หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม แก้ได้ด้วยเทคนิค ALIF

การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังส่วนล่าง โดยทั่วไปจะต้องผ่าตัดแบบเปิดบาดแผล เปิดกล้ามเนื้อหลังออกเป็นช่อง และจำเป็นต้องตัดกระดูกบางส่วนเพื่อจะเข้าถึงหมอนรองกระดูกสันหลังที่อยู่ด้านหน้าของกระดูกสันหลังได้ แต่วิธีนี้จะทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ เกิดผังผืดแผลเป็นบริเวณกล้ามเนื้อ หลังผ่าตัดผู้ป่วยต้องใช้เวลาฟื้นฟูกล้ามเนื้อนานและสภาพกล้ามเนื้อจะไม่ดีเหมือนก่อนผ่าตัด

จากปัญหาดังกล่าวจึงนำเทคนิคการผ่าตัดเสริมหมอนรองกระดูกทางด้านหน้า โดยไม่ทำลายกล้ามเนื้อหลังหรือเอลิฟ (Anterior Lumbar Interbody Fusion : ALIF) มาใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ความผิดปกติของกระดูกสันหลังและเนื้องอกกระดูกสันหลัง การผ่าตัดแบบ ALIF มีข้อดี คือ ไม่จำเป็นต้องมีเหล็กเสริมทางด้านหลังในกรณีหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้เสริมหมอนรองกระดูกทางด้านหน้าในปัจจุบันมีสกรูอยู่ในตัว จึงสามารถยึดติดกับกระดูกสันหลังได้ และมีพื้นที่หน้าตัดกว้างในการรับน้ำหนักกระดูกได้เต็มที่ จึงสามารถรับน้ำหนักได้ 80% ของร่างกายใกล้เคียงกับกระดูกตามธรรมชาติ

ข้อดีของ ALIF

เทคนิคการผ่าตัดแบบ ALIF มีประโยชน์ต่อผู้ป่วย คือ

  1. ไม่ต้องใช้เหล็กยึด
  2. รับน้ำหนักได้มาก
  3. สามารถทำผ่าตัดได้ทุกระดับของกระดูกสันหลังส่วนล่าง โดยเฉพาะระดับล่างสุด (ระดับ L5 กระดูกสันหลังช่วงเอวข้อที่ 5, S1 กระดูกสันหลังช่วงเชิงกรานข้อที่ 1) ซึ่งการผ่าตัดแบบ DLIF (Direct Lateral Interbody Fusion) หรือผ่าตัดเสริมหมอนรองกระดูกทางด้านข้างโดยไม่ทำลายกล้ามเนื้อหลัง มีข้อจำกัดในการผ่าตัดในตำแหน่งนี้ เพราะติดกระดูกสะโพกไม่สามารถผ่าตัดด้านข้างได้
  4. สามารถใช้ BMP (Bone Morphogenetic Protein) ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการเชื่อมติดของกระดูกได้เร็วกว่า ซึ่ง BMP นี้ไม่สามารถใช้ในการผ่าตัดจากด้านหลัง เพราะจะทำให้เกิดการแคบของช่องในกระดูกสันหลังซึ่งเป็นทางผ่ืานของเส้นประสาทได้

ความจริงแล้วการผ่าตัดแบบ ALIF หรือการผ่าตัดด้านหน้า พัฒนามาก่อนการผ่าตัดแบบ DLIF หรือการผ่าตัดทางด้านข้าง แต่ไม่ทำกันแพร่หลายเนื่องจากต้องใช้แพทย์ที่มีฝีมือในเรื่องของการผ่าตัด โดยศัลยแพทย์หลอดเลือดที่ชำนาญในการผ่าตัดเปิดช่องท้องด้านหลัง เพราะต้องผ่าตัดใกล้เส้นเลือดใหญ่ และเส้นประสาทที่สำคัญ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลจึงนำการผ่าตัด ALIF ที่มีแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางหลายสาขาด้านกระดูกสันหลัง แพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดระบบประสาท รวมทั้งทีมศัลยแพทย์หลอดเลือด ร่วมกันดูแลผู้ป่วยแบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย

การผ่าตัดแบบ ALIF ผลการผ่าตัดดี เพราะการผ่าตัดแบบนี้จะไม่มีการตัดกล้ามเนื้อ เพราะเข้าทางด้านข้างช่องท้อง แม้ว่าจะมีเส้นเลือดเยอะแต่ด้วยความชำนาญของทีมแพทย์ สามารถขยับเส้นเลือดให้พ้นจากตำแหน่งที่ผ่าตัดกระดูกสันหลังได้อย่างราบรื่น และข้อดีของเทคโนโลยีนี้คือมีสกรูยึดในตัว จึงไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์อื่นมาช่วย ภาษาแพทย์กระดูกสันหลังเรียกว่า Stand Alone ALIF สามารถแก้ไขพยาธิสภาพต่าง ๆ ของคนไข้ได้ดี และอัตราการเชื่อมติดของกระดูกสันหลัง (Rigid Fusion) จะดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิมมาก


ดูแลหลังผ่าตัด

หลังการผ่าตัดภายใน 1 – 2 สัปดาห์ คนไข้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ส่วนกระดูกที่ถูกเชื่อมข้อ ภายใน 3 เดือน จะเชื่อมติดได้สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลัง ความผิดปกติของกระดูกสันหลัง หรือแม้แต่เนื้องอกก็สามารถใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบ ALIF ได้ โดยไม่ไปรบกวนระบบประสาทด้านหลัง ซึ่งขนาดของแผลผ่าตัดประมาณ 3 – 4 นิ้ว ไม่มีการตัดกล้ามเนื้อใด ๆ ในอนาคต การผ่าตัดแบบ ALIF จะทำให้การผ่าตัดกระดูกสันหลังในระดับสูงที่เคยมีข้อจำกัด เนื่องจากต้องอาศัยการผ่าตัดผ่านกระบังลม ผ่านช่องอก สามารถทำการผ่าตัดได้ เพราะมีทีมศัลยแพทย์หลอดเลือดที่ชำนาญมาทำหน้าที่ผ่าตัดร่วมกับแพทย์ผ่าตัดกระดูกสันหลัง ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ส่งผลให้การผ่าตัดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งทุกครั้งที่คนไข้จำเป็นต้องผ่าตัดจะต้องดีไซน์การผ่าตัดให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน ด้วยเทคนิคและวิธีที่เหมาะสมที่สามารถทำได้ ณ เวลานั้น รวมถึงการวางแผนด้านค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่า และเหมาะสมเพื่อให้การผ่าตัดกลายเป็นเรื่องเบาใจของผู้ป่วยและญาติ