หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียม คืนความแข็งแรงให้ข้อเข่า

           เพราะข้อเข่าสำคัญในทุกการเคลื่อนไหวของชีวิต ดังนั้นหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม หากเกิดการติดเชื้อจากการผ่าตัดที่ทำให้เกิดอาการปวด บวม รวมไปถึงปัญหาข้อเข่าเทียมหลวม หลุด สึก เกิดอุบัติเหตุหลังจากนั้น การผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมแนวทางการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพอีกครั้ง

 

ปัญหาข้อเข่าเทียม

            ข้อเข่าเทียมหลังจากเปลี่ยนแล้วสามารถใช้งานได้นานโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำ แต่หากเกิดปัญหากับข้อเข่าเทียมและส่งผลกับการดำเนินชีวิต จำเป็นที่จะต้องทำการผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้งานได้ดีอีกครั้ง ซึ่งการผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมมีความยากและซับซ้อน สามารถผ่าตัดแก้ไขบางส่วนหรือแก้ไขทั้งหมด ขึ้นอยู่กับสาเหตุและวิธีการรักษา จึงต้องทำการวางแผนมากกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมครั้งแรก มีการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์พิเศษ รวมถึงมีทีมแพทย์ที่มากด้วยประสบการณ์ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

img


อาการข้อเข่าเทียมผิดปกติ

  • ปวด
  • บวม
  • เข่าติด
  • เคลื่อนไหวลำบาก

 

ต้นเหตุผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียม

สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียม ได้แก่

1) การไม่ติดเชื้อ จากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่

ข้อเข่าเทียมหลวมหรือหมุน วางผิดตำแหน่ง เกิดจาก

  • ตำแหน่งข้อเข่าเทียมจากการผ่าตัดครั้งแรกมีปัญหา เช่น ข้อเทียมวางเอียงมากกว่า 3 องศา ทำให้ข้อที่ใส่เสียเร็ว หลวมเร็ว จากเดิมอายุการใช้งานเฉลี่ย 15 – 20 ปี อาจอยู่ได้ประมาณ 5 – 10 ปี
  • ข้อเทียมหมุน วางไม่ตรงเบ้า ไม่หมุนตามองศาที่ถูกต้อง หมุนผิดทั้งด้านบนและล่าง เจ็บเข่า  เข่าใช้งานไม่ได้
  • ข้อเทียมส่วนกระดูกต้นขาหรือข้อเทียมส่วนสะบ้าวางไม่ตรงตำแหน่ง ลูกสะบ้าไม่ตรงร่องกับตำแหน่งของข้อ
  • ความผิดปกติของสะบ้าหรือลักษณะเข่าเอื้อให้เกิดปัญหาที่ลูกสะบ้า เช่น คนไข้เข่ากาง (ขาส่วนล่างกางออก เข่าชิดกัน)
  • ตำแหน่งของสะบ้าอยู่สูงกว่าปกติ หากเอกซเรย์ในมุมพิเศษจะพบว่าลูกสะบ้าอยู่ผิดตำแหน่ง โดยมีการเปิดออกหรือเลื่อนหลุด เมื่อคนไข้ลุก ยืน หรือเดิน จะรู้สึกเจ็บมาก เพราะลูกสะบ้าไม่ตรงร่อง


ข้อเข่าเทียมสึกหรอ เกิดจาก

  • ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมตั้งแต่อายุยังน้อย
  • ผู้ป่วยใส่ข้อเทียมมานาน เมื่อเวลาผ่านไปอาจเกิดการสึกหรอของตัวพลาสติกหมอนรองข้อเทียม
  • ข้อเทียมที่ยึดกับกระดูกเกิดการหลวมและหลุดออก ร่างกายจะขจัดด้วยการสร้างเซลล์ Giant Cell เพื่อเอาสิ่งที่แปลกปลอมออกจากบริเวณนั้น เซลล์ดังกล่าวมีคุณสมบัติคือ ทำลายกระดูกและการยึดของข้อเทียม ทำให้ข้อเทียมที่แข็งแรงหลวม ข้อเทียมที่แกว่งไปมาจะคว้านกระดูกจนเกิดเป็นรู (Bone Defect) ทำให้มีอาการปวดหรือบวมได้ 


นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ข้อเทียมสึกหรอ ได้แก่ การใช้งานข้อเข่าในกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่มีการกระแทกมากๆ อย่างกีฬาเอ็กซ์สตรีม วิ่ง เล่นสกี หรือน้ำหนักตัวที่มากขึ้น

  • ข้อเข่าติด เกิดจากหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมครั้งแรกอาจมีปัญหาข้อเข่าติดจนไม่สามารถใช้งานเข่าในชีวิตประจำวันได้ดี เอ็นรอบหัวเข่าได้รับบาดเจ็บฉีกขาด การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมครั้งแรกไม่สามารถปรับสมดุลของเส้นเอ็นรอบหัวเข่าได้ ทำให้ข้อเข่าบวม หรือเดินแล้วเข่าทรุด หรือมีพังผืดในข้อเข่า หรือข้อเทียมอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมขัดขวางการเหยียดงอเข่า อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียม
  • มาตรฐานวัสดุข้อเข่าเทียม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจะใส่ตัวข้อเทียมสวมลงไปในกระดูก โดยส่วนมากจะมีการใช้ซีเมนต์ยึดระหว่างกระดูกและตัวข้อเทียม หากวัสดุที่ใช้ทำข้อเทียมไม่ได้คุณภาพจะทำให้ยึดเกาะกับซีเมนต์ไม่ดีหรือติดได้ไม่ทน ทำให้ข้อเทียมหลวมหลุดง่าย
  • ใส่ข้อเข่าเทียมผิดข้าง จากความผิดพลาดในการผ่าตัดครั้งแรก โดยเอาข้อเทียมข้างซ้ายมาใส่ข้างขวา ซึ่งกรณีนี้พบได้น้อยมาก
  • กระดูกรอบข้อเข่าเทียมหัก จากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น การล้ม การรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและตำแหน่งของกระดูกที่หัก โดยมากมักต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไข โดยอาจเป็นการยึดตรึงกระดูกด้วยโลหะภายในหรือผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมใหม่อีกครั้งในกรณีที่กระดูกหักรุนแรงจนทำให้ข้อเข่าเทียมหลวมและไม่ยึดเกาะกับกระดูก

img


2) การติดเชื้อ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้กับการผ่าตัดทุกชนิด รวมถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระยะแรก 3 เดือนหลังผ่าตัด ไปจนถึงผ่าตัดผ่านไปหลายปีแล้ว ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกัน ได้แก่

  • การติดเชื้อในระยะแรก สาเหตุอาจเกิดจากเชื้อโรคระหว่างผ่าตัด ทำให้เกิดการบวม อักเสบ เป็นหนอง           
  • การติดเชื้อหลังผ่าตัดข้อเข่าเทียมนานหลายปี สาเหตุเกิดจากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เช่น โดนสัตว์เลี้ยงกัด เป็นแผลตามเนื้อตามตัว หรือมือที่สกปรกเกาจนเป็นแผลถลอก ฟันผุ ฟันเป็นหนอง เหงือกอักเสบ หูน้ำหนวก เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายมักจะเข้าไปหลบซ่อนตัวบริเวณข้อเทียม จากนั้นจะเริ่มแบ่งตัว ทำให้เกิดฝีหนองและแผลอักเสบ แม้ว่าจะผ่าตัดไปนานหลายปีก็ติดเชื้อได้ หากติดเชื้อเป็นเวลานาน เชื้อโรคจะทำลายกระดูก ข้อ การยึดของกระดูกและข้อเทียม ทำให้ข้อเทียมหลวม ไม่ยึดติดกับกระดูก ข้อเทียมที่ติดเชื้อแล้วจะไม่สามารถใช้ได้อีก คนไข้จะมีอาการเจ็บ ปวด บวมแดง

img

ผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมติดเชื้อ

            การผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมที่ติดเชื้อมีหลายแบบขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ติดเชื้อและความรุนแรงของการติดเชื้อ ตั้งแต่การผ่าตัดล้างข้อโดยไม่เปลี่ยนข้อเทียม หากข้อเข่าเทียมยังไม่หลวมหรือไม่มีการเปลี่ยนตำแหน่งของข้อเข่าเทียม การผ่าตัดเอาข้อเข่าเทียมออกและใส่ยาฆ่าเชื้อ หลังจากนั้นจึงผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมใหม่อีกครั้ง

            ปัญหาสำคัญอีกสิ่งหนึ่งเมื่อเกิดการติดเชื้อ คือ กระดูกแหว่งหาย เป็นโพรง ทำให้เสียความแข็งแรงที่จะรับข้อเทียมอันใหม่ หากกระดูกหายไปมากจนไม่สามารถยึดข้อเทียมได้ แพทย์จะใช้วัสดุโลหะทดแทนกระดูกฝังเข้าไป นอกจากกระดูกแล้วยังรวมไปถึงเส้นเอ็นโดยรอบที่อาจถูกทำลายไปได้เช่นกัน การผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมในลักษณะนี้จึงจำเป็นต้องใช้ข้อเทียมชนิดพิเศษเพื่อมาทดแทนเส้นเอ็นที่หายไป

 

ระวังติดเชื้อหลังผ่าตัด

การติดเชื้อเป็นภาวะที่พบได้และเป็นอันตราย โดยเฉพาะหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คนไข้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ใส่ใจดูแลและหมั่นสังเกตตัวเอง ดังนี้

  • ดูแลไม่ให้เป็นแผล
  • ระมัดระวังไม่ให้สัตว์ข่วนหรือกัด
  • รักษาบริเวณบ้านให้สะอาด
  • ดูแลแผลหลังผ่าตัดใหม่ไม่ให้โดนน้ำ
  • งดสูบบุหรี่
  • หากทำฟันควรแจ้งทันตแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อรับยาปฏิชีวนะป้องกัน
  • คนที่เป็นโรคเบาหวานควรควบคุมโรค ดูแลสุขภาพให้มีภูมิต้านทานที่แข็งแรง


ที่สำคัญการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมตั้งแต่ครั้งแรก ควรเลือกสถานที่ที่สะอาด ใช้ข้อเข่าเทียมที่ได้มาตรฐาน ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม และใช้อุปกรณ์เครื่องมือการผ่าตัดที่ได้มาตรฐาน

 

            ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ยกมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้เป็นไปตาม Knee Replacement Program มาตรฐานเดียวกันกับ Joint Commission International : JCI สหรัฐอเมริกา โดยคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นสำคัญ ผู้ป่วย ญาติ และแพทย์เป็นทีมเดียวกัน มีส่วนในการวางแผน ตัดสินใจเลือกการผ่าตัดรักษาและชนิดของข้อเข่าเทียม รวมถึงติดตามดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น



สนใจข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.thairath.co.th/content/1354149