หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
หลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็ม (AVM) อันตรายรุนแรง

ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของกลุ่มหลอดเลือดในสมองอย่างโรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็ม (AVM) ที่มักไม่แสดงอาการ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็มักเริ่มรุนแรง ดังนั้นการสังเกตและรู้เท่าทันโรคคือเรื่องที่ไม่ควรละเลย


โรคเอวีเอ็มคืออะไร

โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็ม (AVM – Arteriovenous Malformation) หรือโรคเอวีเอ็ม เป็นโรคที่มักพบตั้งแต่กำเนิด เกิดจากหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำเชื่อมต่อผิดปกติจนไปกระทบการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนของเนื้อสมองบริเวณนั้น ๆ ทำให้สมองเกิดความเสียหาย AVM สามารถเกิดได้ในหลายตำแหน่ง มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ช่วงอายุที่พบมากคือ 20 – 30 ปี และพบในผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยโรคนี้


อาการโรคเอวีเอ็มเป็นอย่างไร

อาการของโรคเอวีเอ็มอาจจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับขนาด, ตำแหน่งของ AVM และการพบการโป่งพองของเส้นเลือดแดงร่วมด้วย โดยอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ อาจมีตั้งแต่การเจอโดยบังเอิญจากภาพถ่ายทางรังสี, อาการปวดศีรษะ, อาการชัก หรืออาการแสดงการแตกของ AVM โดยการแตกของ AVM อาจแบ่งออกเป็น

  • หลอดเลือดแตกในเนื้อสมอง ส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะ แขนขาอ่อนแรง อาเจียน อาจรุนแรงถึงเสียชีวิต
  • หลอดเลือดแตกบริเวณผิวสมองหรือเนื้อสมองส่วนนอก ส่งผลให้มีอาการชัก กระแสไฟฟ้าในสมองผิดปกติ
  • หลอดเลือดแตกบริเวณผิวสมองใต้ต่อชั้นเยื่อหุ้มสมองอะราชนอยด์ (Subarachnoid hemorrhage: SAH) ส่งผลให้มีอาการพูดลำบาก เวียนศีรษะรุนแรง ชาแขนขา เสียการมองเห็น เป็นต้น

ปัจจัยกระตุ้นโรคเอวีเอ็มคืออะไร

  • กรรมพันธุ์ หากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้
  • ความดันโลหิตสูงขึ้น หลอดเลือดอาจแตกได้
  • ออกแรงเบ่งแรงเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้หลอดเลือดแตก
  • การไหลเวียนเลือดลดลง สมองอาจขาดเลือด ทำให้ชักได้

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

เพราะโรคเอวีเอ็ม (AVM) มักไม่แสดงอาการ หากปวดหัว เวียนศีรษะ มองเห็นไม่ชัดติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไป รับประทานยาแล้วไม่หาย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียด


ตรวจวินิจฉัยโรคเอวีเอ็มอย่างไร

แพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาทจะทำการตรวจวินิจฉัยโรคเอวีเอ็ม (AVM) ด้วยวิธีการตรวจที่เหมาะสมในแต่ละบุคคลและประเมินโดยใช้มาตรฐาน Spetzler – Martin Grading Scale ได้แก่

  • สอบถามซักประวัติอย่างละเอียด โดยเฉพาะเรื่องความผิดปกติทางระบบประสาท  
  • ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อตรวจสอบรายละเอียดภายในสมองส่วนที่ผิดปกติอย่างชัดเจน
  • ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI – Magnetic Resonance Imaging) เพื่อตรวจเช็กการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อสมองและอาจบอกตำแหน่งของโรคเอวีเอ็มได้ 
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG – Electroencephalogram) เพื่อตรวจการทำงานของเซลล์สมองจากคลื่นไฟฟ้าของเซลล์สมองที่แสดงบนจอภาพ วินิจฉัยและประเมินโรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก เป็นต้น
  • ตรวจหลอดเลือดโดยใช้เครื่องถ่ายภาพด้วยสนามแม่เหล็ก (MRA – Magnetic Resonance Angiography) เพื่อตรวจสอบรูปแบบ ความเร็ว รวมถึงระยะทางการไหลเวียนเลือดผ่านหลอดเลือด
  • ตรวจโรคหลอดเลือดโดยใช้ Bi-plane DSA หรือ Biplane Digital Subtraction Angiography เพื่อตรวจหลอดเลือดสมอง เป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐานในการประเมินขนาดของรอยโรค ประเมินความเสี่ยงของการแตกของเส้นเลือดเพื่อประกอบการพิจารณาวิธีการรักษา รวมถึงเป็นการรักษา AVM ได้อีกทางหนึ่ง

หลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็ม (AVM) อันตรายรุนแรง

รักษาโรคเอวีเอ็มอย่างไร

การรักษาโรคเอวีเอ็ม (AVM) คือป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ หากผู้ป่วยมีรอยโรคขนาดใหญ่อาจต้องใช้วิธีการรักษาหลายวิธีร่วมกัน โดยขึ้นอยู่กับอาการแสดงของผู้ป่วย ผลการตรวจประเมินโดยแพทย์ ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะใช้ข้อมูลของภาพถ่ายทางรังสีวิทยามาประกอบ และใช้ Spetzler – Martin Grading Scale ร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งวิธีหลักในการรักษา ได้แก่  

  • การอุดหลอดเลือด (Embolization) เป็นการอุดหลอดเลือดแดงเพื่อรักษาโรคเอวีเอ็ม (AVM) โดยแพทย์จะทำการสอดท่อขนาดเล็กเข้าไปบริเวณตำแหน่งที่เกิดปัญหา จากนั้นจะใช้ขดลวดขนาดเล็ก กาว หรือบอลลูน ตรงนี้ขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นสำคัญ เพื่อเข้าไปอุดในหลอดเลือด ลดการไหลเวียนเลือด
  • การผ่าตัด เพื่อนำหลอดเลือดที่มีความผิดปกติออกไป วิธีนี้เหมาะกับการรักษาโรคเอวีเอ็ม (AVM) ที่อยู่ไม่ลึกมาก มีความเสี่ยงในระดับต่ำ หากอยู่ลึกมากความเสี่ยงยิ่งเพิ่มขึ้น
  • รังสีรักษา ทำการฉายรังสีไปยังตำแหน่งหลอดเลือดผิดปกติ เพื่อให้รอยโรคค่อย ๆ ฝ่อลงไป 

โรคเอวีเอ็มเป็นซ้ำได้ไหม 

โรคเอวีเอ็ม (AVM) เมื่อรักษาหายแล้วก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้ แต่โอกาสเกิดขึ้นมีน้อย อาจมีสาเหตุจากผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่วางไว้ เช่น หลอดเลือดฝ่อไม่หมด รอยโรคขนาดใหญ่มาก ดังนั้นการเลือกทำการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญและทีมสหสาขาที่มากด้วยประสบการณ์ อีกทั้งโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยเป็นสิ่งสำคัญ


โรคเอวีเอ็มป้องกันได้ไหม

โรคเอวีเอ็ม (AVM) ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะมักเป็นมาแต่กำเนิด แต่สามารถป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำหลังจากรักษาได้ โดยระวังไม่ให้ความดันโลหิตขึ้นสูงเร็วเกินไป ไม่ออกแรงเบ่งแรงเกินไป เลี่ยงยกของหนัก ควบคุมอาการชักให้ดี โดยรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มแอลกอฮอล์และสูบบหรี่ รวมทั้งจัดการความเครียดให้ดี


แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็ม (AVM)

พญ.ฐิติมา อิทธิเมธินทร์ แพทย์ผู้ชำนาญด้านประสาทศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาโรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็ม (AVM)

ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง พร้อมดูแลรักษาโรคหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็ม (AVM) ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อคืนคุณภาพชีวิตที่ดีกลับมาอีกครั้ง