หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

รู้จักหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นโรคของความเสื่อมอย่างหนึ่ง ปกติแล้วหมอนรองกระดูกสันหลังมีลักษณะคล้าย “โช๊คอัพ” อยู่ระหว่าง กระดูกสันหลัง มีคุณสมบัติในการยืดหยุ่น รองรับแรงกระแทกที่เกิดจากการใช้งานกระดูกสันหลัง ในเวลาที่เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเดินหรือกระโดด ตอนเราเด็ก ๆ หนุ่ม ๆ สาว ๆ ภายในหมอนรองกระดูกสันหลังจะมีองค์ประกอบของน้ำเป็นส่วนสำคัญ พอนานวันเข้า ของทุกอย่างย่อมเสื่อม เปอร์เซ็นต์ของน้ำในหมอนรองกระดูกสันหลังก็จะลดลง เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ หมอนรองกระดูกสันหลังของวัยหนุ่มสาวจะเหมือนกับ “ยางลบดินสอ” ที่นิ่ม ในขณะที่หมอนรองกระดูกสันหลังของคนที่มีอายุมากขึ้นจะเหมือนกับ “ยางลบหมึก” ที่ค่อนข้างแข็ง ทำให้ความยืดหยุ่นน้อยลงและเตี้ยลงลักษณะคล้ายกับ “ยางแบน” เมื่อหมอนรองกระดูก ไปกดทับเส้นประสาทส่วนใด ก็จะมีอาการปวดแสดงออกมาตามแนวของเส้นประสาทนั้น

หมอนรองกระดูกบริเวณไหนที่เสื่อมหรือกดทับเส้นประสาทบ่อยที่สุด

หมอนรองกระดูกสันหลังตรงข้อด้านล่างของกระดูกเอว เป็นจุดที่มีความเสื่อมสูงสุดตามสถิติ และพบการกดทับของเส้นประสาทได้บ่อย รวมถึงหมอนรองกระดูกสันหลังที่คอที่มีโอกาสเสื่อมมากเช่นกันจากการใช้งานหนัก ทั้งนี้หากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ยุบตัวลงมา แต่ไม่กดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยก็อาจจะไม่มีอาการปวดแต่อย่างใด เช่นเดียวกันหากหมอนรองกระดูกยังไม่เสื่อม แต่บังเอิญไปกดทับเส้นประสาทก็จะมีอาการเจ็บปวดตามมา

อาการปวดดังกล่าวต่างจากการปวดหลังโดยทั่วไปอย่างไร

กว่า 80 – 90% ของคนไข้ที่ปวดหลัง เป็นอาการปวดของกล้ามเนื้อหลัง ตรงบริเวณกลางหลังหรือปวดเอวด้านล่าง สาเหตุมักเกิดจากการยกของ ออกกำลัง หรือนั่งนาน ๆ หากกดตามแนวกล้ามเนื้อจะรู้สึกเจ็บ เพราะกล้ามเนื้อเกิดอาการล้า แต่สำหรับอาการปวดจากการที่หมอนกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทจะอยู่ลึกกว่า ฉะนั้นกดตรงหลังจะไม่ค่อยเจ็บ แต่หากกดทับเส้นประสาทบางส่วนที่ไปเลี้ยงด้านหลังก็ทำให้ปวดร้าวไปข้างหลังได้ แต่ส่วนมากจะเป็นเส้นประสาทที่ลงไปเลี้ยงที่ขา ซึ่งนอกจากอาการปวดแล้ว อาจมีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย ซึ่งสร้างความทรมานให้กับคนไข้อย่างมาก นอกจากนี้จะมีอาการปวดตรงส่วนที่ระคายเคือง และปวดออกไปตามแนวเส้นประสาท อาการอีกอย่างที่ค่อนข้างชัดคือ จะปวดเวลาไอ จาม หรือเบ่ง อากัปกิริยาเหล่านี้จะไปเพิ่มแรงดันในไขสันหลัง นี่เป็นอาการบ่งชี้ที่น่าสงสัยว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

ภาวะนี้พบมากในวัยใด

ส่วนใหญ่โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทจะเกิดกับคนไข้ 2 กลุ่ม ที่พบบ่อยคือ

  1. กลุ่มผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเริ่มมีความเสื่อมของกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมอยู่แล้ว พอออกแรงหรือใช้แรงเบ่งมาก ๆ อาจทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังแตกออกมากดทับเส้นประสาทได้ในทันที เรียกว่า โรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทชนิดเฉียบพลัน
  2. กลุ่มวัยหนุ่มสาวที่มี Activity มาก ๆ ชอบออกกำลังกายหนัก ๆ โลดโผน หรือเคยมีอุบัติเหตุ ย่อมมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกสันหลังได้ง่ายกว่า เปรียบเทียบง่าย ๆ ฝาแฝด 2 คน เหมือนกันทุกอย่าง คนหนึ่งเรียบร้อย อีกคนชอบทำกิจกรรม เล่นบันจี้จัมพ์ อเมริกันฟุตบอล ในบั้นปลายของชีวิต คนที่มี Activity มากจะมีความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังมากกว่า อย่างไรก็ดี คนที่เรียบร้อย หากใช้งานกระดูกสันหลังไม่ถูกต้อง เช่น เป็นพวกออฟฟิศซินโดรม หมอนรองกระดูกสันหลังก็เสื่อมได้เช่นกัน แต่ท้ายที่สุด หมอนรองกระดูกสันหลังของทุกคนต้องเสื่อมสภาพอยู่แล้ว แต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

แนวทางการวินิจฉัยโรค

ปกติแพทย์ทุกคนจะตรวจร่างกายคนไข้ ซักถามประวัติการเจ็บปวดว่าลักษณะของการปวดเป็นอย่างไร เวลาที่แสดงอาการปวด หากตื่นเช้ามาแล้ว รู้สึกปวดหลังทุกวัน แต่พอตอนกลางวันหาย ก็ต้องคิดแล้วว่าสาเหตุเกิดจากสิ่งที่เราทำตอนกลางคืนหรือไม่ เช่น นอนที่นอนนิ่มไป แต่หากตอนเช้าไม่ปวด แต่มาปวดตอนบ่าย ๆ ก็ต้องคิดว่าเป็นที่การใช้งานกระดูกสันหลังผิดท่าหรือเปล่า คนไข้ที่มาพบแพทย์ด้วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังแตกเฉียบพลันก็มี ส่วนใหญ่เป็นนักกอล์ฟที่ต้องใช้แรงเคลื่อนไหว การบิดตัว เอี้ยวตัวมาก คนไข้บางรายมาพร้อมอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการชา รู้สึกเป็นเหน็บ บางคนอาการหนักถึงขั้น “เท้าตก”

กรณีที่เกิดอาการปวดเป็นครั้งแรก ๆ ปวดในคนที่อายุน้อย ปวดโดยที่มีสาเหตุชัดเจน เช่น จากการยกของหนัก ก้ม ๆ เงย ๆ มักจะเป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อหลังที่ไม่ร้ายแรง แพทย์จะรักษาไปตามสภาพอาการ แต่หากกินยาแล้วไม่หาย ปวดเรื้อรัง ปวดลงขาชัดเจน สงสัยว่าคนไข้อาจเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท แพทย์จะส่งคนไข้เข้ารับการตรวจ MRI หรือ CT Scan เพื่อวินิจฉัยแนวทางในการรักษาโรคต่อไป

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการรักษา

ทุกวันนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาโรคใหม่ ๆ ออกมาตลอดเวลา แต่ทุกเทคโนโลยีต่างก็มีข้อดี ข้อจำกัดเฉพาะของแต่ละวิธี เทคโนโลยีที่พูดถึงกันมากในช่วง 5 – 10 ปีที่ผ่านมา คือ การผ่าตัดหมอนรองกระดูกผ่านกล้อง Microscope กำลังขยายสูง และการผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope ซึ่งสามารถใส่เครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้องเข้าไปหยิบหมอนรองกระดูกที่แตกออกได้โดยตรง

ข้อดีคือแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก แต่เวลาผ่าตัด ด้วยเทคโนโลยีทำให้สามารถมองเห็นเส้นประสาทและหมอนรองกระดูกที่ต้องการแก้ไขได้ชัดเจนกว่ามองด้วยตาเปล่า ซึ่งการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและไขสันหลัง หากพลาดพลั้งอาจทำให้เป็นอัมพาตได้

การบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อและอวัยวะข้างเคียงน้อย ทำให้ระยะฟื้นตัวสั้น ผู้ป่วยเจ็บน้อย หายไว กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว แต่จะใช้เทคโนโลยีใดในการรักษานั้น ทีมแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยคำนึงถึงการรักษาซึ่งเน้นการแก้ปัญหาที่สาเหตุเป็นหลัก

การฟื้นฟูและการปฏิบัติตัวหลังการรักษา

หลังการผ่าตัดนำหมอนรองกระดูกสันหลังที่กดทับเส้นประสาทออก ผู้ป่วยก็จะหายปวด แต่ควรได้รับการฟื้นฟูร่างกายภายใต้คำแนะนำของนักกายภาพบำบัดที่จะสอนวิธีดูแลสุขภาพหลังอย่างถูกต้อง การออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหลัง ช่วยในการพยุงกระดูกสันหลัง การปรับเปลี่ยนท่าทางที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การยกของหนัก กรณีผู้บริหารควรระวังเรื่องการนั่งนาน ๆ ควรเปลี่ยนเก้าอี้ที่เหมาะสม หาที่รองหลังมาเสริม และไม่ควรนั่งท่าเดิมนานเกิน 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเจ็บปวดทรมานด้วยโรคนี้อีก สำหรับคุณผู้หญิง กระเป๋าสะพายหนัก ๆ รองเท้าส้นสูง อาจไม่ส่งผลต่อหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท แต่มีส่วนทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้เร็ว ซึ่งรวมถึงการสูบบุหรี่ การมีน้ำหนักตัวที่มากด้วย


พึงตระหนักว่าเราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนหลังหรือเปลี่ยนกระดูกสันหลังใหม่ได้ วิธีการรักษาเป็นเพียงการแก้ไขส่วนที่เสื่อมสภาพเท่านั้น ดังนั้นต้องเข้าใจว่าสุขภาพหลังนับวันมีแต่จะเสื่อมลงและเราก็ต้องอยู่กับหลังของเรานี้ให้ได้ไปอีกนาน


สอบถามเพิ่มเติม
โทร. 0 2310 3000 หรือ โทร. 1719
Email: [email protected]