หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ถาม - ตอบเรื่องเนื้องอกสมอง

หลายคนอาจมองว่าเนื้องอกสมองเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่พบได้บ่อยในคนไทยและพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย โดยอาการที่เป็นสัญญาณเตือนชัดเจนคือ ปวดหัวเรื้อรังแบบไม่มีสาเหตุ ถ้าไม่รีบตรวจรักษาอาจทำให้รุนแรงมากขึ้นได้ ดังนั้นการรู้เท่าทันโรคจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย


เนื้องอกสมองคืออะไร

เนื้องอกสมอง (Brain Tumor) คือ ภาวะที่เซลล์สมองแบ่งตัวผิดปกติและเพิ่มจำนวนขึ้นจนเกิดเป็นเนื้องอกสมอง มีทั้งเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงและเนื้องอกชนิดร้ายแรงหรือมะเร็ง เนื้องอกสมองมีมากถึง 120 ชนิด แต่ที่พบมากที่สุดคือเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์สมอง รองลงมาคือเนื้องอกที่เกิดจากเยื่อหุ้มสมอง เนื้องอกที่เกิดจากเส้นประสาทหู เนื้องอกที่เกิดจากต่อมใต้สมอง และเนื้องอกชนิดมะเร็งของอวัยวะอื่นที่กระจายมาที่สมอง


เนื้องอกสมองเกิดจากอะไร

เนื้องอกสมองไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่ผู้ป่วยบางคนมีสาเหตุจากพันธุกรรม หรือเคยผ่านมาการฉายรังสีบริเวณศีรษะมาก่อน แม้ว่าส่วนใหญ่เนื้องอกสมองจะพบมากในวัยผู้ใหญ่ แต่วัยเด็กกับวัยชราก็สามารถเป็นได้ ซึ่งต้องรีบรักษาโดยเร็วเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเนื้อสมองข้างเคียง ยิ่งรักษาเร็วตั้งแต่ขนาดไม่ใหญ่มากยิ่งได้ผลดีและมีโอกาสหายขาด


เนื้องอกสมองมีอาการอย่างไร

หากมีเนื้องอกในสมอง เนื้องอกจะโตขึ้นเรื่อย ๆ จนไปเบียดหรือทำลายเนื้อสมองบริเวณข้างเคียง ทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น ผู้ป่วยเนื้องอกสมองอาจจะมีอาการปวดหัวเรื้อรังร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน โดยมักจะเป็นช่วงกลางคืนหรือหลังตื่นนอน กินยาแก้ปวดแล้วไม่หาย ยิ่งเป็นนานอาการจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ในผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการชักร่วมด้วย เมื่อเนื้องอกสมองไปอยู่ในตำแหน่งไหนจะทำลายสมองส่วนนั้น อาการจึงแตกต่างกัน เช่น เนื้องอกสมองกดตำแหน่งควบคุมกล้ามเนื้อแขนและขาจะทำให้อ่อนแรง เนื้องอกสมองกดตำแหน่งควบคุมการพูดคุยจะทำให้เสียการรับรู้ เขียน อ่าน พูด เนื้องอกสมองกดตำแหน่งเส้นประสาทตาจะทำให้ตามัว เป็นต้น ข้อสังเกตของเนื้องอกสมองคือ มีอาการปวดหัวมากกว่า 15 วันต่อเดือน อย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน ดังนั้นหากปวดหัวติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์โดยไม่รู้สาเหตุควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด 


ตรวจวินิจฉัยเนื้องอกสมองอย่างไร

แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเนื้องอกสมองโดยซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียด อาจมีตรวจเพิ่มเติมโดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือใช้เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อให้ทราบถึงขนาดและตำแหน่งเนื้องอก อีกทั้งอาจมีการตรวจด้วยเครื่องเพทซีที สแกน (PET/CT Scan) เพื่อดูการแพร่กระจายหรือที่มาของเนื้องอก หรือการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ (Biposy) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยได้อย่างชัดเจนและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป


เนื้องอกสมองรุนแรงแค่ไหน

ระดับความรุนแรงของเนื้องอกสมองแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

  • ระดับที่ 1 ก้อนเนื้อธรรมดา เป็นเนื้อชนิดไม่ร้าย ไม่แพร่กระจาย รักษาให้หายขาดได้
  • ระดับที่ 2 ก้อนเนื้อธรรมดา รุนแรงปานกลาง โตช้า ไม่แพร่กระจาย รักษาได้แต่ไม่หายขาด
  • ระดับที่ 3 ก้อนเนื้อพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง หรือลุกลากจากเซลล์อวัยวะอื่น รักษาไม่หาย มีโอกาสเป็นซ้ำ
  • ระดับที่ 4 ก้อนเนื้อพัฒนาเป็นมะเร็งสมองชนิดร้ายแรง แพร่กระจายเร็ว อาจเสียชีวิตในเวลาไม่นาน

ถาม - ตอบเรื่องเนื้องอกสมอง

แนวทางการรักษาเนื้องอกสมอง

เมื่อตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นเนื้องอกสมอง การรักษาส่วนใหญ่จะใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อเอาเนื้องอกในสมองออก เพราะเมื่อเอาเนื้องอกออกหมดจะทำให้หายขาด แต่หากการผ่าตัดมีความเสี่ยงสูงและเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย แพทย์จะพิจารณาให้เอาเนื้องอกออกบางส่วน ซึ่งปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบแผลเล็ก Minimally Invasive Surgery โดยใช้เครื่องมือช่วยนำทาง (Navigator) ทำให้การผ่าตัดแม่นยำ เที่ยงตรง ปลอดภัย แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ช่วยให้ผู้ป่วยคลายความกังวลหากต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่เนื้องอกบางชนิดสามารถรักษาโดยการฉายรังสีเพื่อทำลายหรือหยุดยั้งการเติบโตของเซลล์เนื้องอก หรือรักษาโดยการรับประทานยาได้เช่นกัน ทั้งนี้วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด ตำแหน่ง อายุ และความแข็งแรงของผู้ป่วย โดยแพทย์อาจใช้การรักษาแบบผสมผสานเพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด


เนื้องอกสมองปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอย่างไร

ถึงแม้เนื้องอกสมองอาจไม่ได้เป็นเนื้อร้ายเสมอไป แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาเนื้องอกอาจโตขึ้นเรื่อย ๆ จนไปกดสมองส่วนที่ดี จนทำให้เกิดความเสียหายแก่เนื้อสมองบริเวณข้างเคียง โดยจะทำให้การทำงานของสมองส่วนนั้น ๆ เสียไป ทำให้เกิดความผิดปกติกับร่างกาย เช่น แขนขาอ่อนแรง หน้าชา ตาเหล่ ปากเบี้ยว ทรงตัวลำบาก ปัญหาการมองเห็น การพูด ฟัง รวมถึงระดับสติปัญญาหรือการรับรู้เปลี่ยนไปจากเดิม และหากก้อนโตขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้แรงดันในสมองสูงขึ้น มีอาการปวดหัวหรือทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง หรือกดสมองโดยทั่วไปหรือบริเวณแกนสมอง ทำให้มีอาการซึมหรือระดับการรู้ตัวลดลง ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นหมดสติหรือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 


ป้องกันเนื้องอกสมองได้อย่างไร

เนื้องอกสมองไม่มีวิธีป้องกัน เพราะไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงมะเร็ง อย่างงดสูบบุหรี่ เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่เครียด ย่อมช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกสมองได้


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาเนื้องอกสมอง

โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลพร้อมดูแลรักษาทุกปัญหาเกี่ยวกับสมอง โดยมีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านสมอง รวมถึงแพทย์สหสาขาวิชาด้านอื่น ๆ ที่พร้อมให้การดูแล มีเครื่องมือ เทคโนโลยี และวิธีการรักษาที่ทันสมัย มุ่งเน้นการรักษาที่ต้นเหตุ ป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ มีสุขภาพสมองที่แข็งแรง