บ่อยครั้งที่หลายคนละเลยและมองข้ามความผิดปกติของร่างกาย เช่น นอนกรน หยุดหายใจขณะนอนหลับ ง่วงนอนมากผิดปกติ และลมชัก จนลุกลามถึงขั้นสมองเสื่อม ความจำถดถอย ทั้งที่ความจริงแล้วร่างกายของคุณส่งสัญญาณเตือนอยู่บ่อย ๆ
นอนกรน
อาการนอนกรน หลับไม่สนิท หยุดหายใจขณะนอนหลับ ง่วงนอนมากผิดปกติ และลมชัก ไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้าม เพราะอาจเป็นความเสี่ยงสำคัญนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงได้ จากข้อมูลพบว่า ตัวเลขในการตรวจอาการนอนหลับไม่สนิท นอนกรน การหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ ฯลฯ ใน 1 ปีพบคนไข้ที่มาปรึกษามากถึง 400 – 500 คน ส่วนใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไปจนถึงกลุ่มสูงอายุ โดยเฉพาะอาการนอนกรนมีจำนวนมากที่สุด และเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะอ้วน น้ำหนักมาก พันธุกรรม ไลฟ์สไตล์สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ทำให้มีปัญหากล้ามเนื้อคอหย่อน ประกอบกับโครงสร้างของใบหน้า ลำคอสั้นส่งผลให้ช่องทางเดินหายใจส่วนบนแคบ เวลาหลับลึกกล้ามเนื้อคอหย่อนหลอดลมก็จะแฟบ ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ คนไข้มักมีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ หากไม่ได้รับการตรวจรักษาจะมีความเสี่ยงเรื่องความดัน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคเกี่ยวกับสมองที่มีผลทำให้ความจำลดลง
แนวทางการรักษา หากเป็นโรคนอนกรนจะใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบนหรือ CPAP เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ช่วยลดอาการหยุดหายใจในขณะหลับ สำหรับคนที่ไม่เคยใช้อาจรู้สึกอึดอัด ระยะแรกต้องฝึกการใช้ ถ้าเป็นอาการนอนละเมอ ขากระตุก หรือโรคลมหลับใช้ยากระตุ้นให้ตื่นตัว พร้อมทั้งปรับพฤติกรรมและตารางการนอน คนไข้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนอายุน้อยตั้งแต่ 6 – 12 ขวบจนถึงวัยทำงาน บางคนเกิดจากพันธุกรรม แต่บางรายไม่ทราบสาเหตุ
ลมชัก
โรคลมชักมักเจอประมาณ 1% ของจำนวนประชากร จากข้อมูลพบว่าคนไทยจำนวนไม่ต่ำกว่า 6 – 7 แสนคนจนถึง 1 ล้านคนเป็นโรคลมชักและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุมักจะมาพร้อมกับโรคสมองเสื่อม ยิ่งสมองฝ่อโอกาสเกิดโรคลมชักหรือโรคคลื่นไฟฟ้าผิดปกติที่สมองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าจะมีอาการเกร็งกระตุกเท่านั้น แต่อาการที่เจอบ่อยคือ มีอาการเบลอ จำเหตุการณ์ได้บ้างไม่ได้บ้าง หูแว่ว ที่สำคัญอันตรายจากโรคลมชัก คือ ทำให้สมองเสียการสั่งงานช้าลง ความจำลดลง การเคลื่อนไหวและทรงตัวแย่ลง หากเป็นบ่อย ๆ อาจมีอาการทางจิตตามมา
โรคลมชักแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่
- ชักแบบไฟฟ้าเป็นจุด
- ชักแบบไฟฟ้าทั่วไป
- ชักแบบไฟฟ้าเป็นจุดผสมกับไฟฟ้าทั่วไป
- ชักแต่ไม่สามารถบอกตำแหน่งไฟฟ้าได้
นอกจากนี้ยังแบ่งแยกย่อยอีก เนื่องจากสาเหตุของโรคลมชักมีหลากหลาย ทุกคนมีโอกาสเป็นได้ แม้จะไม่เคยชักมาก่อน หากอดนอนอาจชักขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่งเกิดจาก
- รอยหยักสมองผิดปกติมาตั้งแต่เด็ก
- พันธุกรรม
- มีรอยโรคอื่น เช่น คลื่นสมองผิดปกติ หลอดเลือดโป่งพอง
- เกิดจากเนื้องอก
- โรคทางน้ำเหลืองไม่ดี หรือการติดเชื้อไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัส
- ภาวะสมองเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น
- อุบัติเหตุ
โรคลมชักวิธีการรักษาเริ่มต้นจากการใช้ยา ผ่าตัด หรือใช้ไฟฟ้ากระตุ้นแล้วแต่ชนิดของโรคลมชัก ซึ่งแพทย์จะรักษาตามอาการและสาเหตุของการชัก คนไข้ 70% ตอบสนองต่อยาดีสามารถคุมอาการชักได้ แต่ต้องรับประทานยา 3 – 5 ปีจึงต้องมีวินัยในการรับประทานยา ไม่อดนอน ไม่เครียด แต่กรณีที่ร่างกายดื้อยา รับประทานยาแล้วอาการชักไม่ดีขึ้น ควรผ่าตัดตั้งแต่อายุน้อยเพื่อไม่ต้องเสียเวลา เพราะถ้าปล่อยให้ชักนานหลายปีสมองจะเสีย ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ
ปัจจุบันการผ่าตัดโรคลมชักมีเทคโนโลยีการตรวจละเอียดก่อนการผ่าตัด ต่างจากการผ่าตัดจากอุบัติเหตุ เส้นเลือดแตกหรืออัมพฤกษ์อัมพาตที่เส้นเลือดสมองบางส่วนถูกทำลายไปแล้ว การผ่าตัดโรคลมชักมีสิทธิ์หายหรือทำให้อาการชักลดลง ในกรณีตรวจเช็กแล้วพบว่าการผ่าตัดไม่มีความเสี่ยง อาจเลือกใช้ไฟฟ้ากระตุ้นแทน และในอนาคตอาจใช้การผ่าด้วยเลเซอร์
จากที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการตรวจการนอนหลับเพื่อวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรค การตรวจประกอบด้วย การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ใต้คางและขา การกลอกลูกตา คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด การตรวจวัดลมหายใจทางปากและจมูก ร่วมกับความสามารถของกล้ามเนื้อหน้าอกและท้องที่ใช้ในการหายใจ ในห้องตรวจสลีปแล็บ (Sleep Lab) ของศูนย์ตรวจการนอนหลับและศูนย์ลมชักให้บริการตรวจคนไข้ที่มีปัญหาผิดปกติในการนอนและโรคลมชักทุกเพศทุกวัย
การวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นโรคลมชักแล้วรับประทานยาแค่นั้นยังไม่พอต้องตรวจสอบให้รู้ว่าเป็นโรคลมชักชนิดไหน ชักจากจุดไหนในสมองด้วยเทคโนโลยีทันสมัยในการตรวจหาตำแหน่งที่เกิดโรคอยู่ตรงไหน ซึ่งต้องใช้การมอนิเตอร์คนไข้ 24 ชั่วโมงขึ้นไป โดยใช้เครื่อง EEG fMRI ร่วมกับ PET SCAN เพื่อหาตำแหน่งที่ทำให้เกิดการชัก ทำให้หาจุดกำเนิดที่ก่อให้เกิดการชักได้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อรู้ตำแหน่งที่ถูกต้องแพทย์จะสามารถให้ยาหรือผ่าตัดได้ถูกต้องในการรักษาคนไข้