หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
COVID-19 กับอาการและโรคทางระบบประสาท

ในช่วงนี้ทุกคนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับ COVID-19 เพราะเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการทางระบบหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หอบ เหนื่อย และอาจมีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเหมือนกับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ เชื้อไวรัส COVID-19 นอกจากติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจยังสามารถติดเชื้อในระบบอื่น ๆ ได้ ทำให้บางส่วนของผู้ป่วยที่ติดเชื้อมีอาการแสดงในระบบอื่น ๆ ที่อาจพบได้ไม่บ่อย โดยหนึ่งในกลุ่มอาการเหล่านั้นคือ อาการทางระบบประสาท

COVID-19 กับระบบประสาท

มีงานวิจัยที่ทำในนครอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีนพบว่า ผู้ป่วย COVID-19 สามารถพบอาการทางระบบประสาทได้ถึง 36% ซึ่งอาการดังกล่าวพบได้ทั้งในระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System) และระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System) โดยคาดว่าอาการดังกล่าวเกิดจากการที่เชื้อไวรัสสามารถเข้าไปในระบบประสาทได้โดยตรงและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ให้เกิดการอักเสบขึ้น แล้วทำให้มีการบาดเจ็บของเซลล์ประสาทตามมา

จากงานวิจัยดังกล่าวพบว่า อาการทางระบบประสาทในผู้ป่วย COVID-19 มีได้ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น มึนศีรษะ ปวดศีรษะ การรับรสหรือรับกลิ่นลดลง อาการปวดเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อ จนถึงอาการรุนแรง เช่น การรับรู้สติสัมปชัญญะที่ลดลง อาการชัก หรืออาการของโรคหลอดเลือดสมอง

นอกจากนั้นยังมีรายงานผู้ป่วยเกี่ยวกับเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) โรคกลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร (Guillain Barre Syndrome) และโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดในผู้ป่วยอายุน้อย (Acute ischemic stroke in young adults)

COVID-19 กับอาการและโรคทางระบบประสาท

COVID-19 กับโรคทางระบบประสาท

สำหรับคนที่มีโรคทางระบบประสาทอยู่เดิม เช่น โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ หรือ โรคพาร์กินสัน จากการสืบค้นฐานข้อมูลและงานวิจัยจนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่าโรคประจำตัวทางระบบประสาทดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนชัดเจนว่า ยารักษาโรคทางระบบประสาทดังกล่าวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวทางระบบประสาทดังกล่าวบางส่วนมีอายุที่ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าในคนสูงอายุนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ง่ายกว่าคนอายุน้อย รวมทั้งอาการและอาการแสดงจะรุนแรงกว่าด้วย จึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำทางระบบประสาทดังกล่าวควรรับประทานยาต่อเนื่อง ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี และมีการป้องกันการติดเชื้อที่ถูกต้องร่วมด้วย

ในโรคทางระบบประสาทบางอย่าง เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมายแอสทีเนียกราวิส (Myasthenia Gravis), โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบส่วนกลาง (Multiple Sclerosis) หรือโรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (CIDP) ผู้ป่วยบางคนจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกันในการควบคุมโรค ซึ่งจากข้อมูลจนถึงปัจจุบัน พบว่ายากลุ่มนี้ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19  มากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้ทานยาแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้หยุดยาดังกล่าวก่อนการปรึกษาแพทย์ที่จ่ายยา ในกลุ่มคนไข้โรคหลอดเลือดสมองหรือสมองเสื่อม การดูแลผู้ป่วยไม่ได้ต่างกับคนทั่วไป เพียงแต่ว่าต้องเฝ้าระวังเรื่องคนที่คอยดูแลใกล้ชิด เนื่องจากผู้ป่วยสองกลุ่มนี้ส่วนมากมักจะมีผู้ดูแลคอยช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ หรืออาจมีนักกายภาพบำบัดมาฝึกกายภาพให้ผู้ป่วย ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อต่อคนไข้ได้ จึงแนะนำว่าหากคนดังกล่าวมาดูแลคนไข้ที่บ้าน ต้องให้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและล้างมือสม่ำเสมอ ในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องออกไปข้างนอกสามารถทำได้ตามปกติ แต่ต้องมีมาตรการและการปฏิบัติตัวเหมือนคนปกติทั่วไป คือ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือเมื่อสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ไม่เอามือขยี้ตาหรือสัมผัสใบหน้า เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัส 

การติดเชื้อไวรัส COVID-19 นอกจากจะทำให้เกิดอาการทางระบบหายใจแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้หลากหลายแบบ ซึ่งอาการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นอาการที่ไม่ได้จำเพาะเจาะจงกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ ดังนั้นหากมีอาการหรือข้อสงสัย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์อายุรกรรมระบบประสาทเพื่อทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของอาการดังกล่าว บางครั้งอาการที่เป็นอาจเป็นจากสาเหตุอื่น ไม่ได้เป็นจากเชื้อไวรัส COVID-19 เสมอไป

ข้อมูล : นพ.ชัยศักดิ์ ดำริการเลิศ แพทย์อายุรกรรมระบบประสาทและแพทย์ผู้ชำนาญการด้านพฤติกรรมประสาทวิทยาและโรคสมองเสื่อม

Ref. 
  1. Coronavirus disease 2019 (COVID-2019). U.S. Centers for Disease Control and Prevention. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/index.html
  2. Zhu J, Ji P, Pang J, et al. Clinical characteristics of COVID-19: a meta-analysis. J Med Virol 2020
  3. Zhou F, Yu T, Du R, et al. Clinical course and risk factors for mortality of adult inpatients with COVID-19 in Wuhan, China: a retrospective cohort study. Lancet 2020
  4. Madjid M, Safavi-Naeini P, Solomon SD, et al. Potential Effects of Coronaviruses on the Cardiovascular system: A Review. Lancet Cardiol 2020
  5. Mao L, Jin H, Wang M, et al. Neurologic manifestations of hospitalized patients with coronavirus disease 2019 in Wuhan, China. JAMA Neurol 2020
  6. Xu Z, Shi L, Wang Y, et al. Pathological findings of COVID-19 associated with acute respiratory distress syndrome. Lancet Respir Med 2020
  7. Li YC, Bai WZ, Hashikawa T. The neuroinvasive potential of SARS-CoV2 may play a role in the respiratory failure of COVID-19 patients. J Med Virol 2020
  8. Helms J, Kremer S, Merdji H, et al. Neurologic Features in Severe SARS-CoV-2 Infection. NEJM 2020
  9. Xiang P, Xu XM, Gao LL, et al. First Case of 2019 Novel Coronavirus Disease with encephalitis. ChinaXiv 2020
  10. Ye M, Ren Y, Lv T. Encephalitis as a clinical manifestation of COVID-19. Brain Behav Immun 2020
  11. Moriguchi T, Harii N, Goto J, et al. A first case of meningitis/encephalitis associated with SARS-Coronavirus-2. Int J Infect Dis 2020
  12. Poyiadji N, Shahin G, Noujaim D, et al. COVID-1-associated Acute Hemorrhagic Necrotizing Encephalopathy: CT and MRI features. Radiology 2020
  13. Zhao H, Shen D, Zhou H, et al. Guillain-Barre syndrome associated with SARS-CoV-2 infection: causality or coincidence? Lancet Neurol 2020
  14. Oxley TJ, Mocco J, Majidi S, et al. Large-Vessel Stroke as a Presenting Feature of Covid-19 in the Young. NEJM 2020
  15. Onder G, Rezza G, Brusaferro S. Case-Fatality rate and characteristics of patients dying in relation to COVID-19 in Italy. JAMA 2020
  16. Manji H, Carr AS, Brownlee WJ, et al. Neurology in the time of COVID-19. J Neurol Neurosurg Psychiatry 2020