การกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation) หรือที่มักเรียกกันว่า TMS เป็นการรักษาโรคทางสมองและระบบประสาทรูปแบบใหม่ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดหรือใช้ยา โดย TMS สามารถใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองและระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคพาร์กินสัน รวมถึงอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับระบบสมอง เป็นต้น
หลักการรักษา TMS
หลักการของการกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation) หรือ TMS คือ การใช้เครื่องสร้างสนามแม่เหล็กกำลังสูงและนำสนามแม่เหล็กนั้นไปกระตุ้นสมองในบริเวณที่ทำให้เกิดโรค เช่น ในกรณีโรคซึมเศร้าจะใช้การกระตุ้นสมองบริเวณด้านซ้ายหน้า (Dorsolateral Prefrontal Cortex) ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถช่วยให้อาการซึมเศร้าในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาดีขึ้น ในกรณีโรคหลอดเลือดสมองที่ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงซีกหนึ่งหรือพูดลำบาก พบว่าการกระตุ้นสมองในบริเวณที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการรักษาด้วยกายภาพบำบัดสามารถช่วยให้อาการผู้ป่วยดีขึ้นได้ดีกว่าการทำกายภาพบำบัดเพียงอย่างเดียว และจากการศึกษายังพบว่าการกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็กยังช่วยรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องความจำถดถอย
ขั้นตอนการรักษา TMS
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาทจะทำการประเมินหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการกระตุ้นสมองในผู้ป่วยแต่ละราย และตรวจหากำลังคลื่นไฟฟ้าที่เหมาะสมที่จะให้การรักษา (Motor Threshold) จากนั้นจะมีการวางตำแหน่งเครื่องกระตุ้น TMS ในบริเวณดังกล่าวและทำการกระตุ้นเป็นจังหวะ เครื่องกระตุ้นนี้จะทำให้เกิดเสียงคลิกและจะทำให้ผิวหนังบริเวณใต้เครื่องกระตุ้นรู้สึกเหมือนมีการแตะเบา ๆ โดยที่ไม่มีความเจ็บปวด หลังรับการรักษาแต่ละครั้งผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินกิจวัตรประจำวันหรือทำงานได้ตามปกติ การรักษาแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 – 60 นาที ส่วนใหญ่แล้วการรักษาด้วยวิธีนี้ต้องทำต่อเนื่องหลายครั้ง โดยที่จำนวนครั้งที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับโรคที่เข้ารับการรักษา
TMS กับโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล
เครื่องกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ TMS ที่ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล เป็นรุ่นที่มีศักยภาพในการรักษาสูง สามารถกระตุ้นสมองได้ตั้งแต่ความถี่ต่ำ (Low Frequency Stimulation) จนไปถึงความถี่สูงมาก (Theta Burst Stimulation) ทำให้สามารถรักษาโรคสมองและระบบประสาทได้หลากหลาย อีกทั้งสามารถให้บริการรักษาได้ทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยสามารถให้การรักษาข้างเตียงได้ในกรณีที่ผู้ป่วยเคลื่อนย้ายลำบาก เช่น ในกรณีที่มีอาการอ่อนแรง เป็นต้น
ถึงแม้การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็ก หรือ TMS จะเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยก็ควรได้รับการดูแลรักษาและติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องโดยแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาทภายใต้มาตรฐานโรงพยาบาลระดับสากล เพื่อให้กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว