หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
เครื่องมือนำร่องและวางแผนผ่าตัดสมอง

เครื่องมือนำร่องและวางแผนการผ่าตัดสมอง (Image Guided Surgical System) เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวางแผนก่อนการผ่าตัด สามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น การถ่ายภาพสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT-SCAN) การตรวจที่อาศัยการส่งคลื่นเสียงเข้าไปในสมองที่อยู่ในสนามแม่เหล็กพลังสูง (MRI) และสัญญาณจากเครื่องมือที่ใช้ประกอบในระหว่างการทำผ่าตัดเข้าด้วยกัน ตัวเครื่องจะมีระบบการแปลงสัญญาณและการประมวลข้อมูลที่ได้ แล้วทำการแสดงผลออกเป็นภาพสามมิติที่จอแสดงผล จึงช่วยทั้งในการวางแผนก่อนผ่าตัด และช่วยในการนำร่องหรือกำหนดทิศทางระหว่างการผ่าตัด (before and during surgery) ทำให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณสมบัติทั่วไป

1. จำลองแบบการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการวางแผนการผ่าตัด โดยการแสดงภาพบนจอในลักษณะต่าง ๆ กัน ตามความต้องการของศัลยแพทย์ และนำมาใช้เป็นแนวทางในการผ่าตัดจริง

2. เครื่องมือช่วยในการกำหนดทิศทางในระหว่างการผ่าตัดจึงสามารถทำการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความชัดเจนถูกต้อง ทำให้การผ่าตัดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3. ใช้ในงานศัลยกรรมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น ศัลยกรรมประสาท การผ่าตัดกระดูกไขสันหลัง ศัลยกรรม หู คอ จมูก และงานศัลยกรรมกระดูก เป็นต้น

4. ชุดเครื่องมือ ประกอบด้วย ส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ

  • แหล่งกำเนิดสัญญาณ ซึ่งจะส่งแสงอินฟราเรดเพื่อไปกระทบกับเครื่องรับสัญญาณและเชื่อมต่อเข้ากับระบบกล้อง
  • ระบบกล้อง (Camera System) ซึ่งจะจับตำแหน่งที่สะท้อนของสัญญาณ
  • ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะควบคุมการทำงาน (Computer Workstation) และทำการประมวลผลจากสัญญาณที่ได้รับ ณ ตำแหน่งที่กำหนดต่าง ๆ และจากข้อมูลอื่น ๆ ของผู้ป่วย โดยแสดงผลเป็นภาพปรากฎบนจอ (Monitor) ในลักษณะสามมิติ เพื่อชี้นำการผ่าตัด โดยจะแสดงวงรอบของความถูกต้อง (Accuracy Zone) เป็นหน่วยขนาดมิลลิเมตร รอบบริเวณตำแหน่งที่ต้องการทำผ่าตัด

5. เชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เช่น Ultrasound, MRI, CT-SCAN, C-arms และข้อมูลคนไข้ที่ส่งผ่านระบบเน็ตเวิร์ค รวมทั้งสามารถทำงานร่วมกับกล้องไมโครสโคปโดยสามารถให้ภาพ 3 มิติที่สร้างขึ้นไปปรากฏที่กล้อง ทำให้สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. ซอฟต์แวร์โปรแกรมต่าง ๆ ทำให้สามารถทำการผ่าตัดได้หลากหลาย เช่น การผ่าตัดสมอง (Cranial) กระดูกไขสันหลัง (Spine) ฐานกะโหลกศรีษะ (Skull base) หู คอ จมูก (ENT) การใส่แผ่นโลหะดามกระดูกและสกรูยึดแผ่นโลหะดามกระดูก การผ่าตัดหัวเข่า สะโพกเทียม การตัดชิ้นเนื้อสมองเพื่อทำการตรวจวิเคราะห์การผ่าตัดเพื่อรักษาอาการสั่นหรือกระตุก และอื่น ๆ รวมทั้งโปรแกรมการลงข้อมูลคนไข้แบบเร่งด่วน (Rapid Registration)

7. มีระบบอุปกรณ์ที่ใช้จับเข้ากับเครื่องมือที่ใช้ในห้องผ่าตัดทั้งชนิดที่เป็น Active Instrument ซึ่งทำการรับสัญญาณเพื่อให้กล้องสามารถจับทิศทางและรับสัญญาณข้อมูล และชนิด Passive Instrument ที่สามารถรับและส่งสัญญาณกับระบบกล้องได้

8. ระบบ Electro Magnetic System ในกรณีที่ต้องการ Upgrade เพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวในบริเวณที่ไม่ต้องการให้มีคลื่นหรือสัญญาณแม่เหล็กรบกวน (Magnetic Interference)

9. ระบบปฏิบัติการ (Operating System) ใช้ระบบ UNIX ซึ่งเหมาะกับโปรแกรมประเภทกราฟิกและใช้กันส่วนใหญ่กับระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่

10. คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงาน สามารถใช้งานแยกออกจากกันได้ โดยใช้วางแผนการผ่าตัด และส่วนที่เป็นระบบกล้อง (Navigation) มีระบบล้อเลื่อน เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย