หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
เตรียมตัวก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

ก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายก่อนผ่าตัดและได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดจากพยาบาลและนักกายภาพบำบัด ซึ่งจะนัดหมายล่วงหน้า 1 สัปดาห์ ก่อนวันผ่าตัด ขั้นตอนนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงในโรงพยาบาล ประกอบด้วย

  • เจาะเลือดและเก็บปัสสาวะ (อาจมีการตรวจภาพรังสีทรวงอกและคลื่นไฟฟ้าหัวใจร่วมด้วย)
  • พบแพทย์อายุรกรรมเพื่อรับการประเมินและตรวจความพร้อมของร่างกาย
  • ประเมินสมรรถภาพจากนักกายภาพบำบัด ฝึกการบริหารกล้ามเนื้อและการใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน
  • พยาบาลจะให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัดข้อเทียมรวมถึงการปฏิบัติตัวที่สำคัญ

หยุดการใช้ยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้า

หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือเกล็ดเลือด ควรปรึกษาแพทย์ที่จ่ายยานั้นเพื่อหยุดยาก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 5 – 7 วัน พยาบาลที่ดูแลก่อนผ่าตัดจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับยาที่ควรหยุดอื่น ๆ ก่อนผ่าตัด

ห้ามโกนขนบริเวณที่จะผ่าตัด

การใช้มีดโกนโกนขนสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ เพราะอาจเกิดรอยแผลที่ผิวหนัง หากจำเป็นต้องกำจัดขนบริเวณผ่าตัด เจ้าหน้าที่พยาบาลหรือผู้ช่วยพยาบาลจะเป็นผู้ดูแลเรื่องดังกล่าวให้ก่อนการผ่าตัด

การตรวจเยี่ยมจากวิสัญญีแพทย์ก่อนผ่าตัด

ผู้ป่วยจะได้พบวิสัญญีแพทย์ก่อนผ่าตัด เพื่อประเมินความพร้อมและรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการระงับปวดระหว่างการผ่าตัดและหลังการผ่าตัด

การออกกำลังกาย/การทำกิจกรรม

แพทย์อาจให้เริ่มโปรแกรมการออกกำลังกายตั้งแต่ก่อนการผ่าตัดต่อเนื่องไปจนถึงช่วงหลังผ่าตัด เนื่องจากการออกกำลังกายที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันลิ่มเลือดที่จะเกิดขึ้นในหลอดเลือดดำ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและการเคลื่อนไหวหลังการผ่าตัด ซึ่งมีความสำคัญในการช่วยการทำงานของระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบปัสสาวะและขับถ่าย อย่างไรก็ตามหากมีอาการเจ็บปวดข้อเพิ่มขึ้นหลังการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรม กรุณาแจ้งแพทย์ พยาบาล หรือนักกายภาพบำบัด (ภายหลังการออกกำลังกายอาจทำให้มีอาการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ)

 

การรับประทานอาหาร

ควรเลือกรับประทานอาหารให้เพียงพอ ครบ 5 หมู่ และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มาก ทำให้มีผลกระทบต่อการผ่าตัดข้อเข่าได้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง ขนมหวาน อาหารทอดไขมันสูง เนื้อสัตว์ติดมัน เป็นต้น ควรเลือกวิธีปรุงอาหารประเภท ต้ม นึ่ง ย่าง เพื่อลดพลังงานและควบคุมน้ำหนัก

นอกจากนี้ควรได้รับวิตามินและแร่ธาตุจากอาหารที่รับประทาน ซึ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม เช่น วิตามินซี วิตามินดี ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม เป็นต้น ซึ่งแหล่งอาหารที่พบได้แก่ ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ นม และผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ ปลาหรือเนื้อสัตว์ที่กินได้ทั้งกระดูก ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักโขม บรอกโคลี  ถั่วชนิดต่าง ๆ ธัญพืชไม่ขัดสี

หยุดสูบบุหรี่

แนะนำให้หยุดสูบบุหรี่อย่างน้อย 4 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงหลังการผ่าตัดมาก โดยเฉพาะเรื่องการหายใจ รวมถึงลดความสามารถในการหายของแผลผ่าตัดด้วย

ยา

ยาบางชนิดจำเป็นต้องหยุด 5 – 7 วันก่อนการผ่าตัด เพื่อลดการเสียเลือดระหว่างการผ่าตัด ตัวอย่างยาที่จำเป็นต้องหยุด เช่น แอสไพริน และยาที่มีส่วนประกอบของแอสไพริน ยาลดอักเสบ ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือเกล็ดเลือด และยาเกี่ยวกับข้ออักเสบ ร่วมถึงควรงดอาหารเสริมและวิตามิน ยาทั้งหมดจะได้รับการตรวจสอบก่อนการผ่าตัดและจะได้รับการพิจารณาจากแพทย์ว่ายาชนิดไหนควรหยุดก่อนการผ่าตัดเมื่อไรและยาชนิดไหนสามารถให้รับประทานต่อได้

ป้องกันการติดเชื้อ

การติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากทางผิวหนังและช่องปาก กรุณาปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ

  • ตรวจช่องปากก่อนการผ่าตัด การติดเชื้อสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้หากมีฟันผุหรือขณะทำทันตกรรม
  • แจ้งทันตแพทย์ประจำตัวให้ทราบว่าเคยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมมาแล้วก่อนการทำฟัน
  • อาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดร่างกายก่อนการผ่าตัด
  • หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง เช่น การอาบแดด ถูกข่วนจากสัตว์หรือแมลงกัดต่อย หากมีบาดแผลใด ๆ ก็ตามบริเวณขาข้างที่ผ่าตัดกรุณาแจ้งแพทย์ให้รับทราบ

การเดินทาง

หากแพทย์เจ้าของไข้อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลได้ต้องมีญาติหรือคนรู้จักพากลับบ้าน ห้ามขับรถกลับเองโดยเด็ดขาด แนะนำให้โดยสารรถที่มีพื้นที่กว้างพอสมควรในการเหยียดงอเข่าได้

 

อุปกรณ์ช่วยเดิน/อุปกรณ์ช่วยทำกิจวัตรประจำวัน

ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดินในช่วงแรก  และอาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยทำกิจวัตรประจำวันบางอย่างขึ้นอยู่กับการผ่าตัด ซึ่งแพทย์ผู้ดูแลและทีมจะช่วยประเมินสภาพแวดล้อมและแนะนำการปรับเปลี่ยนสถานที่ที่บ้าน และจัดหาอุปกรณ์ช่วยเดินให้

อุปกรณ์ที่อาจจำเป็นต้องใช้

  • อุปกรณ์ช่วยเดินสี่ขาหรือไม้ค้ำยัน
  • อุปกรณ์ช่วยทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ
  • เก้าอี้นั่งอาบน้ำ