หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงลดไมเกรน

ไมเกรนเป็นโรคปวดศีรษะที่มีความรุนแรงมาก พบได้บ่อยในทุกเพศและทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงวัยทำงาน ทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ไมเกรนเป็นโรคที่เกิดจากความไวของสมองที่มีมากกว่าปกติ สิ่งกระตุ้นชนิดต่าง ๆ จากทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนขึ้นมาได้ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเป็นการรักษาวิธีหนึ่งที่ผู้ป่วยไมเกรนสามารถทำได้ เช่น การสังเกตประเภทของอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะก็จะช่วยทำให้อาการปวดศีรษะลดน้อยลง

กลุ่มอาหารที่กระตุ้นอาการปวดศีรษะ

  1. สารไทรามีน (Tyramine)
    พบว่าเป็นองค์ประกอบธรรมชาติในอาหาร เช่น เนยแข็งที่บ่ม ปลารมควัน เนื้อสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธียืดอายุ ของหมักดอง อาหารที่มีส่วนประกอบของยีสต์ เบียร์ เป็นต้น ผู้ที่มีความไวต่อสารไทรามีน เมื่อรับประทานอาหารเหล่านี้เข้าไปจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  2. สารแอสปาร์แตม (Aspartame)
    สารให้ความหวาน ซึ่งหวานกว่าน้ำตาลปกติ 180 – 200 เท่า ถึงแม้จะไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการว่าเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ไมเกรน แต่ก็พบว่าในผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดศีรษะหลังรับประทานสารตัวนี้
  3. ผงชูรส (Monosodium glutamate; MSG)
    สารปรุงแต่งรสชาติอาหารที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง มักถูกใช้สำหรับปรุงรสชาติอาหารให้อร่อย ใช้ในอาหารกระป๋อง และอาหารพร้อมรับประทาน กลไกการกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะอาจมาจากการกระตุ้นให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิด หรือไปกระตุ้นให้เซลล์ของผนังหลอดเลือดหลั่งสารไนตริกออกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว นำไปสู่อาการปวดศีรษะในที่สุด
  4. ไนเตรตและไนไตรท์ (Nitrates and Nitrites)
    สารกันบูดที่ใช้ในการถนอมอาหาร อาหารหมักดอง หรืออาหารรมควัน เช่น ไส้กรอก เนื้อรมควัน หรือปลารมควัน หลังจากรับประทานอาหารที่มีสารดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะในทันที หรืออาจจะใช้เวลานานกว่านั้นเป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมงก็ได้ กลไกการกระตุ้นให้ปวดศีรษะอาจเกิดจากสารดังกล่าวไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารไนตริกออกไซด์ หรือสารที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัวชนิดอื่น ๆ ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ผู้ป่วยที่มีความไวต่อสารนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของทั้งโซเดียม ไนไตรท์และโซเดียม ไนเตรต โพแทสเซียม ไนไตรท์ และโพแทสเซียม ไนเตรต
  5. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol)
    โดยเฉพาะในไวน์แดง พบเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนได้บ่อย อาจจะทำให้มีอาการปวดศีรษะภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากดื่ม หรือเกิดตามมาในช่วงท้ายก็ได้ สาเหตุเกิดจากไวน์มีส่วนประกอบของไทรามีน ซัลไฟต์ ฮีสตามีน และสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งสารเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
  6. คาเฟอีน
    สารที่พบในกาแฟ ชา โซดา และช็อกโกแลต ซึ่งรวมถึงยาแก้ปวดศีรษะที่มีส่วนผสมของสารนี้ คาเฟอีนจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางขึ้นกับขนาดที่รับประทานเข้าไป โดยปกติจะพบในน้ำอัดลม 115 มิลลิกรัม คาเฟอีนในขนาด 50 – 300 มิลลิกรัม มีผลทำให้ร่างกายตื่นตัว หากมากกว่า 300 มิลลิกรัม จะทำให้เกิดอาการวิตกกังวล กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ หงุดหงิด คาเฟอีนสามารถกระตุ้นให้ปวดศีรษะและยังสามารถช่วยลดอาการปวดศีรษะได้ ขึ้นอยู่กับขนาดและความถี่ของการใช้ ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ แนะนำให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม อาหาร หรือยาที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน

นอกจากนี้การนอนพักผ่อนให้เพียงพอและตรงตามเวลาทุกวัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke) งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ และถ้าอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นหรือมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที สามารถลดอัตราการเกิดไมเกรนได้