หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ถาม - ตอบเรื่องกระดูกหักที่คุณควรรู้

เมื่อกระดูกหักสิ่งสำคัญคือต้องทำให้กระดูกกลับมาติดกันและมีความแข็งแรงเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้งานกระดูกส่วนที่หักได้ดังเดิม ทั้งนี้การรักษากระดูกหักสามารถรักษาได้หลายวิธี ทั้งการไม่ผ่าตัดและการผ่าตัด ขึ้นกับความรุนแรงของอาการและดุลยพินิจของศัลยแพทย์โรคกระดูกและข้อเป็นสำคัญ

กระดูกหักคืออะไร

กระดูกหัก (Fracture) คือ ภาวะที่มีการแตกหรือหักของกระดูก บริเวณที่หักอาจจะแตกเป็นรอย โดยเคลื่อนออกจากกันหรือไม่ก็ได้ บางครั้งกระดูกแตกเป็นหลายชิ้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการบาดเจ็บและความรุนแรงของอุบัติเหตุหรือการกระแทก กระดูกหักอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความพิการ หรือในบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้


กระดูกหักเกิดจากอะไร

กระดูกหักเกิดขึ้นได้จากทั้งแรงที่กระทำโดยตรงและแรงที่กระทำโดยอ้อมต่อกระดูก ในบางกรณีกระดูกหักเกิดจากโรคหรือความผิดปกติของกระดูก

  1. กระดูกหักจากแรงกระทำโดยตรง (Direct Force) หมายถึง มีแรงกระแทกหรือแรงอัดต่อกระดูกโดยตรง เช่น การถูกตี การถูกชน เป็นต้น
  2. กระดูกหักจากแรงกระทำโดยอ้อม (Indirect Force) หมายถึง แรงกระทำต่อกระดูกที่หนึ่งแล้วมีแรงส่งต่อไปยังกระดูกใกล้เคียง เช่น ผู้ป่วยเล่นงัดข้อแล้วเกิดการหักของกระดูกต้นแขน เป็นต้น
  3. กระดูกหักจากโรคหรือความผิดปกติของกระดูก หมายถึง การหักของกระดูกที่มีรอยโรคอยู่ก่อนแล้ว เช่น กระดูกพรุน หรือเนื้องอกกระดูก เป็นต้น

กระดูกหักมีกี่แบบ

โดยทั่วไปสามารถจำแนกกระดูกหักออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

1) กระดูกหักแบบไม่มีแผลเปิด (Closed Fracture) คือ กระดูกหักที่ไม่มีกระดูกหักทิ่มออกมานอกชั้นผิวหนัง

2) กระดูกหักแบบมีแผลเปิด (Open Fracture) คือ กระดูกหักที่มีกระดูกทิ่มออกมานอกชั้นผิวหนัง ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ค่อนข้างสูง


แนวทางการรักษากระดูกหัก

การพิจารณารักษากระดูกหักต้องมีการปรึกษากันระหว่างศัลยแพทย์และผู้ป่วย เนื่องจากต้องใช้เวลารักษาที่ค่อนข้างนาน ผู้ป่วยอาจจะต้องหยุดงานนานหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตปกติ ซึ่งการรักษากระดูกหักแบ่งออกเป็น

  1. กระดูกหักที่รักษาได้โดยไม่ผ่าตัด ได้แก่ 
    • กระดูกหักที่ไม่เคลื่อนที่ 
    • กระดูกหักบางตำแหน่งที่สามารถจัดกระดูกให้เข้าที่และใส่เฝือกได้ โดยการเข้าเฝือก มักใช้กับกระดูกส่วนแขนหรือขาท่อนล่าง รวมทั้งใช้เพื่อจัดกระดูกผิดรูปในเด็กได้ด้วย ส่วนการดึงถ่วงน้ำหนัก จะใช้กับกระดูกต้นขาหรือในกรณีที่มีการดึงรั้งของกล้ามเนื้อ
  2. กระดูกหักที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ได้แก่ กระดูกหักที่เคลื่อนที่ออกจากกัน หรือกระดูกหักตรงตำแหน่งข้อต่อ เป็นต้น โดยการตรึงกระดูกสามารถใช้อุปกรณ์ 3 ประเภทที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม ได้แก่
    • เหล็กแกน (Nail) นิยมใช้ในการรักษากระดูกหักบริเวณส่วนกลางของกระดูก เช่น ต้นแขน ต้นขา ขาท่อนล่าง
    • เหล็กแผ่นเป็นรูและใส่สกรูยึด (Plate and Screw) มักใช้หลังการจัดกระดูกเพื่อตรึงกระดูกให้นิ่งอยู่กับที่
    • โครงเหล็กยึดกระดูกภายนอก (External Fixator) จะถูกเจาะเข้าไปในกระดูก ห่างจากบริเวณกระดูกหักทั้ง 2 ด้านของกระดูกหัก จากนั้นดึงกระดูกให้เข้าที่และประกอบโครงจากภายนอกเพื่อยึดกระดูกให้อยู่กับที่ อุปกรณ์นี้ใช้ในกรณีที่มีแผลเปิดเท่านั้น
  3. กระดูกหักที่สามารถรักษาได้ทั้งการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด

กระดูกหักบางตำแหน่งอาจสามารถรักษาได้ทั้งด้วยการผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัด ซึ่งอาจมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ดังนั้นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างศัลยแพทย์และผู้ป่วย รวมทั้งการที่ผู้ป่วยได้รับข้อมูลการรักษาในแต่ละวิธีอย่างตรงไปตรงมา ครบถ้วนย่อมช่วยให้ตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย


แพทย์ผู้ชำนาญด้านการรักษากระดูกหัก

นพ.สุทร บวรรัตนเวช ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล 

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษากระดูกหัก

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลมีความพร้อมในการรักษากระดูกหัก โดยทีมศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด เช่น หุ่นยนต์เอกซเรย์แขนกล (Robotic C-Arm ARTIS pheno) โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เจ็บน้อย โอกาสเกิดผลแทรกซ้อนต่ำ ฟื้นตัวไว และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็ว