หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ปวดหัวจี๊ด ๆ อาจไม่ใช่แค่เรื่องเล็ก

หลายคนเคยมีอาการปวดหัวจี๊ด ๆ จนรำคาญหรือทนไม่ไหว แต่บางคนชะล่าใจและคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ทั้งที่ความจริงแล้วอาการปวดหัวจี๊ด ๆ อาจเป็นสัญญาณบอกโรคที่คาดไม่ถึงได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีอาการควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเช็กย่อมช่วยให้ดูแลรักษาได้ทันท่วงที


ปวดหัวจี๊ดคืออะไร

ปวดหัวจี๊ด ๆ คืออาการปวดศีรษะที่มีลักษณะปวดจี๊ด ๆ จนสร้างความทรมานและรำคาญใจ แต่ละคนจะมีการปวดมากน้อยแตกต่างกันออกไป บางคนเป็น ๆ หาย ๆ บางคนปวดต่อเนื่อง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ จึงมีความจำเป็นที่ต้องพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียด


ปวดหัวจี๊ดเกิดจากอะไร

มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวจี๊ด อาทิ

  • โรคปวดเส้นประสาทท้ายทอย (Occipital Neuralgia) มักปวดท้ายทอย ปวดร้าวขึ้นไปที่ศีรษะ อาจเกิดจากการติดเชื้อหรือบาดเจ็บ ทำให้เส้นประสาทได้รับการกระทบกระเทือนรุนแรงจนเส้นประสาทเสียหาย 
  • โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia) จะมีอาการปวดจี๊ด ๆ ที่ใบหน้าข้างเดียวอย่างรุนแรง กระตุ้นโดยการเคี้ยวอาหาร การพูด การแปรงฟัน การล้างหน้า
  • โรคไมเกรน (Migraine) มักมีอาการปวดหัวแบบตุ๊บ ๆ ข้างเดียวหรือสองข้าง บางครั้งอาจปวดจี๊ด ๆ หรือ
    หนัก ๆ ปวดขมับร้าวถึงกระบอกตา ร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน อาจเห็นแสงวูบวาบหรือภาพเบลอก่อนปวดหัว เป็นต้น
  • โรคปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache) มักปวดหัวเป็นชุด ๆ ปวดรุนแรงข้างเดียว ปวดหัวจี๊ดที่กระบอกตาหรือหลังลูกตา ขมับ ตาแดง น้ำตาไหล น้ำมูกไหลร่วมด้วย
  • โรคปวดหัวจากภาวะร่างกายขาดน้ำ (Dehydration Headaches) มีตั้งแต่ปวดน้อยถึงรุนแรง ปวดหัวตื้อ ปวดหัวจี๊ด ๆ ทั่วศีรษะ โดยอาจเป็นตำแหน่งเดียว เช่น ปวดหัวด้านหลัง ปวดหัวด้านหน้า ปวดหัวด้านข้าง รวมถึงมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปากแห้ง เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เป็นตะคริว เป็นต้น
  • โรคปวดหัวจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension – Type Headaches) มักปวดบีบ ๆ หนัก ๆ ที่ต้นคอร้าวไปที่ขมับ ปวดทั่วศีรษะ ปวดตื้อ มึน บางคนปวดหัวจี๊ด ๆ ร่วมด้วย 
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จะมีอาการปวดหัวแบบจี๊ด ๆ ตุบ ๆ ไม่ว่าจะข้างซ้ายหรือข้างขวา ปวดมากจนทนไม่ไหว โดยมีอาการร่วมกับปากเบี้ยว แขนขาชา อ่อนแรง อาการเหล่านี้เสี่ยงต่อเส้นเลือดในสมองตีบ แตก ตัน ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด หากรักษาไม่ทันอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ปวดหัวจี๊ด ๆ อาจไม่ใช่แค่เรื่องเล็ก

ปวดหัวจี๊ดขณะมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นได้หรือไม่

ปวดหัวจากการมีเพศสัมพันธ์ (Sexual Headache) สามารถเกิดขึ้นได้ขณะทำกิจกรรมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นขณะมีเพศสัมพันธ์ การช่วยตนเอง หรือแม้กระทั่งออรัลเซ็กส์ โดยระยะเวลาที่ปวดจะมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งผู้ชายมีโอกาสเกิดภาวะนี้มากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า โดยแบ่งลักษณะการปวดได้ 2 ประเภทคือ ปวดหัวขณะใกล้ถึงจุดสุดยอด จะปวดตื้อ ๆ หนัก ๆ บริเวณท้ายทอย และปวดหัวขณะถึงจุดสุดยอด มักจะปวดหัวรุนแรงบริเวณต้นคอ ท้ายทอย ด้านหน้า เบ้าตาแล้วกระจายไปทั่ว สิ่งที่ต้องระวังคือ หากปวดหัวจี๊ดจนทนไม่ไหวขณะมีเพศสัมพันธ์ต้องรีบมาพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เลือดออกในสมอง และหลอดเลือดหัวใจตีบได้


ปวดหัวจี๊ดรักษาอย่างไร 

เมื่อมีอาการปวดหัวจี๊ด ๆ ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเช็กว่าต้นเหตุคืออะไร หากไม่ได้ป่วยเป็นโรครุนแรง อาจรับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์แนะนำ นอกจากนี้ควรปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยป้องกันอาการปวดหัวจี๊ด ๆ ได้แก่ ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้นเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ออกกำลังกายช่วยเพิ่มการหลั่งสารเอนดอร์ฟินที่บรรเทาอาการปวดตามธรรมชาติ ทำงานในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ  ตรวจเช็กสายตาทุกปี นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดชา กาแฟ บุหรี่ แอลกอฮอล์ จัดการความเครียดให้อยู่หมัด เป็นต้น


ปวดหัวแบบไหนควรพบแพทย์ทันที

หากมีอาการปวดหัวจี๊ด ๆ แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รู้สึกว่าทนไม่ไหวควรไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้หากปวดหัวเรื้อรังมานานแบบเป็น ๆ หาย ๆ ปวดหัวบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ปวดหัวจนตื่นกลางดึกไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ รวมถึงหากมีอาการร่วมเมื่อปวดหัว อย่างชา แขนขาอ่อนแรง คลื่นไส้ ภาพเบลอ มองเห็นภาพซ้อน หน้าเบี้ยว หมดสติ ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ที่สำคัญไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด


แพทย์ผู้ชำนาญด้านการรักษาอาการปวดศีรษะ 

นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาอาการปวดศีรษะ

ศูนย์สมองและระบบประสาทโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมดูแลรักษาทุกปัญหาเกี่ยวกับสมองและระบบประสาทโดยทีมแพทย์เฉพาะทางรวมถึงแพทย์สหสาขาที่มีความชำนาญมีเทคโนโลยีและวิธีการรักษาที่ทันสมัยมุ่งเน้นการรักษาที่ต้นเหตุป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำร่วมกับการฟื้นฟูสมองโดยคำนึงถึงผู้ป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ