หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
แนวทางการรักษาภาวะนอนไม่หลับ

แนวทางการรักษาภาวะนอนไม่หลับ ประกอบด้วย การรักษาโดยไม่ใช้ยาและการรักษาโดยใช้ยา

การรักษาโดยไม่ใช้ยา (Non-pharmacologic treatment)

การรักษาโดยไม่ใช้ยา (Non-pharmacologic treatment) เป็นการรักษาหลักสำหรับภาวะนอนไม่หลับ ประกอบไปด้วย
  1. การปรับให้มีสุขอนามัยการนอนที่ดี (Good sleep hygiene) เป็นการรักษาที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นพื้นฐานของการรักษาภาวะของโรคนี้ในผู้ป่วยทุกราย การมีสุขอนามัยการนอนที่ดี ทำได้โดยการปรับสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะสมต่อการนอนหลับ และนำหลักของการเหนี่ยวนำให้เกิดอาการง่วงนอนตามธรรมชาติมาใช้ เช่น การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะในช่วงเย็นเพื่อให้เหนื่อยเพลีย ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงผลักดันของระบบ Homeostasis ให้มากขึ้น หรือการเข้านอนให้เป็นเวลาและปิดไฟในห้องนอนให้มืดสนิท เพื่อช่วยให้ระบบ Circadian rhythm ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยไม่ถูกรบกวนจากปัจจัยภายนอก เป็นต้น ข้อมูลของการปรับสภาพแวดล้อมและสมดุลของร่างกายให้เหมาะสมกับการนอนหลับได้แสดงไว้แล้วในตารางที่ 1
  2. การฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย (Progressive relaxation training) ซึ่งช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อเพื่อทำให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น
  3. การรักษาด้วยความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive-Behavioral therapy) โดยเน้นที่การปรับความคิดเพื่อนำไปสู่การปรับพฤติกรรมและอารมณ์ การรักษาวิธีนี้ได้ประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ปัญหาที่เกิดร่วมกับโรคทางอารมณ์และกลุ่มโรควิตกกังวล
  4. การควบคุมปัจจัยกระตุ้น (Stimulus control)
  5. การจำกัดชั่วโมงในการนอน (Sleep restriction) สำหรับรายที่มีอาการรุนแรงหรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย แพทย์จะให้การรักษาด้วยการปรับสุขอนามัยการนอนและการรักษาโดยการไม่ใช้ยา วิธีอื่น ๆ ร่วมไปกับการรักษาด้วยยา จะได้กล่าวต่อไป

ตารางที่ 1: การปรับสภาพแวดล้อมและสมดุลของร่างกายให้เหมาะสมกับการนอนหลับ

การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ Circadian Rhythm

การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ Homeostasis (ระบบสมดุลในร่างกาย) โดยเพิ่มสิ่งที่ทำให้ง่วง และลดสิ่งเร้าที่ทำให้รู้สึกตื่นตัว 

เข้านอนเมื่อรู้สึกง่วงนอน

งดการงีบหลับในช่วงกลางวัน

จัดห้องนอนให้เงียบ มีอุณหภูมิเหมาะสม และมีแสงสว่างรบกวนน้อยที่สุด

งดใช้ยาหรือสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการตื่นตัว เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอล์ ในช่วงเวลาเย็นและค่ำ 

ไม่ควรใช้ห้องนอนสำหรับกิจกรรมอื่น นอกจากการนอนหลับ เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นเกม

งดอาหารมื้อใหญ่ในช่วงใกล้เวลาเข้านอน

เข้านอนและตื่นตอนในเวลาเดียวกันเป็นประจำทุกวัน 

ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหมในช่วงใกล้เวลาเข้านอน

ถ้าไม่สามารถหลัได้ภายใน 15 – 20 นาที อย่าพยายามฝืนนอนต่อ แนะนำให้ลุกขึ้นจากที่นอน เพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ สักพักจนเกิดความรู้สึกง่วงนอนใหม่ แล้วจึงค่อยกลับไปนอน 

งดกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวอย่างมาก เช่น การดูหนังสยองขวัญก่อนเข้านอน

การรักษาด้วยการใช้ยา (Pharmacologic treatment)

การรักษาด้วยยาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในสังคม ยาเหล่านี้มักถูกเรียกว่า “ยานอนหลับ” แต่แท้จริงแล้วยานอนหลับไม่ได้หมายถึงยาชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่เป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มของยาหลากหลายชนิดที่มีผลโดยตรงหรือมีผลข้างเคียง ทำให้เกิดอาการง่วงและทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น ดังนั้นยานอนหลับจึงมีหลายชนิด มีกลไกการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป

สำหรับยานอนหลับที่ออกฤทธิ์โดยตรงต่อสมองคือ กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) โดยออกฤทธิ์เพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทชนิดยับยั้งที่เรียกว่า ‘กาบา (GABA)’ ในสมอง เมื่อมีสารนี้เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดอาการนอนหลับโดยตรง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ช่วยคลายกังวล หยุดอาการชัก และคลายกล้ามเนื้อได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงมาก เพราะยาส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ยาวนานกว่าการนอนหลับปกติของคนเรา ทำให้ผู้ที่รับประทานยารู้สึกง่วงนอน สะลึมสะลือในตอนเช้า ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้ถ้าใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการติดยาและทำให้สมองดื้อยา ลดการตอบสนองต่อยา ทำให้ปริมาณยาที่ใช้ในขนาดเดิมไม่ได้ผล ต้องใช้ขนาดยาสูงขึ้นเพื่อให้ได้ผลการตอบสนองเท่าเดิม เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยาได้มากยิ่งขึ้น และมีโอกาสที่จะติดยาได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ถ้าหยุดยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนอย่างทันทีทันใดหลังจากการรับประทานต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิด ‘อาการขาดยา’ เช่น มือสั่น ใจสั่น ซึมเศร้า และอาจทำให้เกิดอาการชักได้

ยากลุ่มแรกที่นิยมใช้เพื่อทำให้เกิดอาการง่วง ได้แก่ ยาลดน้ำมูกในกลุ่มยาแอนตี้ฮิสตามีน (Antihistamine) เนื่องจากยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงคือ ทำให้เกิดอาการง่วง แต่ผลดังกล่าวมักจะไม่มากและความรู้สึกง่วงนอนของแต่ละคนก็แตกต่างกันอีกด้วย

สำหรับยานอนหลับกลุ่มอื่นมักจะเป็นกลุ่มยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคทางระบบประสาทหรือโรคทางจิตเวชเป็นหลัก เช่น กลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressants) ยาเหล่านี้มักมีผลข้างเคียงมาก จึงใช้เฉพาะผู้ที่มีอาการจากโรคทางระบบประสาทหรือโรคทางจิตเวชเท่านั้น

ปัจจุบันมีการนำเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนตามธรรมชาติที่ช่วยส่งเสริมการนอนหลับมาใช้ในการรักษา พบว่าได้ผลดีในภาวะที่เกิดจากการเดินทางข้ามเส้นแบ่งเขตเวลาหรือ ที่รู้จักกันในชื่อว่า Jet lag หรือในรายที่ต้องทำงานเป็นกะ แต่ประสิทธิภาพในการรักษาภาวะโดยตรงยังไม่ชัดเจนและยังขาดข้อมูลการศึกษาผลของการใช้ยานี้ในระยะยาว

ดังนั้นการรักษาด้วยการใช้ยานอนหลับจึงควรเลือกใช้เฉพาะรายที่จำเป็นเท่านั้น และควรเริ่มใช้ขนาดยาที่ต่ำที่สุด ใช้ยาให้น้อยครั้งที่สุด และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดผลอันไม่พึงประสงค์จากยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือการเกิดมะเร็งจากการใช้ยานอนหลับ ไม่ว่าจะใช้ปริมาณยานอนหลับมากหรือน้อยเพียงใดก็ตามก็ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น


โดยสรุปอาการนี้เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยทั้งในคนปกติและคนที่มีโรคประจำตัว นอกจากนี้อาการอาจบ่งบอกถึงอาการของโรคสมองและระบบประสาทได้ ความเข้าใจกลไกการนอนของมนุษย์จึงมีผลต่อการรักษา การวินิจฉัย และหาสาเหตุนั้น แพทย์จำเป็นต้องได้รับข้อมูลประวัติการนอนหลับที่ละเอียด รวมถึงประวัติการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้อง การตรวจการนอนหลับด้วยเครื่อง Polysomnography อาจจำเป็นสำหรับผู้ป่วยบางรายที่ยังหาสาเหตุการนอนหลับไม่ได้ชัดเจน หรือผู้ที่อาการยังไม่ดีขึ้น ทั้งที่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม การรักษาหลักที่ใช้รักษา คือ การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการนอน การรักษาด้วยยานอนหลับจะใช้เฉพาะผู้ที่มีอาการเรื้อรังหรือมีปัญหาโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วยเท่านั้น