หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ข้อเข่าเสื่อม ผ่าตัดรักษาคืนคุณภาพชีวิตที่ดี

ข้อเข่าเสื่อมอาจไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็เป็นหนึ่งในความผิดปกติของร่างกายที่ทำให้หลายคนสูญเสียคุณภาพชีวิตที่ดีไป และในปัจจุบันโรคนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อายุน้อย มีการบาดเจ็บที่ข้อเข่า ออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม ใช้ข้อเข่าหนักหักโหม หรือมีน้ำหนักตัวมากเกิน ก็อาจเกิดอาการเจ็บปวดที่มีสาเหตุมาจากข้อเข่าเสื่อมได้

อาการข้อเข่าเสื่อม

  • ปวดเข่ามากเวลาเดิน ขึ้นลงบันได ลุกนั่ง ฯลฯ จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ
  • ปวดเข่าเวลานอน
  • เข่าอักเสบ บวมร้อนบ่อย เรื้อรัง
  • เข่าผิดรูปจากเดิม โค้งออก เกเข้าใน
  • เข่าติดขยับ เหยียด งอลำบาก

ด้วยความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะเป็นที่มาของความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด รวมถึงต้องรักษาตัวเป็นเวลานานกว่าจะกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยจึงลังเลในการเข้ารับการผ่าตัด แต่หากเลือกรับการรักษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการในโรงพยาบาลที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ก็สามารถคลายความกังวลที่กล่าวมาข้างต้นได้

ก่อนผ่าเข่า สบายใจหายห่วง

โปรแกรมการรักษาที่ออกแบบเฉพาะบุคคล (Customize Service) ของศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการผ่าตัด เพราะคนไข้มีสภาวะที่ต่างกัน มีการใช้ Digital Template โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยวางแผนหาขนาดของข้อเข่าเทียมที่เหมาะสมกับคนไข้ รวมทั้งกระดูกที่จะถูกตัดออกว่าจะหนาบาง เล็กใหญ่ขนาดไหน และต้องเอียงทำมุมเท่าใด โดยเฉพาะกรณีที่มีความวิกลรูปผิดปกติมาก หรือกรณีที่เคยมีกระดูกหักหรือการผ่าตัดมาก่อน 

เมื่อผ่านขั้นตอนแรกเรียบร้อยจะมาต่อที่ Total Knee Pathway เป็นแนวปฏิบัติมาตรฐาน ป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดก่อนผ่าตัด โดยมีรายการว่าต้องตรวจสอบอะไรบ้าง เช่น ข้อมูลสุขภาพ ความผิดปกติต่าง ๆ ของคนไข้  ก่อนและหลังผ่าตัดต้องให้ยาอะไร ใช้อุปกรณ์ชนิดไหนแบบไหนจึงจะเหมาะสม

หลังผ่าเข่า เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว

เพราะ…

  1. เทคนิคการผ่าตัดแบบทะนุถนอมเนื้อเยื่อไม่ให้บอบช้ำ และยังมีการใช้เครื่องจี้ห้ามเลือดด้วยคลื่นวิทยุ (Aquamantys) ที่ไม่ทำให้เนื้อเยื่อเกรียม และระบบบริหารยาลดความเจ็บปวด ช่วยให้คนไข้เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว การผ่าตัดส่วนใหญ่จะใช้การฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังเพื่อไม่ให้เจ็บในระหว่างการผ่าตัด และทำให้คนไข้ไม่เจ็บปวดภายหลังการผ่าตัดด้วย Adductor Canal Block โดยจะฉีดยาชาเข้าไปที่เส้นประสาทบริเวณเหนือเข่าและคาสายไว้ เพื่อให้ยาต่อไปช้า ๆ แบบอัตโนมัติ ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่กล้ามเนื้อยังทำงานได้ การผ่าตัดอาจใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมงขึ้นกับความยากง่ายในแต่ละเข่า หลังผ่าตัดผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะผู้สูงวัยอาจจะอยู่ที่ห้องพักฟื้นในห้องกึ่ง ICU 1 คืน จากนั้นจะย้ายมาอยู่ห้องปกติ ซึ่งจะให้นักกายภาพบำบัดสอนฝึกการขยับขาและการงอเหยียดเข่า ฝึกการยืนเดินภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด (ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล)
  2. การฟื้นฟูกล้ามเนื้อเข่าหลังผ่าตัดโดยทีมกายภาพช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด และทำกายภาพด้วยเครื่อง Alter-G (Anti Gravity Treadmill) หรือ ลู่วิ่งต้านแรงโน้มถ่วง เป็นเครื่องมือกายภาพบำบัดที่เมื่อคนไข้เดินเข้าไปแล้ว ระบบจะทำการอัดอากาศเข้าไปเพื่อพยุงตัวให้ลอยขึ้น เปรียบเสมือนเดินอยู่ในลูกบอลลูน คนไข้จึงกล้าก้าวเดิน เพราะไม่เจ็บขณะลงน้ำหนัก นักกายภาพบำบัดจะ ปรับการต้านแรงโน้มถ่วงจากมากไปหาน้อยเพื่อให้ผู้ป่วยปรับตัวกับการรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทีละน้อยได้ ช่วยให้ฟื้นตัวเร็ว ภายในวันแรกก็สามารถขยับเดินได้ เมื่อครบ 5 วันตามโปรแกรม ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถเดินกลับบ้านใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่ยังไม่แนะนำให้วิ่งหรือกระโดด มากกว่า 90% สามารถนั่งกับพื้นได้ นั่งยอง ๆ ได้ ผู้สูงอายุสามารถเล่นกีฬาที่ไม่หนักอย่างตีกอล์ฟ ขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำได้

ระบบป้องกันภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัดและระยะพักฟื้น

ในระหว่างการผ่าตัดจะมีการใช้เครื่องจี้ห้ามเลือดด้วยคลื่นวิทยุ  (Aquamantys) ที่ไม่ทำให้เนื้อเยื่อไหม้เกรียม อีกทั้งยังช่วยลดการเสียเลือดหลังการผ่าตัด และเทคนิคการผ่าตัดแบบบอบช้ำน้อย ร่วมกับการใช้ชุดผ่าตัดพิเศษเหมือนชุดมนุษย์อวกาศ จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อหลังผ่าตัดได้ ผลข้างเคียงอีกอย่าง ได้แก่ ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน เกิดลิ่มเลือดไปบล็อกที่ปอด ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงขึ้นขั้นเสียชีวิต สาเหตุเกิดจากคนไข้เจ็บและไม่ยอมขยับตัว และกลไกของร่างกายเองที่จะสร้างสารที่ก่อให้เกิดลิ่มเลือด นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากโรคเดิมของผู้ป่วย เช่น โรคอ้วน โรคมะเร็ง หรือได้รับฮอร์โมนบางชนิดในปริมาณมาก ฉะนั้นหลังผ่าตัดการลุกขยับเดินให้เร็วที่สุดสามารถป้องกันภาวะดังกล่าว ร่วมกับการใช้ถุงลมบีบช่วยเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก พร้อมกับการให้ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดหลังการผ่าตัด และทานต่อที่บ้านจนครบ 2 สัปดาห์

ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด

การรักษาข้อเข่าเสื่อมจะยึดความต้องการของผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่ใช่ทุกคนจะต้องจบที่การผ่าตัด เน้นรักษาตามระยะของโรคข้อเข่าเสื่อม ถ้ายังสามารถอยู่กับสภาวะเข่าเสื่อมได้ก็จะแนะนำให้เปลี่ยนวิธีการใช้งาน เช่น

  • ห้ามนั่งคุกเข่า นั่งยองๆ
  • เล่นกีฬา ควรเลือกชนิดที่เบาลงอย่างว่ายน้ำ เดินเร็ว ขี่จักรยาน เน้นว่าต้องปรับที่นั่งให้สูงด้วย เพื่อให้เข่าได้เหยียดเต็มที่
  • ปรับการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างอเข่าเยอะ หมั่นบริหารกล้ามเนื้อหน้าขา เวลานั่งทำงานนาน ๆ แล้วรู้สึกเมื่อย ควรพักเข่าด้วยการเหยียดขาตรงในท่านั่งแล้วนับ 1 – 10 เพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าขาแข็งแรงขึ้น เข่าก็จะมั่นคงขึ้น พอมั่นคงก็จะเจ็บน้อยลง
  • ควบคุมน้ำหนัก
  • ผู้สูงอายุพยายามขึ้นลงบันไดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

เข่าเสื่อมหากยังเป็นไม่มากสามารถรักษาด้วยการทานยาตามอาการได้ การฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมเพื่อช่วยลดการเสียดสีของข้อเข่า ถ้ายังไม่ไหวก็สามารถฉีดยาสเตียรอยด์ในปริมาณที่จำกัดได้ แต่ถ้าการรักษาที่ว่ามาทั้งหมดไม่ได้ผลก็ต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยการรักษาจะเป็นไปตามความต้องการของผู้ป่วยอย่างแท้จริง

ให้ชีวิตพร้อมก้าวต่อไป…