โรคกระดูกสันหลังเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การยกของหนัก การนั่งหรือเอี้ยวตัวผิดวิธี ประสบอุบัติเหตุ หรือความชรา เป็นต้น โดยโรคนี้จะแสดงให้เรารู้จากอาการ ‘ปวด’ ซึ่งอาการปวดในที่นี้อาจเป็นอาการปวดเรื้อรังไม่หายขาด ในบางกรณีอาจถึงขั้นต้องผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดเป็นเรื่องที่หลายคนมักกลัวและกังวลใจ โดยเฉพาะความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด รวมถึงผลข้างเคียงหลังผ่าตัด การต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อแก้ไขจึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ
แนวทางการรักษาโรคกระดูกสันหลัง
แนวทางการรักษาอาการปวดจากโรคกระดูกสันหลังเป็นไปตามกระบวนการรักษา โดยเริ่มต้นจาก
- การรักษาด้วยยา การทานยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาแก้ปวดต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ รวมถึงการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท
- การทำกายภาพบำบัด เป็นการนวดคลายกล้ามเนื้อและฝึกการใช้กล้ามเนื้อหลังอย่างถูกวิธี
- การผ่าตัด ในกรณีที่อาการเจ็บปวดรบกวนชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด จะเป็นการผ่าตัดแบบเปิดแผลที่ต้องเลาะกล้ามเนื้อออกจากกระดูก ซึ่งในบางรายอาจจะต้องตัดกระดูกออกส่วนหนึ่ง วิธีนี้จะใช้เวลาฟื้นตัวนานและผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
รักษาโรคกระดูกสันหลังแบบ Intervention อาจไม่ต้องผ่าตัด
การรักษาแบบ Intervention หรือ Interventional Spine Pain Management มุ่งเน้นการวินิจฉัยหาต้นตอสาเหตุของอาการปวดที่แท้จริงก่อนการรักษา โดยมีเทคนิคการรักษาอาการปวดแบบไม่ต้องผ่าตัดด้วยการ “ฉีดยา” หรือ “จี้” บริเวณต้นตอที่เป็นสาเหตุของอาการปวด วิธีการจะขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและจุดปวด ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ สามารถแก้อาการปวดได้ถูกตำแหน่ง เข้าใจสาเหตุ และต้นกำเนิดของจุดเจ็บปวดที่แท้จริง เพราะมีแพทย์เฉพาะทางในการรักษาอาการปวด (Pain Intervention Specialist) ซึ่งมีความชำนาญร่วมวินิจฉัยจุดปวดและต้นตอสาเหตุด้วยวิธีการเฉพาะทางต่าง ๆ ทำให้สามารถบรรเทาหรือช่วยผู้ป่วยให้หายจากอาการปวด
รักษาแบบ Intervention เหมาะกับใคร
- ผู้ที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งผ่านการทานยาและกายภาพบำบัดมาแล้วอาการไม่ทุเลา และไม่ต้องการผ่าตัด
- ผู้ป่วยที่สภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยในการผ่าตัด เช่น ผู้ป่วยที่เสี่ยงกับการติดเชื้อ ผู้ป่วยที่มีอายุมากและมีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญว่าผู้ป่วยสามารถรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดได้หรือไม่
ขั้นตอนการรักษาแบบ Intervention
- ทีมแพทย์วินิจฉัย ซักประวัติ ตรวจร่างกาย เอกซเรย์หรือสแกน MRI เพื่อนำข้อมูลมาประมวลหาต้นตอของอาการปวด
- แพทย์พิจารณาวิธีระงับความปวด (Pain Intervention) ซึ่งทำได้หลายวิธีตามขั้นตอนการรักษา เช่น ทานยาที่จำเพาะต่ออาการ กายภาพบำบัด การฉีดยาลดการอักเสบด้วยเข็มเข้าช่องเส้นประสาทเฉพาะจุด หรือการจี้ข้อกระดูกสันหลังด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ซึ่งแต่ละขั้นตอนการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
- หากผลการวินิจฉัยออกมาว่าผู้ป่วยอยู่ในกรณีที่จำเป็นต้องผ่าตัด แพทย์ Pain Intervention มีบทบาทในการช่วยวินิจฉัยจุดผ่าตัด และภายหลังผ่าตัดยังมีบทบาทในการช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติดังเดิม
รักษาแบบ Intervention โดยสถาบันโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล
โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลมีแนวทางการรักษาโรคกระดูกสันหลังแบบ Intervention ซึ่งทีมแพทย์ Intervention เป็นทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญการรักษาด้วยวิธีนี้ และยึดมั่นหลักการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม มีหลักการทำงานร่วมกันเป็นทีมโดยแพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขา อาทิ Pain Intervention Specialist, ประสาทศัลยแพทย์, แพทย์ศัลยกรรมกระดูก, แพทย์ประสาทวิทยา, วิสัญญีแพทย์, แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ฯลฯ ร่วมกันวินิจฉัยสาเหตุและอาการเจ็บปวดที่แท้จริง รวมถึงนำเสนอทางเลือกในการรักษาต่าง ๆ ตลอดจนถึงขั้นตอนการผ่าตัดหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาอาการเจ็บปวด ลดการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น และเพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติได้โดยเร็ว