หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ปฐมพยาบาลกระดูกหักและข้อเคลื่อน

ข้อเคลื่อน (Dislocation)

ข้อเคลื่อน (Dislocation) คือ การหลุดของข้อออกจากตำแหน่งปกติ ทำให้เยื่อหุ้มข้อนั้นมีการฉีกขาดหรือมีการยึดของกล้ามเนื้อ การที่ข้อเคลื่อนอาจมีอันตรายต่อเส้นประสาทและหลอดเลือดใกล้เคียง

กระดูกหัก (Fracture)

กระดูกหัก (Fracture) คือ ภาวะที่มีการแตกหรือหักของกระดูก บริเวณที่หักอาจจะแตกเป็นรอย จะเคลื่อนออกจากกันหรือไม่ก็ได้ บางครั้งแตกเป็นหลายชิ้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการบาดเจ็บและความรุนแรงของอุบัติเหตุกระดูกหักอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความพิการ หรือในบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้

อาการกระดูกหักและข้อเคลื่อน

  1. เจ็บปวด บวม บริเวณที่มีกระดูกหักหรือข้อเคลื่อน
  2. สีของผิวหนัง รูปร่างของอวัยวะนั้น ๆ เปลี่ยนแปลงไปจากรูปร่างปกติ
  3. ไม่สามารถเคลื่อนไหวบริเวณนั้นได้ หรือเคลื่อนไหวแล้วจะเจ็บปวดมาก
  4. มีการหดสั้นของอวัยวะ เช่น แขน ฯลฯ
  5. อาจคลำพบปลายหรือหัวกระดูกที่เคลื่อนหรือหักออกมา

ปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหักและข้อเคลื่อน

  1. อย่าพยายามดึงข้อหรือจัดกระดูกให้เข้าที่ด้วยตนเอง
  2. หากจำเป็นต้องถอดเสื้อผ้าออก ควรใช้วิธีตัดตามตะเข็บ
  3. ใช้วัสดุที่หาได้หนุนหรือประคองข้อให้บวิเวณที่บาดเจ็บนั้นอยู่นิ่ง ๆ และอยู่ในท่าที่สบาย ด้วยการใช้ผ้าพยุงหรือดามไว้ด้วยเฝือกชั่วคราวให้อยู่ในท่าพัก
  4. ประคบบริเวณที่บาดเจ็บด้วยความเย็น เช่น ผ้าหรือถุงใส่น้ำแข็ง ฯลฯ
  5. การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากสถานที่มีอันตรายไปสู่ที่ปลอดภัยหรือโรงพยาบาล การเคลื่อนย้ายอย่างถูกวิธีจะช่วยลดความพิการและอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้
  6. รีบนำส่งโรงพยาบาล

หลักการเข้าเฝือกชั่วคราว

  1. วัสดุที่ใช้ดามต้องยาวกว่าอวัยวะส่วนที่หัก โดยเฉพาะจะต้องยาวพอที่จะบังคับข้อต่อที่อยู่เหนือและใต้ บริเวณที่สงสัยว่ากระดูกหัก เช่น ขาท่อนล่างหัก ข้อเข่าและข้อเท้าจะต้องถูกบังคับไว้ด้วยเฝือก เป็นต้น
  2. ไม่วางเฝือกลงบนบริเวณที่กระดูกหักโดยตรง ควรมีสิ่งอื่นรอง เช่น ผ้าหรือสำลีวางไว้ตลอดแนวเฝือก เพื่อไม่ให้เฝือกกดบริเวณผิวหนังโดยตรง ซึ่งทำให้เจ็บปวดและเกิดเป็นแผลจากเฝือกกดได้
  3. มัดเฝือกกับอวัยวะที่หักให้แน่นพอที่จะประคองส่วนที่หักได้ แต่ต้องไม่แน่นเกินไป ถ้ารัดแน่นจนเกินไปจะกดขัดขวางการไหลเวียนของเลือด ทำให้เกิดอันตรายได้ ต้องระวังอย่าให้ปมเชือกกดแผล และคอยตรวจบริเวณที่หักเป็นระยะ ๆ เพราะอาจจะมีการบวม ซึ่งจะต้องคลายเชือกที่ผูกให้แน่นน้อยลง
  4. บริเวณที่เข้าเฝือกจะต้องจัดให้อยู่ในท่าที่สบายที่สุด อย่าจัดกระดูกให้เข้ารูปเดิม ไม่ว่ากระดูกที่หักจะโค้ง โก่ง หรือ คด ก็ควรเข้าเฝือกในท่าที่เป็นอยู่