หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
หายห่วงเรื่องเปลี่ยนข้อสะโพกกับเทคนิคผ่าเปลี่ยนข้อสะโพกแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ

ปัจจุบันมีการค้นพบสาเหตุของความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน ที่พบมากในประเทศไทยคือ โรคข้อสะโพกตายจากการขาดเลือด ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวกระดูกสะโพกอุดตันหรือขาดไป พบมากในผู้สูงอายุที่เสื่อมสังขารลงตามวัย ทำให้กระดูกผิวข้อสึกกร่อน หรือในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนมักพบในบรรดานักดื่มคอแอลกอฮอล์ทั้งหลาย รวมทั้งผู้ที่กินยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ทำให้เลือดหนืดเส้นเลือดอุดตันไม่สามารถเลี้ยงหัวกระดูกสะโพก ซึ่งยื่นขึ้นไปทางด้านบนได้ หรือได้รับบาดเจ็บกระดูกสะโพกหัก ทำให้กระดูกข้อสะโพกอ่อนตัวแล้วยุบลงเหมือนบ้านทรุด

กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน

อาการของโรคนี้คือ ปวดสะโพกเรื้อรัง ทั้งเวลาขยับตัว เคลื่อนไหว หรือนอนหลับ รู้สึกตึงที่สะโพกเวลาลุกนั่ง รู้สึกเจ็บเวลาลงน้ำหนัก ขึ้นลงบันไดไม่สะดวก การรักษาในแต่ละระยะไม่เหมือนกัน เริ่มตั้งแต่การให้ยา การทำกายภาพ จนถึงการผ่าตัด

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวกับโรคข้อสะโพกเพิ่มมากขึ้น สถิติของโรคข้อเสื่อมข้ออักเสบมีประมาณ 3.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในวัย 25 ปีพบว่ามีอัตราข้อเสื่อมเท่ากับ 4.9% วัย 45 ปีพบว่ามีอัตราข้อเสื่อมเท่ากับ 19.2% และในวัย 60 ปีพบว่ามีโอกาสเกิดข้อเสื่อมสูงถึง 37.4% และพบว่ามีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมปีละกว่า 25,000 ราย

หากจำเป็นต้องผ่าตัด การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าพิจารณา

การผ่าตัดแบบเดิม VS การผ่าตัดแนวใหม่

การผ่าตัดแบบเดิมที่ต้องผ่าตัดทางด้านหลังสะโพก (Posterior Approach) บางครั้งเข้าทางด้านข้างสะโพก (Lateral Approach) และจำเป็นต้องตัดกล้ามเนื้อ ซึ่งมีปริมาณมาก กับการผ่าตัดแนวใหม่ซึ่งเป็นการผ่าตัดทางด้านหน้า โดยใช้วิธีแหวกกล้ามเนื้อสองมัดเข้าไป ส่งผลให้ไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน

การผ่าตัดแบบเดิมต้องผ่าตัดด้านหลัง บางครั้งก็ด้านข้าง โดยคนไข้ต้องนอนตะแคงข้างและมีการบิดขา ทำการตัดกล้ามเนื้อหลังตรงสะโพก ซึ่งหนามากเพื่อผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้วก็ทำการเย็บกล้ามเนื้อปิด ซึ่งการผ่าตัดแบบเดิมนี้ทำให้มีปัญหาในการฟื้นตัว เพราะจะใช้เวลาฟื้นตัวนานและเจ็บ อีกทั้งยังต้องระวังสะโพกหลุด เพราะเมื่อผ่าตัดทางด้านหลัง หากบิดขามากเกินไปหรืองอสะโพกเยอะไปสะโพกอาจหลุดได้ง่าย คนไข้จึงถูกสั่งห้ามทำกิจกรรมหลายอย่าง ต้องนั่งเก้าอี้สูงเป็นเวลานาน 6 สัปดาห์ เวลานอนต้องกางขา และห้ามชันเข่า คนไข้จะมี pre – caution เยอะมาก

เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแนวใหม่ ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่แม้จะใช้เวลาใกล้เคียงกัน แต่การฟื้นตัวเร็วกว่าเดิมมาก การผ่าตัดเข้าจากด้านหน้าข้อสะโพก (Direct Anterior Approach) เป็นการผ่าตัดทางด้านหน้า โดยผู้ป่วยจะนอนหงายขณะผ่าตัด ทำให้กายวิภาคไม่ผิดท่ามากนัก จากนั้นจึงใช้เครื่องมือแหวกกล้ามเนื้อระหว่าง Tensor fascia lata กับ Sartorius ซึ่งจะไม่ตัดกล้ามเนื้อใด ๆ โดยระหว่างการผ่าตัดแพทย์จะใช้เครื่องฟลูออโรสโคป C – ARM ช่วยเพิ่มความถูกต้องในการใส่ข้อสะโพกเทียมและประเมินความสั้นยาวของสะโพก จึงหมดห่วงว่าหลังผ่าตัดแล้วขาทั้งสองข้างสั้นยาวไม่เท่ากัน

นอกจากนี้แผลยังมีความยาวเพียง 3 – 4 นิ้ว (ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล) และตื้นมาก สำหรับสุภาพสตรีที่รักความสวยงามยังสามารถซ่อนแผลใต้ขอบบิกินี่ (Bikini Incision) ได้อีกด้วย โดยการผ่าตัดแนวใหม่นี้ข้อสะโพกเทียมที่ใส่ลงไปใหม่จะถูกล็อคด้วยกล้ามเนื้อสะโพกอย่างเป็นธรรมชาติ จึงหมดกังวลเรื่องสะโพกหลุด การสูญเสียเลือดน้อย คนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว อาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อย จึงสามารถเดินได้ตามปกติ ไม่ต้องกะเผลกเอียงตัว สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เร็ว ทำงานและเล่นกีฬาได้ภายใน 2 – 8 สัปดาห์ มีคนไข้หลายรายที่สามารถเดินได้ทันทีเช่นกัน ไม่ต้องห่วงหากต้องลงน้ำหนักที่ข้อสะโพก

ทางศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลยังมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างภาพจำลองก่อนการผ่าตัดจริงอีกด้วย เรียกว่า Digital Template Surgical Planning โดยจะใส่บอลมาร์คเกอร์ขนาด 1 นิ้วลงไปด้วยเวลาเอกซเรย์เพื่อเป็นการจำลอง จากนั้นนำมาคำนวณว่าต้องใช้ขนาดเท่าไร มีการวัดองศามุมต่าง ๆ โปรแกรมนี้จะเลือกขนาดของข้อสะโพกเทียมที่ควรใช้และสามารถปรับเปลี่ยนได้หมด แต่ก่อนใช้วิธีนำไดอะแกรมคร่าว ๆ ไปวางทาบกับแผ่นเอกซเรย์ ซึ่งโอกาสผิดพลาดสูง แต่ด้วยโปรแกรมนี้สามารถหมุนดูระดับความเอียงของมุมได้ จึงถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น

จากการศึกษาของทั่วโลก การผ่าตัดแบบเข้าทางด้านหน้ามีเปอร์เซ็นต์การหลุดของข้อสะโพกเทียมต่ำ คือ 0 – 0.5% ขณะที่การผ่าตัดแบบเข้าทางด้านหลังมีโอกาสหลุดของข้อสะโพกเทียมถึง 2 – 4% เลยทีเดียว ส่วนการผ่าตัดแบบเข้าทางด้านข้างเสี่ยงหลุด 1 – 2%

สำหรับวัสดุที่ใช้เป็นข้อสะโพกเทียมมีให้เลือกหลายแบบ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ เพราะมีทั้งเซรามิก พลาสติก และโลหะให้เลือกใช้ โดยที่แพทย์จะพิจารณาจากวัยของผู้ป่วย หากอายุยังไม่มากอาจแนะนำให้ใช้เซรามิก เพราะมีอายุการใช้งานนานกว่าวัสดุชนิดอื่น แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูไลฟ์สไตล์ของผู้ป่วยประกอบ เพราะหากเป็นคนชอบวิ่งก็อาจใช้เซรามิกคู่กับพลาสติก เพื่อให้ทนทานขึ้น ด้วยการผ่าตัดแนวใหม่นี้จึงสร้างความสบายใจให้กับผู้ป่วยอย่างมาก