หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
หลอดเลือดสมองอุดตัน รักษาไว ไม่เป็นอัมพาต

โรคหลอดเลือดสมองอุดตันไม่เพียงแต่มีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต แต่ยังร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากรักษาไม่ทันท่วงที ที่สำคัญปัจจุบันผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้สูงอายุเท่านั้น แต่วัยรุ่นและวัยทำงานก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ ดังนั้นการรู้เท่าทันโรคและเทคนิคการรักษาหลอดเลือดสมองอุดตันจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรละเลย

สังเกต BEFAST ก่อนสาย

อาการโรคหลอดเลือดสมองอุดตันที่เรียกว่า BEFAST ควรต้องสังเกตและหากพบต้องรีบนำส่งแพทย์ทันที ได้แก่

  • B – Balance (Loss of Balance) เดินเซ เวียนศีรษะ บ้านหมุนฉับพลัน
  • E – Eyes (Blurred Vision) ตามัว มองไม่เห็น เห็นภาพซ้อนฉับพลัน
  • F – Face Dropping : ยิ้มแล้วมุมปากตก
  • A – Arm Weakness : ยกมือแล้วกำไม่ได้ แขนขาไม่มีแรง
  • S – Speech Difficulty : พูดไม่ชัด พูดไม่ออก
  • T – Time To Call : โทร.แจ้งนำส่งโรงพยาบาล

รวมถึงอาการเดินเซ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะรุนแรงกะทันหันก็เป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองอุดตันที่ต้องสังเกตร่วมด้วย


รอดได้ด้วย MAGIC NUMBER 4.5

นับตั้งแต่สังเกตอาการแล้วมาถึงโรงพยาบาลภายใน 4.5 ชั่วโมง แพทย์สามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดหรือ rtPA ทางหลอดเลือดดำ ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดเลือด แต่ไม่พบภาวะเลือดออกในสมองมีเลือดไปเลี้ยงสมองได้ทัน

ส่วนผู้ป่วยที่มาช้าเกิน 4.5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ โดยผ่านการตรวจวินิจฉัยแล้วว่าเซลล์สมองยังไม่ตายจากการอุดตันของลิ่มเลือดขนาดใหญ่จะต้องอาศัยการใส่สายสวนหลอดเลือดสมองแทนการให้ยา rtPA


รักษาหลอดเลือดแดงอุดตันขนาดใหญ่

การตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดแดงอุดตันขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยี MRI SCAN ช่วยให้มองเห็นความเสียหายชัดเจน ทำการรักษาได้มีประสิทธิภาพ โดยมีเครื่อง Bi-plane DSA เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญในการดึงลิ่มเลือดอุดตัน เป็นการผ่าตัดแบบ Minimal Invasive โดยใส่สายสวนไปเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตัน โดยไม่ต้องเปิดกะโหลกศีรษะ แต่จะมีแผลเล็กที่บริเวณขาหนีบที่เป็นที่ใส่สายสวน เนื่องจากสายสวนจะถูกใส่ผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่ช่วงลำตัว ช่องอก ต่อเข้าไปที่หลอดเลือดบริเวณคอ เข้าไปในสมองโดยที่ไม่ผ่านเข้าหลอดเลือดแดงของหัวใจ ต่อด้วยการฉีดสารทึบรังสีเพื่อให้เห็นแนวของหลอดเลือดชัดเจน โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้วิธีดูดหรือนำลวดหรือตะแกรงเข้าไปเกี่ยวลิ่มเลือดที่อุดตัน


ดูแลหลังผ่าตัดคือหัวใจสำคัญ

การได้รับการดูแลหลังผ่าตัดคือสิ่งสำคัญ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลมี SMART NEURO ICU หรือ หอผู้ป่วยวิกฤติโรคสมองและระบบประสาท ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่อยู่ใน ICU หรือระยะเฉียบพลัน (Early Rehabilitation) ช่วยให้การฟื้นตัวทางด้านสมองและกำลังกล้ามเนื้อเร็วขึ้น และสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อาทิ ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เสมหะอุดกั้นทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางปอด โรคลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ เป็นต้น ภายใต้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง โดย Personal Health Management และ Stroke Coordinator ประสานงานกัน โดยเฟสแรกผู้ป่วยจะเข้าไอซียู เฟสที่สองคือ การฟื้นฟูและการทำกายภาพบำบัดสำคัญมากภายใน 3 เดือนแรกต้องทำอย่างสม่ำเสมอ โดยมีทีม Physical Therapy ช่วยฝึกกำลังแขนขา Speech Therapy ฝึกการพูด Cognitive Function ฟื้นฟูการรับรู้ หลังผ่าตัดผู้ป่วยหลายรายมักมีอาการซึมเศร้า โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลมีศูนย์ฟื้นฟูจิตใจที่ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยกลับมามีความสุขอีกครั้ง


ป้องกันหลอดเลือดสมองอุดตัน

  • กินอาหารครบ 5 หมู่
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ระวังอย่าให้น้ำหนักเกิน
  • ตรวจร่างกายประจำปี วัดความดัน เช็กเบาหวาน คลื่นหัวใจ ตรวจการนอนกรน
  • คนที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีอาการน่าสงสัยควรทำอัลตราซาวนด์หลอดเลือดที่คอเพื่อดูว่ามีคราบไขมันจับหรือตีบหรือไม่

ตัวอย่างเคสผู้ป่วยอายุ 60 ปีที่แข็งแรงมาก ตื่นนอนตอนเช้าแล้วฟุบลงกับพื้น อาการคือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ท้ายทอยอุดตัน หลังจากได้รับการรักษาด้วยการฉีดสีหลอดเลือดสมองแล้วลากลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือดสมองภายใน 2 ชั่วโมง ผู้ป่วยเริ่มขยับแขนขาได้ วันที่สามลุกนั่งได้ กลับจากโรงพยาบาลสามารถเดินเองได้ ในวันนั้นหากมาไม่ทันเวลาและไม่ได้รับการรักษาด้วยทีมและเครื่องมือที่พร้อมอาจจะเสียชีวิตได้


ความน่ากลัวของโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน คือ อายุไม่ใช่ตัวบอกโรคอีกต่อไป คนทุกวัยและคนที่สุขภาพดีก็สามารถเป็นได้ สิ่งสำคัญคือหากป่วยด้วยโรคนี้จะต้องมารักษาให้ทันเวลากับแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์ในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือและบุคลากรที่พร้อมจึงจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตและลดความเสี่ยงจากการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลมุ่งมั่นคัดสรรเทคโนโลยีที่ทันสมัยและพัฒนาองค์ความรู้ในการรักษา เพื่อสร้างรูปแบบการรักษาที่เชื่อมั่นให้กับผู้ป่วย โดยร่วมมือกับ Oregon Health and Science University ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วยยกระดับบริการให้ทัดเทียม แสดงถึงการให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัย ไม่ใช่แค่การรักษาเพียงอย่างเดียว