เราถูกสอนกันมานานแล้วว่าคนเราต้องนอนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แต่ข้อมูลปัจจุบันพบว่าคนส่วนใหญ่อาจไม่ต้องนอนให้ถึง 8 ชั่วโมงก็ได้ แต่ต้องเป็นการนอนหลับที่มีคุณภาพเพียงพอ


สังเกตตัวเองว่านอนหลับเพียงพอไหม

  1. เมื่อตื่นมาตอนเช้า รู้สึกยังไม่สดชื่น อยากจะนอนต่อไปอีก
  2. ในระหว่างวัน มีอาการง่วงเหงาหาวนอนอยู่เรื่อย ๆ
  3. ถ้ามีโอกาสได้นอนในตอนกลางวันอาจหลับไปภายในเวลา 5 นาทีเท่านั้น

การนอนไม่พอมีผลต่อร่างกายอย่างแน่นอน ถ้านอนน้อยไปเพียง 1 วันอาจไม่เห็นผลกระทบที่รุนแรงนัก อย่างมากก็แค่ง่วงซึมบ้างในช่วงกลางวัน แต่พอตกกลางคืนเมื่อได้นอนอย่างเต็มอิ่มอีกครั้ง ร่างกายจะฟื้นตัวกลับมาสดชื่นได้อีกในวันรุ่งขึ้น แต่ถ้ายังคงอดนอนต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะยิ่งเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น


ผลกระทบการอดนอนต่อร่างกายและอารมณ์

  • ร่างกายอ่อนเพลีย
    เพราะไม่มีการสำรองพลังงานมาใช้ในวันรุ่งขึ้น  มีผู้กล่าวว่าถ้าร่างกายมีพลังงานอยู่เท่ากับ 100% จะหมุนเวียนพลังงานใช้จริงอยู่เพียง 70% ที่เหลืออีก 30% จะเป็นพลังงานสำรองของชีวิตเอาไว้ใช้ในยามป่วยไข้ไม่สบายหรือใช้ในภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ รวมถึงภาวะอดนอนนี้ด้วย จึงพบว่าถ้าอดนอนสั้น ๆ จะไม่เป็นอะไรมาก  แต่ถ้านานไปพลังงานที่เหลือ 30% นี้ก็จะร่อยหรอลงและเมื่อนั้นก็จะมีอาการไม่สบายชัดเจนขึ้น
  • เกิดโรคอ้วนตามมาได้ 
    เนื่องจากเกิดความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดมีไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้องรับประทานมากยิ่งขึ้น อาการจะคล้ายกับผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบที่ 2 (Diabetes type 2) การที่เราตื่นอยู่นานแบบอดนอน ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้น จึงรู้สึกอยากรับประทานอาหารมากยิ่งขึ้นไปอีก จากหลักฐานการศึกษาพบว่า ความอ้วนที่เกิดจากการอดนอนพบได้บ่อยขึ้นในคนอายุน้อย หรือในวัยกลางคนมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ ปัจจัยเสริมอย่างอื่น เช่น การดูทีวีรอบดึกก็มีผลให้อยากรับประทานอาหารเพิ่มอีก 1 มื้อ หรืออยากรับประทานขนมขบเคี้ยวมากขึ้นก็จะยิ่งเป็นตัวเสริมให้อ้วนขึ้นไปเรื่อย ๆ
  • ร่างกายไม่เจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็ก
    เนื่องจากฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญเติบโตถูกสร้างน้อยลง รวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกรบกวน ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการอดนอนเลยก็เกิดขึ้นได้

อดนอนเรื้อรังส่งผลต่อการทำงานของสมอง 

  • ทำให้หลอดเลือดสมองตีบ 
    มีผลการศึกษาทางการแพทย์รายงานว่า ผู้ที่มีปัญหาปวดศีรษะและความจำไม่ดีจำนวนหนึ่งเมื่อตรวจเอกซเรย์สมองแล้วพบว่ามีหลอดเลือดสมองตีบ และเมื่อสืบประวัติย้อนกลับไปพบว่า มีจำนวนมากที่มีประวัตินอนไม่พอร่วมด้วย หลังจากที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้นอนหลับเพิ่มขึ้นก็พบว่า หลอดเลือดสมองที่ตีบนั้นดีขึ้น
  • ทำให้กระบวนการเรียนรู้ช้าลง
    การอดนอนจะมีผลต่อการทำงานของสมองในส่วนต่าง ๆ ให้ทำงานผิดไป เช่น สมองส่วนหน้าสุด (Prefrontal Cortex) จะทำให้การเรียนรู้จากคำพูด (Verbal Learning Tasks) แย่ลง ส่วนกลีบสมองบริเวณขมับ (Temporal lobe) จะทำให้การเรียนรู้ด้านภาษา (Language Processing) ช้าลง
  • ทำให้เกิดอาการงีบหลับสั้น ๆ หรือที่เรียกว่า “หลับกลางอากาศ” หรือ “หลับใน” 
    เกิดจากการที่สมองส่วนธาลามัส (Thalamus) ของคนที่นอนไม่พอ จะหยุดทำงานช่วงสั้น ๆ แบบชั่วคราว อาจเป็นวินาทีหรือนานถึงครึ่งนาที ทำให้เกิดอาการงีบหลับ ไม่ตื่นตัว ไม่ตอบสนองต่อการรับรู้ใด ๆ หรือรับรู้ได้ช้า บางคนเรียกภาวะนี้ว่า “หลับใน” ซึ่งเป็นอันตรายมากถ้าเกิดขึ้นระหว่างที่กำลังขับรถหรือระหว่างการทำงานที่ต้องใช้ความเร็วหรือความแม่นยำด้วย
  • ทำให้เกิดอาการทางจิต
    การอดนอนชนิดรุนแรงสามารถทำให้เกิดภาวะโรคทางจิต (Psychosis) ได้ เช่น อาการหูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด ระแวงกลัวคนมาทำร้าย หรือมีอาการคล้ายคนที่เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนหรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เช่น อารมณ์ร่าเริงสนุกสนานผิดปกติหรือมีอารมณ์เศร้าผิดปกติได้  นอกจากนั้นยังทำให้เกิดอาการหงุดหงิดง่า หรืออารมณ์เสียง่ายมากน้อยตามแต่ความรุนแรงของการอดนอนนั้น


แนวทางการรักษาเรื่องอดนอนที่ได้ผลดีที่สุด คือ การนอนให้พอเพียง อาจจะใช้เวลานอนให้มากกว่าปกติในวันก่อนที่รู้ว่าจะต้องอดนอน และเมื่ออดนอนมาแล้วก็ควรหาเวลานอนชดใช้ให้มากพอ ภาวะอดนอนก็จะดีขึ้นได้เองโดยที่ไม่ต้องไปหาการรักษาที่ยุ่งยากอื่น