อาการง่วงเหงาหาวนอน นอนเท่าไรก็ไม่พอ ผล็อยหลับโดยไม่รู้ตัว ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนภัยจากโรคลมหลับ ควรใส่ใจเพราะอาจเป็นอันตรายหากต้องขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานกับเครื่องจักร

ง่วงนอนผิดปกติ

อาการง่วงนอนผิดปกติถือเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ เพราะเกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนหนึ่งเกิดจากการอดนอน หลายคนละเลย ทั้ง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินและชีวิตไม่ต่างจากการเมาแล้วขับ ที่สำคัญไม่ได้มีการตรวจเช็กเหมือนการตรวจแอลกอฮอลล์ของผู้ที่ขับขี่รถยนต์ จากสถิติพบว่าช่วงเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่อยู่ระหว่างตี 4 ถึง 6 โมงเช้า ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายง่วงมากและอีกระยะคือ บ่าย 2 ถึงบ่าย 3 โมง ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง โอกาสเกิดความผิดพลาดสูง

สาเหตุเกิดจากการนอนไม่เพียงพอ เนื่องจากความรับผิดชอบในหน้าที่การทำงานมากขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสื่อสารผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค อาทิ  ไลน์ เฟซบุ๊ก ทำให้นอนดึก โดยเฉพาะวัยรุ่น หากมองผิวเผินดูเหมือนเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขไม่ยาก แต่ในทางปฏิบัติทำยาก ไม่ว่าวัยรุ่น คนทำงาน รวมทั้งผู้สูงอายุ ตามหลักการควรนอนอย่างน้อย 7 – 8 ชั่วโมงแต่ขึ้นอยู่กับวัย  นอกจากนี้เวลานอนไม่เหมาะสมก็มีผลให้ตื่นแล้วไม่สดชื่น รู้สึกง่วง  แม้ว่าจำนวนชั่วโมงได้ตามเกณฑ์ แต่เวลานอนไม่เหมาะสม โดยเวลาที่เหมาะสมในการนอน คือ 4 ทุ่ม – 4 ทุ่มครึ่ง แต่ละคนอาจไม่เหมือนกันแม้จะอายุเท่ากัน เพศเดียวกัน น้ำหนักตัวเท่ากัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากพันธุกรรม

ปัญหาการง่วงระหว่างวัน

ปัญหาการง่วงระหว่างวันเกิดจากความผิดปกติทางร่างกายได้หลายสาเหตุ ไม่ใช่เพราะนิสัยขี้เกียจ แต่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมอง ทำให้เกิดอาการง่วงง่าย หลับเร็ว เนื่องจากการขาดสารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่า ‘ไฮโปเครติน (Hypocretin)’ ทำให้สมองไม่สามารถควบคุมวงจรการนอนหลับให้เป็นปกติได้  บางครั้งถึงขั้นหลับขณะกำลังขับรถหรือเรียนหนังสือ มักพบในเด็กและกลุ่มวัยรุ่น

ซึ่งนอกจากอาการหลับง่ายแล้วอาจมีอาการบางอย่างร่วมด้วย อาทิ อาการผีอำ ไม่สามารถขยับเขยื้อนแขนขาของตัวเองได้ ทั้ง ๆ ที่สายตาก็ยังสามารถรับรู้มองเห็น เห็นภาพหลอนขณะกำลังจะหลับ หรือเสียงแว่วได้ในขณะเคลิ้มหลับหรือเคลิ้มตื่น อาการอย่างอื่นที่อาจพบได้อีกคือ อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขาอย่างเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดในขณะที่คนไข้มีอารมณ์ขำ หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งวิธีการตรวจโรคลมหลับสามารถทำได้ด้วยการตรวจการนอนหลับและความง่วงนอน  ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมก็เป็นตัวช่วยให้การวินิจฉัยถูกต้อง ทำให้วางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ตรวจโรคลมหลับ

แนวทางการตรวจจะเริ่มต้นจากการซักประวัติคนไข้ จากนั้นให้สวมนาฬิกา Actigraphy 1 – 2 สัปดาห์ เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการนอน การตื่นว่าเป็นอย่างไร เหมาะสมไหม สามารถคำนวณประสิทธิภาพในการนอนได้ละเอียด จากนั้นแพทย์จะให้ทำ Sleep Test ในช่วงกลางคืน ซึ่งให้คนไข้นอนเหมือนที่บ้าน โดยมีการวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง การหายใจ ระดับออกซิเจนในร่างกาย และอื่น ๆ เพื่อตรวจหาความผิดปกติในขณะหลับ ได้แก่ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งมักพบร่วมกับอาการนอนกรน โดยเป็นสาเหตุของอาการง่วงมากผิดปกติในช่วงเวลากลางวันได้เช่นกัน และเพื่อให้มั่นใจว่าคืนก่อนตรวจคนไข้นอนไม่น้อยกว่า 6 – 7 ชั่วโมง  จากนั้นจะทำ test กลางวันโดยจะให้คนไข้หลับทั้งหมด 5 งีบ แต่ละงีบห่างกัน 2 ชั่วโมง โดยให้คุณนอนใน Sleep Lab ตอนกลางวัน  โดยดูว่าหลังจากปิดไฟคนไข้เริ่มหลับภายในกี่นาที ถ้าน้อยกว่า 8 นาทีและมีฝันอย่างน้อยใน 2 งีบถือว่าเป็นโรคง่วงนอนผิดปกติโดยอาจมีโอกาสเป็นโรคลมหลับได้ หากน้อยกว่า 5 นาที ถือว่าอาการอยู่ในขั้นรุนแรง

รักษาโรคลมหลับ

แนวทางรักษาทำได้เพียงควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงและไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ด้วยการใช้ยากระตุ้นเพื่อให้รู้สึกตื่นตัว ซึ่งการใช้ยาจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์  รวมทั้งการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยการจัดตารางเวลาในการนอนให้ได้อย่างน้อยวันละ 7 – 8 ชั่วโมง เพิ่มการงีบหลับสั้น ๆ ในช่วงกลางวันเพื่อลดความง่วงที่เกิดขึ้น  ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่  หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจเป็นอันตรายหากเกิดอาการได้แก่ การขับขี่ยานพาหนะ การทำงานกับเครื่องจักร ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถป้องกันได้ ทางออกที่ดีคือ การหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา