อุบัติเหตุทางจราจรถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกหัก ซึ่งกระดูกหักไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะแม้บางทีจะไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่การรักษาที่ไม่เหมาะสมอาจนำมาซึ่งความพิการถาวรได้


สาเหตุหลักของภาวะกระดูกหักที่นอกจากอุบัติเหตุจราจรแล้ว ยังมีอุบัติเหตุจากการทำงาน รวมไปถึงการเล่นกีฬา และที่น่าเป็นห่วงเพราะพบตัวเลขสูงขึ้นเรื่อย ๆ คือ ภาวะกระดูกหักในผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันการรักษากระดูกหักมีความก้าวหน้าขึ้นมาก สำหรับในเมืองไทยต้องยกเครดิตให้กับนพ.สุทร บวรรัตนเวช ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ผู้บุกเบิกเทคนิคและวิธีการรักษากระดูกหักมายาวนานกว่า 30 ปี ด้วยประสบการณ์และความสามารถเป็นที่รู้จักและยอมรับของแพทย์กระดูกระดับนานาชาติจึงได้รับการโหวตให้ดำรงตำแหน่ง President of AO Foundation ในปี 2014 ซึ่งนับเป็นแพทย์ชาวไทยและชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้


วินิจฉัยกระดูกหัก

ในการวินิจฉัยกระดูกหักนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายและซักประวัติ เพื่อดูว่ากระดูกหักส่วนไหน หักแบบใด รุนแรงแค่ไหน หักเข้าไปในข้อหรือไม่ กระทบต่อเส้นเลือดหรือเส้นประสาทใกล้เคียงหรือไม่ จากนั้นจะนำมาวิเคราะห์และวางแผนรักษาร่วมกับผู้ป่วย เพื่อให้ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับผู้ป่วย


หลักการรักษากระดูกหัก

หลักในการรักษากระดูกหักมีอยู่ 5 ขั้นตอน เรียกง่าย ๆ ว่า 5R คือ

  1. Recognition เป็นการตรวจวินิจฉัยดูลักษณะการหักโดยละเอียด เพื่อวางแผนและเตรียมอุปกรณ์รักษาให้พร้อม
  2. Reduction คือ การจัดกระดูกให้เข้าที่ใกล้เคียงสภาพเดิม
  3. Retention คือ การให้กระดูกอยู่นิ่งหลังจัดกระดูกก่อนเข้าเฝือกเพื่อให้กระดูกสมานตัวตามธรรมชาติ
  4. Rehabilitation เป็นการฟื้นฟูทั้งส่วนที่ได้รับบาดเจ็บและจิตใจผู้ป่วย
  5. Reconstruction เป็นการแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่สูญเสียหรือจากผลแทรกซ้อนให้กลับมาใช้งานได้ตามเดิม


รักษากระดูกหัก

การรักษาโดยทั่วไปจะมี 2 แบบหลัก ๆ คือ การรักษาแบบไม่ผ่าตัดและการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ดังนี้

  1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด จะเป็นการเข้าเฝือกและการดึงถ่วงน้ำหนัก
  • การเข้าเฝือก มักใช้กับกระดูกส่วนแขนหรือขาท่อนล่าง รวมทั้งใช้เพื่อจัดกระดูกผิดรูปในเด็กได้ด้วย 
  • การดึงถ่วงน้ำหนัก จะใช้กับกระดูกต้นขาหรือในกรณีที่มีการดึงรั้งของกล้ามเนื้อ โดยแบ่งออกเป็น 2 วิธีย่อยๆ คือ
  1. Skin Traction หรือการดึงกระดูกทางอ้อม โดยใช้แรงดึงผ่านผิวหนังด้วยน้ำหนักไม่เกิน 5 กิโลกรัม ผ่านทางสายดึง เทปกาว และปลอกรัดข้อมือข้อเท้า มักทำในเวลาสั้น ๆ
  2. Skeletal Traction ใช้ในกรณีต้องการดึงถ่วงน้ำหนักมากขึ้น แต่น้ำหนักไม่ควรเกิน 1 ใน 6 ของผู้ป่วย ต้องใช้เหล็กเส้นเล็ก ๆ แทงผ่านกระดูก และมีอุปกรณ์เพื่อดึงออกแรงผ่านกระดูกโดยตรง

        ทั้งนี้วิธีดังกล่าวผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน จนอาจเกิดแผลกดทับหรือติดเชื้อแทรกซ้อนได้

       2. การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ใช้วิธียึดตรึงกระดูกแบบแผลเล็ก ซึ่งแม้จะเคลื่อนไหวได้ทันทีหลังการผ่าตัด แต่ต้องงดเว้นการใช้งานหนักประมาณ 1 – 2 เดือน รวมถึงอาจต้องใส่เฝือกต่ออีกระยะ ประกอบด้วยการตรึงกระดูกด้วยอุปกรณ์ 3 ประเภทแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม ได้แก่
  1. เหล็กแกน (Nail) นิยมใช้ในการรักษากระดูกหักบริเวณส่วนกลางของกระดูก เช่น ต้นแขน ต้นขา และขาท่อนล่าง
  2. เหล็กแผ่นเป็นรูและใส่สกรูยึด (Plate and Screw) มักใช้หลังการจัดกระดูกเพื่อตรึงกระดูกให้นิ่งอยู่กับที่
  3. โครงเหล็กยึดกระดูกภายนอก (External Fixator) จะถูกเจาะเข้าไปในกระดูกห่างจากบริเวณกระดูกหักทั้ง 2 ด้านของกระดูกหัก จากนั้นดึงกระดูกให้เข้าที่และประกอบโครงจากภายนอกเพื่อยึดกระดูกให้อยู่กับที่ อุปกรณ์นี้ใช้ในกรณีที่มีแผลเปิดเท่านั้น


การพิจารณารักษาด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดนั้นต้องมีการปรึกษาหารือกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย เนื่องจากต้องใช้เวลารักษานาน ผู้ป่วยอาจจะต้องหยุดงานนานหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตปกติ เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยจึงเป็นทางเลือกใหม่ในการย่นเวลารักษาลงได้ ซึ่งโรงพยาบาลกรุงเทพใช้ทั้งเทคโนโลยีและทีมแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกหักเพื่อช่วยกันดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด ด้วยเป้าหมายว่าให้ผู้ป่วยบาดเจ็บน้อย เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็ว