หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ผู้หญิงกับโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือที่เรียกรวม ๆ ว่า สโตรก (Stroke) นั้นเป็นสาเหตุของความพิการและการเสียชีวิตโดยเฉพาะในผู้หญิงเป็นอันดับต้น ๆ และเนื่องจากผู้หญิงมีอายุยืนกว่าจึงได้รับความทรมานจากโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้ชาย ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองเกิดจากการที่หลอดเลือดที่พาออกซิเจนไปเลี้ยงสมองอุดตัน ทำให้สมองขาดออกซิเจน และเกิดความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อการพูดและการเคลื่อนไหวของร่างกาย อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในกรณีที่รุนแรง

อาการบอกโรค

อาการของโรคหลอดเลือดสมองมักเริ่มจากแขนขาอ่อนแรงหรือชาบริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัวหรือมองไม่เห็น มีปัญหาด้านการพูดหรือการเข้าใจบทสนทนา ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุ รวมถึงอาการวิงเวียนหรือวูบแบบเฉียบพลัน เมื่อมีอาการดังกล่าวควรติดต่อแพทย์ฉุกเฉินทันที เพราะความแตกต่างระหว่างรายที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตกับรายที่มีอาการไม่รุนแรงนัก ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยถึงมือแพทย์ได้เร็วเพียงใดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

มีหลักฐานทางการแพทย์บ่งชัดเจนแล้วว่า เมื่อเป็นโรคหลอดเลือดในสมองอุดตันต้องรีบพบแพทย์โดยด่วนทันที ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี

ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิง

  • ผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
  • ไขมันในเลือดสูง
  • โรคหัวใจ อาทิ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดหัวใจตีบ
  • เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ (มีโอกาสในการเกิดโรคซ้ำ 10% ใน 1 ปีแรก)
  • สูบบุหรี่
  • น้ำหนักตัวเกิน
    – ผู้หญิงไม่ควรหนักเกิน 23 BMI (BMI = น้ำหนัก หารด้วยส่วนสูง2)
    – ผู้หญิง เอวไม่ควรเกิน 32 นิ้ว (ผู้ชาย เอวไม่เกิน 36 นิ้ว)
  • ออกกำลังน้อย (ควรออกกำลังกายวันละ 30 นาทีอย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์)
  • ความดันโลหิตสูง

คุมความดันโลหิตห่างไกลโรค

วิธีการหลีกเลี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองทำได้โดยการควบคุมระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ โดยค่าความดันโลหิตปกติเท่ากับ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งผู้หญิงควรจดจำทั้งค่าปกติและค่าความดันโลหิตของตนเอง โดยปัจจัยที่ทำให้ค่าความดันโลหิตสูงผิดปกติ ได้แก่ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ภาวะทุพโภชนาการ และออกกำลังกาย การออกกำลังกายน้อยหรือไม่ออกกำลังกายมีผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้

ป้องกันรักษาก่อนสาย

  • ควบคุมความดันโลหิต
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • งดดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

“การตรวจสุขภาพเป็นประจำคือวิธีที่ดีที่สุดในการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง”

 

ความเสี่ยงสำหรับผู้หญิง

แม้ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองของทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะไม่ต่างกันมากนัก แต่ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษในช่วงที่ตั้งครรภ์ เพราะความดันโลหิตจะสูงกว่าปกติ นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน รวมทั้งผู้ที่เคยรับประทานยาคุมกำเนิด ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย