หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ช่องกระดูกสันหลังตีบแคบ รู้ให้ทันรับมือได้ถูก

หลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อโรคช่องกระดูกสันหลังตีบแคบ เพราะส่วนใหญ่โรคนี้มักพบในผู้สูงวัย เนื่องจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังและข้อกระดูกสันหลัง ส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวลงขา ชา และอ่อนแรง รบกวนการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน หรือในบางครั้งไม่มีอาการปรากฏ รู้ตัวอีกทีก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด ดังนั้นการใส่ใจและรู้เท่าทันโรคช่องกระดูกสันหลังตีบแคบจะช่วยให้รักษาได้ถูกต้องทันท่วงที

รู้จักช่องกระดูกสันหลังตีบแคบ

โรคช่องกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis) เกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังและข้อกระดูกสันหลัง ส่งผลให้เกิดพังผืดและกระดูกงอกไปบีบรัดบริเวณเส้นประสาท ทำให้มีอาการผิดปกติบริเวณหลัง สะโพก หรือขา มักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป เพราะเริ่มเกิดความเสื่อมตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

อาการบอกโรค

อาการของโรคช่องกระดูกสันหลังตีบแคบเกิดขึ้นแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโดยเร็วที่สุด

  • ปวดหลัง
  • ปวดหลังร้าวลงขา
  • ปวดขา ตั้งแต่ต้นขาไปถึงน่อง
  • ชา
  • อ่อนแรง
  • กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้
  • มีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย
  • ไม่อยากเดิน เดินน้อยลงมากจนสังเกตได้ เพราะการเดินทำให้ปวดหน่วงร้าวลงขา

ปัจจัยเสี่ยงโรค

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคช่องกระดูกสันหลังตีบแคบที่พบมากที่สุดคือ ความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังและข้อต่อ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่

  • อายุที่เพิ่มขึ้น
  • ความเสื่อมก่อนวัยจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น เดินเยอะ ยกของเยอะ เป็นต้น
  • กรรมพันธุ์
  • อุบัติเหตุรุนแรง
  • เนื้องอกหรือมะเร็งที่โตขึ้นจนไปกดเบียดช่องไขสันหลัง

การวินิจฉัยโรค

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางมักมีอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จึงวินิจฉัยโดยการซักประวัติอาการเป็นสำคัญ อาทิ ดูความแข็งแรง ตรวจความรู้สึก ตรวจชีพจร ฯลฯ จากนั้นอาจมีการเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพราะสามารถบอกตำแหน่งได้อย่างถูกต้อง แล้วจึงพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยเริ่มจากการทำกายภาพบำบัด รับประทานยา หาวิธีระงับความปวด ไปจนถึงการผ่าตัดหากมีอาการรุนแรง

วิธีการรักษา

การรักษาช่องกระดูกสันหลังตีบแคบขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถทำการรักษาได้ทั้งผ่าตัดและไม่ผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางเป็นสำคัญ โดยวิธีการรักษาสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Minimally Invasive Spine Surgery (MISS) เทคโนโลยีผ่าตัดกระดูกสันหลังแผลเล็ก

แม้โรคช่องกระดูกสันหลังตีบแคบจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่การใส่ใจดูแลตนเองอยู่เสมอ ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะความอ้วนส่งผลให้กระดูกเสื่อมและช่องไขสันหลังตีบได้มากกว่าคนปกติ ไม่ยกของหนัก รวมถึงเลี่ยงการสูบบุหรี่ ย่อมช่วยยืดอายุความเสื่อมของกระดูกสันหลังได้เป็นอย่างดี