หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ฉีดโบอีกทางเลือกรักษาไมเกรน - เคลื่อนไหวผิดปกติ

เมื่อเอ่ยถึง “Botulinum toxin” ชนิด A หลายคนอาจนึกไปถึงแวดวงศัลยกรรมและเสริมความงาม แต่ในปัจจุบัน Botulinum toxin มีบทบาทในวงการแพทย์มากมาย คือ นำมาใช้รักษาโรคไมเกรนและอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ

ปวดศีรษะไมเกรน

อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาการที่ผู้ป่วยมาปรึกษาแพทย์บ่อยที่สุดคือ ปวดศีรษะไมเกรน สาเหตุเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้สมองไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ หรือเกิดการอักเสบของเส้นเลือด สมอง และเส้นประสาท พบมากในเพศหญิงมากกว่าชาย โดยเฉพาะช่วงอายุ 25 – 55 ปี

ผู้ป่วยที่ปวดศีรษะไมเกรนมักปวดศีรษะข้างเดียว แต่อาการอาจย้ายข้างหรือปวดทั่ว ๆ ทั้ง 2 ข้างได้ อาการอาจรุนแรงจนทำให้การเรียนหรือการทำงานเสีย เพราะในขณะที่มีอาการการเคลื่อนไหวหรือกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ มักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือไม่อยากเห็นแสงจ้า และไม่อยากได้ยินเสียงดัง

Botulinum toxin รักษาไมเกรน

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนเรื้อรัง (Chronic Migraine) คือปวดศีรษะอย่างน้อย 14 วันต่อเดือนขึ้นไป การฉีด Botulinum Toxin ชนิด A เป็นอีกวิธีหนึ่งที่แพทย์นำมาใช้รักษา ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว เชื่อว่าสามารถยับยั้งปลายประสาทที่ส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมองด้วย จึงลดความรุนแรงของอาการปวดศีรษะได้เป็นอย่างดี และอาจไม่จำเป็นต้องรับประทานยาแก้ปวดศีรษะเป็นประจำ

โดยแพทย์จะฉีด Botulinum toxin ที่ใบหน้าระหว่างคิ้ว หน้าผาก ท้ายทอย ต้นคอ และบ่า 31 จุด จากการวิจัยพบว่า สามารถลดอาการปวดลงได้ 60 – 70% มีผลอยู่ได้ประมาณ 3 เดือน มีผลข้างเคียงน้อย นอกจากการฉีดสาร Botulinum toxin แล้ว ไมเกรนยังรักษาด้วยวิธีอื่น อาทิ การให้ยาป้องกันทานติดต่อกัน 6 เดือน – 1 ปี การใช้วิตามินหรือเกลือแร่ การใช้ยาฉีดร่วมกันหลายชนิด เพื่อลดอาการปวด เป็นต้น หรือการรักษาแบบไม่ใช้ยา อาทิ การ ฝังเข็ม การทำกายภาพบำบัด ให้เรียนรู้ถึงการควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น การหายใจ การกำหนดจิต เป็นต้น

นอกจากโรคไมเกรนแล้ว Botulinum toxin ยังใช้รักษาโรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ อาทิ โรคหน้ากระตุกครึ่งซีก โรคคอบิด เป็นต้น ซึ่งสารนี้จะช่วยบรรเทาอาการเกร็งหรือกระตุกของกล้ามเนื้อใบหน้าหรือหนังตา แก้ไขคอที่เอียงผิดปกติ โดย Botulinum toxin จะไปยับยั้งการปล่อยสาร Acetyl Choline ที่ปลายประสาทที่ต่อกับกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง โดยยาจะไม่ออกฤทธิ์ทันที แต่ต้องใช้เวลา 3 – 4 วัน และจะออกฤทธิ์สูงสุดในสัปดาห์ที่ 2 จะอยู่ได้ 2 – 3 เดือน แล้วค่อย ๆ หมดฤทธิ์ลง