบซ้ำในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่

ดังนั้นต้องหมั่นสังเกตตนเอง เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญานของโรคเอ็มเอส เพราะโรคเอ็มเอสยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอย่างแน่ชัดจึงไม่สามารถป้องกันได้ ควรดูแลสุขภาพของตน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลด ละ เลิกสุราและบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด รวมทั้งเมื่อพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายให้รีบไปพบแพทย์ทันทีน่าจะเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดให้ห่างไกลจากโรคเอ็มเอสและโรคร้ายแรงอื่น ๆ อีกด้วย