หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
เคล็ดลับใส่ใจข้อเข่าเพื่อย่างก้าวที่แข็งแรง

ปวดเข่า ข้อเข่าฝืดหรือติดขัด ได้ยินเสียงดังในเข่า เข่าบวม รู้สึกขาไม่มีกำลังหรือเข่าอ่อน ปวดเข่าเวลาขึ้น – ลงทางชันหรือบันได ปวดเวลานั่งกับพื้น เช่น นั่งพับเพียบ ขัดสมาธิหรือคุกเข่า ปวดเวลาเดินบนพื้นราบ ใครที่กำลังมีอาการเหล่านี้อย่านิ่งนอนใจ เพราะคุณอาจกำลังเสี่ยงต่อการเป็น “โรคข้อเข่าเสื่อม” โดยไม่รู้ตัว ซึ่งหลายคนอาจนอนใจว่า โรคนี้มักเป็นในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ทราบหรือไม่ว่า คนวัยทำงานหรือแม้กระทั่งคนที่อยู่ในวัยรุ่นก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

รู้จักข้อเข่า

เข่าเป็นข้อต่อที่มีความซับซ้อนมากที่สุดข้อหนึ่งในร่างกาย เพราะเป็นข้อต่อระหว่างกระดูก ต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง ซึ่งเป็นกระดูกส่วนที่ยาวที่สุดของร่างกาย นอกจากนี้ยังต้องรองรับการหมุน พับและกางออกตามความต้องการในการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างมาก ซึ่งโดยทั่วไปข้อเข่าที่เป็นปกติจะมีช่องว่างระหว่างข้อต่อ ซึ่งจะมีของเหลวที่มีลักษณะข้นมากบรรจุอยู่เรียกว่า น้ำเลี้ยงข้อ (Synovial Fluid) ซึ่งจะคอยทำหน้าที่เหมือนเบาะรองรับข้อต่อ

แต่ในผู้ที่มีอาการข้อเสื่อม น้ำเลี้ยงข้อจะมีความข้นและความยืดหยุ่นลดลงกว่าปกติ ทำให้คุณสมบัติการรองรับแรงกระแทกเมื่อมีแรงกดลงที่ข้อเข่าเสียไป กระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่ป้องกันปลายกระดูกของกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งจะเกิดการกระทบกระแทกและเสียดสีกัน ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการปวดที่เกิดขึ้น

สาเหตุข้อเข่าเสื่อม

สาเหตุหลักของโรคข้อเข่าเสื่อมมาจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนบุข้อที่เกิดจากการใช้งานหนัก เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมของข้อต่อตามอายุและการใช้งาน ส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ แต่ก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลาย ๆ สาเหตุรวมกัน ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็น

  • น้ำหนักตัวมาก เป็นโรคอ้วน
  • ใช้งานข้อเข่ามากเกินไป
  • มีประวัติเคยประสบอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่าอย่างรุนแรง เช่น กระดูกหักเข้าข้อ เอ็นข้อเข่าฉีกขาด แหวนรองข้อฉีดขาด
  • มีประวัติเคยติดเชื้อในข้อเข่า
  • โรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น รูมาตอยด์ หรือ เกาต์

จากการศึกษาพบว่า เพศหญิงมีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย รวมถึงมีปัจจัยด้านพันธุกรรม ที่หากพบว่าผู้ที่มีพ่อ แม่ หรือญาติพี่น้องเป็นข้อเข่าเสื่อม ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น

ระยะการเสื่อมของข้อเข่า

การเสื่อมของข้อโดยเฉพาะข้อเข่า แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 มีอาการเจ็บเล็กน้อย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง แต่อาจมีอาการฝืด ๆขัด ๆ
  • ระยะที่ 2 กระดูกอ่อนผิวข้อเริ่มสึกอาจต้องตรวจดูจากเอกซเรย์
  • ระยะที่ 3 ผิวข้อเริ่มขรุขระกระดูกอ่อนผิวข้อเริ่มแตกร่อน มีอาการเจ็บขัดมากขึ้น
  • ระยะที่ 4 กระดูกอ่อนผิวข้อสึกทั่วข้อเข่า ผู้ป่วยจะทรมานมากโอกาสที่ต้องผ่าตัดสูง

ตรวจวินิจฉัยข้อเข่า

ก่อนการรักษาแพทย์จำเป็นต้องตรวจโดยเริ่มจากการซักประวัติสุขภาพทั้งหมด อาการ ลักษณะการปวดเข่า และความสามารถในการใช้งานของเข่า จากนั้นตรวจร่างกาย ตรวจการทำงานของเข่า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่า และความแข็งแรงของเอ็นรอบ ๆ เข่า X – Ray เพื่อดูพยาธิสภาพ ความเสียหายของเข่า และบางครั้งอาจต้องมีการตรวจเลือด X – Ray พิเศษ หรือตรวจ MRI เพื่อดูสภาพของกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ รอบกระดูก

รักษาข้อเข่า

การรักษาการเสื่อมของข้อเข่าจะขึ้นกับความรุนแรงของโรค ในระยะแรกของโรคข้อเสื่อมมักจะใช้ยาแก้ปวดธรรมดา เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน หรือยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) หรืออาจใช้ยาทั้งสองร่วมกัน และทำกายภาพบำบัด รวมทั้งการหมั่นออกกำลังกายเป็นปกติ ควบคุมน้ำหนักตัว และรับประทานอาหารให้เหมาะสม ซึ่งอาจจะเพียงพอที่จะลดอาการปวดได้แล้ว

ทางเลือกต่อมาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ การใช้ยาฉีดเฉพาะที่กลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Local cortisone injection) เพื่อลดการอักเสบของข้อ ซึ่งเป็นสาเหตุของการปวดและการสูญเสียการเคลื่อนไหวของข้อ

ปัจจุบันมีทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยใช้วิธี Viscosupplementation ด้วยการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเทียมเข้าไปแทนที่น้ำเลี้ยงข้อที่เสื่อมสภาพ สามารถลดหรือกำจัดอาการปวดข้อได้ประมาณ 6 เดือนหรือมากกว่า ลดการติดของข้อ ทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมักจะมีปัญหาอาการปวดเข่า เวลาเดิน นั่งกับพื้น หรือลุกจากนั่ง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย ในกรณีที่อาการไม่มาก การปรับเปลี่ยนท่าทางและพฤติกรรม เช่น นั่งกับเก้าอี้แทนการนั่งกับพื้น การใช้แขนช่วยยันตัวขึ้นตอนลุกจากนั่ง หรือการใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเวลาเดิน รวมถึงการบริหารกำลังกล้ามเนื้อต้นขาจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ ในกรณีที่มีอาการมาก หรือปรับเปลี่ยนท่าทางแล้วอาการปวดไม่บรรเทา แนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ให้การรักษาและคำแนะนำต่อไป

ข้อเสื่อมกับการออกกำลังกาย

ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมหลายรายกังวลที่จะออกกำลังกาย ซึ่งแพทย์แนะว่า ให้ออกกำลังกายด้วยวิธีที่ไม่สร้างภาระให้กับข้อเข่า หลีกเลี่ยงการกระโดด กระแทก การบิดเข่า เป็นต้น สำหรับการออกกำลังกายในน้ำ เช่น ว่ายน้ำ หรือเดินในน้ำ จะช่วยให้ข้อเข่ารับภาระน้อยลง มีการฝึกการเคลื่อนไหวของข้อเข่าได้ดี รวมถึงการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานนั้นสามารถทำได้ การบริหารกำลังกล้ามเนื้อต้นขาโดยไม่ใช้น้ำหนักต้าน เช่น การนั่งเกร็งต้นขาและยกปลายเท้าขึ้น จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บบริเวณข้อเข่าด้านหน้า ซึ่งมีความเสื่อมของข้อสะบ้า ให้หลีกเลี่ยงการลุกนั่ง การก้าวขึ้นที่สูง การออกแรงเหยียดเข่าโดยมีแรงต้าน เป็นต้น เพราะจะทำให้เจ็บและมีการเสื่อมมากขึ้น

ข้อเข่ารักษาได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของข้อเข่าเสื่อมของผู้ป่วย เพราะปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมคือ อายุที่มากขึ้น ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยการปรับเปลี่ยนท่าทางและพฤติกรรม เช่น รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อเข่าที่รุนแรง ติดต่อกันระยะเวลานาน และออกกำลังกายบริหารกำลังกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรง