หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ห่างโรคกระดูกคดในผู้สูงอายุต้องเลี่ยงพฤติกรรมยกของหนัก

โรคกระดูกคดในผู้สูงอายุ เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบนอกจากโรคกระดูกพรุน ซึ่งมีสาเหตุเดียวกันคือความเสื่อมของร่างกาย โดยเฉพาะหมอนรองกระดูกของผู้สูงอายุโก่งผิดรูป ทำให้เดินหลังแอ่นเดินเอียง ในผู้สูงอายุบางรายที่เป็นมากอาจทำให้ปวดร้าวที่สะโพกลงไปถึงบริเวณปลายเท้า

รู้จักกระดูกคดในผู้สูงอายุ

โรคกระดูกคดในผู้สูงอายุเกิดจากความเสื่อมของร่างกายคนปกติ เมื่ออาการเสื่อมที่หมอนรองกระดูกทั้งด้านซ้ายและด้านขวาที่ไม่เท่ากัน จะทำให้อีกข้างหนึ่งทรุดมากกว่าอีกข้าง จึงเกิดการกระดูกคดในผู้สูงอายุได้ ทำให้ผู้สูงอายุบางรายเดินเอียงหรือเดินแอ่นหน้าและหลัง แต่ในผู้สูงอายุบางรายที่มีปัญหากระดูกคดที่ได้รับการเอกซเรย์แล้วว่ามีภาวะดังกล่าวจริง แต่ไม่รู้สึกเจ็บปวด แพทย์จะพิจารณาให้ดูอาการต่อไปโดยยังไม่ต้องรีบรักษาและไม่จำเป็นต้องไปดัดกระดูกให้ตรงแต่อย่างใด

แต่ในผู้สูงอายุบางรายที่ป่วยเป็นโรคกระดูกคดแล้วไปทับเส้นประสาทร่วมด้วยจะส่งผลให้คนไข้เกิดอาการปวด เช่น ปวดร้าวตั้งแต่สะโพกและเท้า ทำให้กระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนสูงวัยนั้น แพทย์ก็ต้องดูว่าเป็นมากน้อยแค่ไหน ส่วนขั้นตอนในการรักษามีทั้งการผ่าตัด การให้ยา กายภาพบำบัด หรือการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปตรงรากประสาทเพื่อรักษาอาการปวด ซึ่งอันนี้ก็เป็นแนวทางการรักษาหนึ่งที่จะทำให้เราหลีกเลี่ยงการผ่าตัดได้ ถ้าคนไข้รักษากินยาแล้วอาการดีขึ้นก็ไม่ต้องรักษาเพิ่มเติมหรือผ่าตัดตามมา


กระดูกคดในผู้สูงอายุต้องดูแล

โรคกระดูกคดในผู้สูงอายุนั้นจะพบได้ในบริเวณเอว ซึ่งเอวจะเป็นแหล่งรวมของรากประสาท ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการปวดตั้งแต่สะโพกลงไปถึงอวัยวะส่วนล่าง ทำให้กระทบต่อการดำเนินชีวิตได้ แต่ในผู้สูงอายุบางรายที่เป็นโรคดังกล่าว หรือภาวะที่กระดูกคดมาก ๆ และไปกดทับบริเวณไขสันหลัง ก็มีโอกาสเสี่ยงโรคอัมพาตได้เช่นกัน ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ผู้สูงอายุปรับอิริยาบถ เช่น ไม่ควรยกของหนัก เดินขึ้น – ลงบันได หรือไม่ใช้อุปกรณ์แบบสั่นเป็นเวลานานติดต่อกัน เช่น เครื่องนวดตัวที่มีการสั่นแรง ๆ หรือผู้สูงอายุที่เป็นช่างไม้ต้องเจาะสว่าน ฯลฯ เพราะนั่นอาจยิ่งเป็นตัวเร่งให้หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็วและเป็นสาเหตุที่ทำให้กระดูกคดได้ นอกจากนี้ผู้สูงอายุควรงดการสูบบุหรี่ เพราะมีข้อมูลทางการแพทย์ที่เชื่อได้ว่า การสูบบุหรี่เพิ่มโอกาสทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็วขึ้น และทำให้เกิดโรคกระดูกคดในผู้สูงอายุได้มากยิ่งขึ้น