หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ผ่าตัดกระดูกสันหลังคดด้วยเทคนิค DLIF

DLIF คืออะไร

DLIF (ดี – ลิฟท์) มาจาก Direct Lateral Interbody Fusion หมายถึง การผ่าตัดเสริมหมอนรองกระดูกแบบแผลเล็กข้างลำตัว ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ที่รักษาอาการโรคปวดหลัง ปวดขาจากกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด มีจุดเด่นคือ ไม่เลาะทำลายกล้ามเนื้อหลัง เสียเลือดน้อย แผลเล็ก คนไข้ฟื้นตัวเร็ว แนวโน้มการผ่าตัดแบบ DLIF เป็นเทคนิคการผ่าตัดเสริมหมอนรองกระดูกแบบแผลเล็กข้างลำตัว โดยกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก สังเกตได้จากศัลยแพทย์ส่วนใหญ่ให้การยอมรับเทคนิคนี้ในการรักษาผู้ป่วยปวดหลัง ซึ่งมีปัจจัยมาจากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อนหรือเลื่อนทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคดในผู้สูงอายุ เป็นต้น


ข้อดีของ 
DLIF คืออะไร

ด้วยการผ่าตัดเสริมหมอนรองกระดูกสันหลังผ่านทางด้านข้างลำตัวโดยไม่เลาะกล้ามเนื้อหลัง (Direct Lateral Interbody Fusion DLIF) เทคนิคนี้จะช่วยให้คนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดมีแผลเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเดิม ลดความเจ็บปวดและฟื้นตัวได้รวดเร็ว เนื่องจากไม่มีการเปิดแผลเลาะกล้ามเนื้อหลัง เสียเลือดน้อยลง ผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินชีวิตและมีกิจกรรมได้ตามปกติเร็วขึ้น

โดยเทคนิคนี้ต้องใช้เครื่องมือติดตามการทำงานของระบบประสาทขณะผ่าตัด หรือ IONM (Intraoperative Neuromonitoringส่งผ่านท่อขนาดเล็กขนาด 1 นิ้ว เพื่อติดตามการทำงานของเส้นประสาทและไขสันหลัง และใส่อุปกรณ์หนุนหมอนรองกระดูกไปแทนที่หมอนรองกระดูกที่เป็นปัญหาเดิม ทำให้กระดูกสันหลังข้อนั้นแข็งแรงขึ้น รับน้ำหนักร่างกายได้ดีขึ้น อาการปวดหลังลดลง

นอกจากนี้ยังสามารถแก้ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนไปด้านหน้า (Spondylolisthesisหรือภาวะกระดูกสันหลังคด (Scoliosisในผู้ป่วยสูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องเลาะกล้ามเนื้อหลัง หรือตัดทำลายกระดูกสันหลัง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาปวดหลังเรื้อรัง ภาวะพังผืดเกาะเส้นประสาท ภาวะสกรูหลุดหลวม รวมถึงภาวะสูญเสียกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัดแบบเดิม

เทคนิคดังกล่าวถือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องปวดหลังจากสาเหตุต่าง ๆ ด้วยการผ่าตัดด้านข้างลำตัว และเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกสันหลัง ช่วยเพิ่มผลสำเร็จของการผ่าตัด รวมทั้งโรคแทรกซ้อนจากการผ่าตัดก็ลดลงด้วยเช่นกัน

การผ่าตัดวิธีใหม่เข้าข้างลำตัวนี้เป็นทางเลือกที่ช่วยตอบโจทย์หลายอย่างที่แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลังต้องการให้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีปัญหาปวดหลัง และเชื่อว่าเทคนิคผ่าตัดด้วยวิธี DLIF จะกลายเป็นมาตรฐานการผ่าตัดกระดูกสันหลังอีกวิธีหนึ่งในอนาคต

DLIF ย่นระยะเวลาพักฟื้นอย่างไร

จากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยที่ผ่าตัดหลังด้วยเทคนิควิธี DLIF พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถเดินได้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด สามารถมีกิจกรรมและออกกำลังกายตามปกติได้ภายใน 3 เดือน เนื่องจากมีการเชื่อมติดของกระดูกสันหลังสมบูรณ์เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเดิมที่ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน หรือมากกว่าเพื่อรอให้กระดูกสันหลังเชื่อมต่อกันสนิทส่งผลให้กล้ามเนื้อลีบ

DLIF รักษาสเถียรภาพกระดูกสันหลังอย่างไร

นอกจากนี้ข้อดีของการผ่าตัดเสริมหมอนรองกระดูกจากด้านข้างลำตัว คือ สามารถรักษาเสถียรภาพของกระดูกสันหลัง การเสริมหมอนรองกระดูกแต่ละปล้องที่ทรุดตัวอยู่ทำได้ง่าย แม้ในกลุ่มของผู้สูงอายุ เนื่องจากการผ่าตัดเทคนิค DLIF  ไม่จำเป็นต้องเปิดเลาะเข้าไปรบกวนการทำงานของเส้นประสาท ไม่ต้องสัมผัสกับเส้นประสาท ยังช่วยให้การหายปวดเป็นไปได้อย่างดี ลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจากการบาดเจ็บฉีกขาดของเส้นประสาท ไม่เสี่ยงต่อการรั่วของถุงหุ้มเส้นประสาท และที่สำคัญคือไม่เสี่ยงต่อปัญหาการเกิดพังผืดรัดเส้นประสาทในอนาคต ซึ่งจะทำให้เกิดการเจ็บปวดเรื้อรังตามมาได้

 

DLIF แก้ไขปัญหาหมอนรองกระดูกระดับสูง ๆ อย่างไร

เทคนิคการผ่าตัดด้วยวิธี DLIF มีประโยชน์มากในการแก้ไขปัญหาของหมอนรองกระดูกที่อยู่ในระดับสูง ๆ เช่น ระดับกระดูกเอวข้อที่ 1 – ข้อที่ 3 ซึ่งเป็นระดับที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเส้นประสาท เนื่องจากเป็นที่แคบ เป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทที่ใช้ควบคุมความแข็งแรงของต้นขาและการขับถ่าย การผ่าตัดเทคนิคนี้ไม่จำเป็นต้องรื้อเส้นประสาทในบริเวณดังกล่าวจึงลดโอกาสโรคแทรกซ้อนของระบบประสาทไปได้มาก

ที่สำคัญกล้ามเนื้อไม่ชอกช้ำจากการผ่าตัด ผู้ป่วยไม่โทรม ทำกายภาพได้เร็ว เสียเลือดน้อยประมาณ 50 80 ซีซี ต่อ 1 ระดับจากเดิมต้องเสียเลือดประมาณ 300 500 ซีซี ส่วนขนาดแผลผ่าตัด 4 เซนติเมตรจากเดิม 10 เซนติเมตร รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังการผ่าตัดในผู้สูงอายุได้ดี และยังสามารถบรรเทาอาการปวดขา อาการเหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากภาวะกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทได้”

ฟื้นฟูหลังเชื่อมต่อกระดูกสันหลังอย่างไร

การฟื้นฟูหลังการเชื่อมต่อกระดูกสันหลังนั้น แนะนำให้ใช้โปรแกรมเดินซึ่งเริ่มต้นได้ทันทีหลังการผ่าตัด และจะเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน โดยทั่วไปหลังผ่าตัดจะแนะนำให้เดินประมาณ 15 นาที 2 3 ครั้งต่อวัน และประมาณ 30 40 นาที วันละ 2 ครั้งในช่วง 6 สัปดาห์หลังการผ่าตัด ทั้งนี้โปรแกรมการออกกำลังกายจะขึ้นอยู่กับสุขภาพของบุคคลนั้น ๆ และขอบเขตของการผ่าตัด

ข้อแนะนำที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดอีกประการหนึ่งคือ ผู้ป่วยควรงดการสูบบุหรี่หรือใช้สารนิโคตินไม่ว่าชนิดใดก็ตามก่อนการผ่าตัด และอย่างน้อย 3 เดือนหลังการผ่าตัด เพื่อเพิ่มอัตราการประสบความสำเร็จในการผ่าตัดกระดูกสันหลังทุกประเภท โดยเฉพาะจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะการเชื่อมหรือการปลูกกระดูกไม่สำเร็จ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถสมานกระดูกสันหลังเข้าเป็นกระดูกชิ้นเดียวกันได้ เนื่องจากสารนิโคตินจะไปชะลอการสร้างกระดูกใหม่ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดภาวะการใส่สกรู หรือหมอนรองกระดูกล้มเหลวและเกิดการหลวม หลุด ถอนได้


ที่สำคัญหากมีสัญญาณบ่งชี้ เช่น ปวดร้าวลงขา ปวดหลังเป็นประจำทุกวัน จนต้องรับประทานยานานเกิน 1 เดือน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น