ปวดศีรษะอาการที่พบได้บ่อยในทุกช่วงอายุ ทั้งเพศชายและเพศหญิง อาการปวดศีรษะทำให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะรุนแรง ทำให้ประสิทธิภาพทำงานไม่ดีเท่าเดิม อาจต้องหยุดงานหรือหยุดเรียน เนื่องจากอาการปวดศีรษะ รวมทั้งยังทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง

ต้นเหตุปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะเกิดได้จากหลายสาเหตุ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ

  1. อาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ (primary headaches) เป็นอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบรับความรู้สึกปวดในสมองและระบบประสาท โดยไม่พบความผิดปกติจากการตรวจทางรังสีวิทยา อาการปวดศีรษะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (tension type headache; TTH) ปวดศีรษะไมเกรน (migraine headache) และกลุ่มอาการปวดศีรษะที่มีความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ร่วมกับระบบประสาทอัตโนมัติ (trigeminal autonomic cephalalgias; TACs) เช่น ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (cluster headache) เป็นต้น
  2. ปวดศีรษะแบบทุติยภูมิ (secondary headaches) เป็นอาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุจากภายในสมอง เช่น เนื้องอกสมอง เลือดออกในสมอง หลอดเลือดดำในสมองอุดตัน การติดเชื้อในระบบประสาท การบาดเจ็บที่ศีรษะ แรงดันน้ำในสมองสูงหรือต่ำกว่าปกติ หรือมีสาเหตุจากอวัยวะภายนอกรอบ ๆ ศีรษะ เช่น ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ต้อหินเฉียบพลัน เส้นเลือดที่ขมับอักเสบ รากฟันเป็นหนอง ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร ซึ่งโรคในกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น การทำเอกซเรย์สมองและเส้นเลือดสมอง (CT, MRI, MRA Brain Scan) การตรวจเลือด การตรวจน้ำไขสันหลัง
  3. อาการปวดเส้นประสาทสมอง ปวดใบหน้า และปวดศีรษะจากสาเหตุอื่น ๆ (painful cranial neuropathies, other facial pains and other headaches) เป็นโรคปวดศีรษะที่เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมอง เช่น อาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (trigeminal neuralgia) อาการปวดเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 (glossopharyngeal neuralgia) อาการปวดเส้นประสาทท้ายทอย (occipital neuralgia) อาการปวดจากเส้นประสาทตาอักเสบ (optic neuritis) ปวดจากภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ (central post-stroke pain) อาการปวดแสบร้อนในปาก (burning mouth syndrome) เป็นต้น