หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
สะโพกเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม อายุน้อยก็เป็นได้

ความเสื่อมของร่างกายเกิดขึ้นได้จากปัจจัยทางด้านอายุ การใช้ชีวิต พันธุกรรม การทานอาหาร รวมถึงการทานยาบางตัวที่ทำปฏิกิริยาให้ความเสื่อมมาเยือน จึงควรรู้สาเหตุและการดูแลรักษาข้อเข่าเสื่อมและข้อสะโพกเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการใช้งานมานาน ยิ่งถ้าอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป มักจะเจอปัญหานี้ เป็นการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของกระดูกอ่อนผิวข้อ รวมถึงความอ้วน ทำให้น้ำหนักตัวกดทับเข่าโดยตรง บางคนแม้จะผอมก็เป็นข้อเข่าเสื่อมได้ เพราะขาโก่ง เปรียบเทียบเหมือนยางรถยนต์ที่ตั้งศูนย์ไม่ดี แทนที่น้ำหนักจะลงตรงกลางเฉลี่ยเท่า ๆ กันกลับกลายเป็นเข่าข้างที่ถูกใช้งานหนักเสื่อมมากกว่าอีกข้าง

ส่วนปัจจัยหนึ่งที่พบบ่อย คือ พันธุกรรม โดยชาวเอเชียเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าฝรั่ง นอกจากนี้นักกีฬา นักวิ่ง โดยเฉพาะนักฟุตบอล ซึ่งใช้เข่าเยอะและเกิดการบาดเจ็บที่หัวเข่าบ่อย ๆ มีการฉีกขาดของเอ็นส่งผลให้เข่าคลอนแคลน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เข่าเสื่อมเร็ว โดยอาการของโรคนี้ คือ คนไข้รู้สึกปวดข้อเข่า เมื่อย ๆ ตึง ๆ ที่น่องและข้อพับเข่า หรืออาจรู้สึกข้อเข่าขัด เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่

โดย 7 วิธีรักษาข้อเข่าเสื่อมที่ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินพยายาม คือ

  1. ลดน้ำหนัก
  2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เข่าในชีวิตประจำวัน
  3. ทำกายภาพบำบัด
  4. ใส่สนับเข่า
  5. รักษาอาการบาดเจ็บจนกว่าจะหายดี
  6. การฉีดยาน้ำหล่อเลี้ยงข้อสังเคราะห์
  7. การผ่าตัด ก่อนผ่าตัดคนไข้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจะต้องพิจารณาระดับคุณภาพชีวิตเทียบกับอายุคนไข้ เช่น ถ้าคนไข้อายุ 65 ปี แต่ฟังก์ชันการใช้งานเข่าเท่ากับคนอายุ 80ปี เจ็บปวด เดินลำบาก ทำให้ไม่อยากไปไหน ถ้าผ่าตัดแล้วสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตเท่ากับหรือดีกว่าอายุ 65 ถือว่าคุ้มค่า แต่ถ้าอายุ 80 ปี ปวดเข่าพอประมาณ แต่อยากผ่าตัดเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น อาจจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่ามีโรคอะไรบ้างที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการผ่าตัดหรือไม่ จากนั้นทั้งแพทย์และคนไข้ช่วยกันตัดสินใจเพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดี

สิ่งที่ควรรู้ คือ คนอายุน้อยที่เริ่มมีอาการอักเสบของกระดูกอ่อนผิวข้อ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ หรือเกิดจากการใช้งานเข่ามาก หรือมีอาการบาดเจ็บเดิมที่ทำให้เข่าคลอนแคลน หลวม ๆ หรือเกิดจากการติดเชื้อ รวมทั้งมีอาการเยื่อหุ้มข้ออักเสบ บวม เจ็บ มีแนวโน้มจะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมในอนาคตได้เร็วขึ้น

ส่วนการเสริมสร้างกล้ามเนื้อหน้าขาให้แข็งแรงจะช่วยลดอัตราการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ ควรหลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนท่าเดิมนาน ๆ และควรรับแสงแดดอ่อน ๆ ตอนเช้าและเย็นวันละ 10 นาทีขึ้นไป เพื่อป้องกันการขาดวิตามินดี

ท่าบริหารที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อหน้าขา มีดังนี้

  • ท่าที่ 1 ยืนแยกเท้าห่างเท่าความกว้างของสะโพก ย่อเข่าลง เหมือนนั่งเก้าอี้ แล้วลุกขึ้นยืนตรง ทำสลับกันแบบนี้สัก 10 รอบ จะช่วยให้ฟิตขึ้น
  • ท่าที่ 2 นั่งเก้าอี้ จากนั้นยกและเหยียดเข่าให้อยู่แนวระนาบเดียวกับหัวเข่า เกร็งกล้ามเนื้อหน้าขาเล็กน้อย นับ 1 – 10 ปล่อยขาลง ทำแบบนี้ซ้ำสัก 30 ครั้ง ทำวันละ 3 – 4 รอบ ถ้าต้องการเพิ่มความแข็งแรงสามารถหาถุงทรายผูกที่ข้อเท้า เพื่อเพิ่มน้ำหนัก ทำให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้ขนาดของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น

ข้อสะโพกเสื่อม

ส่วนที่เป็นข้อสะโพกคือ ข้อต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานและกระดูกต้นขา ทำหน้าที่งอและเหยียดเวลาเดิน วิ่ง นั่ง นอน จึงทำให้รับน้ำหนักหรือแรงกดแรงบิดในทุกอิริยาบถของร่างกาย หรือแม้กระทั่งการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย เมื่อผ่านการใช้งานนาน ๆ จึงมักเกิดการสึกหรอของผิวข้อ หรือมีการทรุดตัวของหัวกระดูกต้นขา หรือกระดูกสะโพกหัก ซึ่งมักเกิดกับผู้สูงอายุ

สำหรับวัยกลางคนพบว่า ร้อยละ 80 มีปัญหาข้อสะโพกเสื่อม เพราะขาดเลือดไปเลี้ยงที่ส่วนหัวของกระดูกต้นขา เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมาก หรือบางคนกินยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ หรือบางคนเคยเกิดอุบัติเหตุข้อหลุดหรือเป็นรูมาตอยด์ โรคข้อยึดติดแข็ง และโรคติดเชื้อ

ในวัยเด็กก็อาจเป็นโรคนี้ได้ แต่ส่วนมากมักเป็นตั้งแต่กำเนิด เช่น สะโพกหลวมโดยกำเนิดหรือเบ้าสะโพกตื้น จนทำให้ข้อหลวมหรือหลุด รวมทั้งอาจเป็นโรคเยื่อกระดูกเจริญผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือหลังคด ข้อขยับหรือหมุนได้น้อย ทำให้ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน มีอาการเดินโยกเยกผิดปกติ

การสังเกตอาการเพื่อดูว่าตนเองมีอาการของโรคข้อสะโพกเสื่อมหรือไม่ให้ดูจากเวลาเดินหรือวิ่งมีอาการเจ็บแปล๊บ ๆ ที่ข้อสะโพก บริเวณที่เจ็บมักเกิดที่ตำแหน่งด้านหน้าหรือด้านหลังสะโพก และมีอาการเจ็บปวดร้าวลงไปแค่เข่า ไม่ก็เลยไปถึงปลายเท้า หลายคนคิดว่าสะโพกเสื่อมมักเกิดกับผู้สูงอายุ แต้แท้จริงแล้ว คนอายุน้อยที่ยังไม่ถึงเลข 6 ก็สะโพกเสื่อมได้เช่นกัน ถ้าเป็นโรคที่เกิดจากข้อสะโพกเสื่อมมักเกิดทีละข้าง

วิธีชะลอข้อสะโพกเสื่อม ดูแลน้ำหนักตัวอย่าให้โหลดเกินไป ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และใช้ยาสเตียรอยด์ด้วยความระมัดระวัง และหมั่นบริหารกล้ามเนื้อรอบสะโพกให้มีความแข็งแรงด้วย 4 ท่าหลัก คือ

  • ท่าที่ 1 ยืนจับเก้าอี้ แกว่งขาไปด้านหลัง และปล่อยกลับมาด้านหน้า ทำซ้าย – ขวาทีละข้างสลับกัน
  • ท่าที่ 2 จับเก้าอี้ ยกเข่างอขึ้นมาด้านหน้า ปล่อยกลับยืนตรง ทำซ้าย – ขวาทีละข้างสลับกัน
  • ท่าที่ 3 ยืนจับเก้าอี้หรือเสา เตะขาออกไปด้านข้างลำตัว และดึงกลับเข้ามาทำซ้าย – ขวาทีละข้างสลับกัน
  • ท่าที่ 4 นอนตะแคงบนพื้น เอาหัวหนุนแขน ยกขาขึ้นด้านบน ทำซ้าย – ขวาทีละข้างสลับกัน

ส่วนโรคกระดูกพรุนกับข้อสะโพกเสื่อมอาจไม่ได้เกี่ยวเนื่องกันโดยตรง แต่ถัากระดูกซึ่งเป็นฐานของข้อเนื้อแน่นไม่พรุน ไม่ทรุดง่าย โอกาสที่ข้อเสื่อมก็จะน้อยลง การป้องกันทางอ้อม เช่น กินแคลเซียม กินวิตามินดี ช่วยให้กระดูกแข็งแรงและเนื้อแน่นขึ้น

สำหรับการรักษาผู้ที่มีอาการสะโพกเสื่อมด้วยการผ่าตัด แพทย์จะแนะนำข้อเทียมชนิดต่าง ๆ ที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายให้ผู้ป่วยเป็นคนตัดสินใจเลือกใช้ โดยจะบอกข้อดีข้อเสียให้ผู้ป่วยทราบเพราะวัสดุต่าง ๆ นั้นมีราคาและค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน

ปัจจุบันการผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียมจะเป็นวิธี Minimal Invasive Surgery แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กและไม่ได้ตัดกล้ามเนื้อมาก ทำให้เจ็บปวดน้อยลง เสียเลือดน้อยกว่าสมัยก่อน ช่วยให้การฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น ยิ่งมีการวางแผนจากทีมแพทย์จะทำให้ผลการรักษาเป็นไปตามเป้าหมาย ผู้ป่วยหลายคนหลังการผ่าตัดสามารถลุกเดินได้ในวันรุ่งขึ้น ปัจจุบันอายุการใช้งานของข้อเทียมรุ่นใหม่ยาวนานขึ้น เนื่องจากถูกออกแบบมาให้มีรูปร่างที่ดี มีวัสดุผิวสัมผัสที่ดี มีขนาดของหัวที่ใหญ่ ทำให้โอกาสที่ข้อจะเคลื่อนหลุดน้อยลง และเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อมากกว่าเดิม ทำให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น