หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
โรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ

โรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุเป็นโรคยอดฮิตที่นำพาผู้สูงวัยมาพบแพทย์อยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งผู้สูงอายุมักบรรยายอาการของตนเองว่า ตนมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน รู้สึกมึน ๆ เหมือนจะหน้ามืด เป็นลม  อยากอาเจียน พะอืดพะอม รู้สึกว่าการทรงตัวไม่มั่นคงเหมือนจะล้ม เป็นต้น ส่วนใหญ่จะบรรยายอาการของตนเองแบบผสมกันหลายแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความซับซ้อนในการวินิจฉัยเป็นอย่างมาก

 

โดยปกติแล้วอาการเวียนศีรษะมักจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

  1. อาการเวียนศีรษะแบบฉับพลัน (Acute dizzness) ซึ่งอาการมักจะเกิดขึ้นในเวลาน้อยกว่า 1 – 2 เดือน
  2. อาการเวียนศีรษะแบบเรื้อรัง (Chronic dizziness) ซึ่งอาการมักจะเกิดขึ้นในเวลามากกว่า 1 – 2 เดือน

อาการเวียนศีรษะเกิดได้ในทุกกลุ่มอายุ ทั้งคนอายุน้อยไปจนถึงคนชรา แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ หากอาการเหล่านี้เกิดในผู้สูงวัย การฟื้นตัวจะค่อนข้างช้ากว่าคนหนุ่มสาว เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของความเสื่อมทางสรีรวิทยาและการมีโรคประจำตัวหลายชนิด ในที่นี้จะกล่าวถึงอาการเวียนศีรษะแบบเรื้อรังเป็นหลัก

อาการเวียนศีรษะแบบเรื้อรังในผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคหรือสภาวะผิดปกติทางร่างกายต่าง ๆ ตามมามากมาย  เช่น

  • เพิ่มโอกาสการหกล้ม
  • การทำกิจวัตรประจำวันถูกจำกัดลงกว่าเดิม
  • สัมพันธ์กับภาวะความดันโลหิตตกในท่ายืน
  • โรคหลอดเลือดในสมองตีบ
  • ฯลฯ

หากอาการเวียนศีรษะแบบเรื้อรังเป็นอยู่นานโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้ผู้สูงวัยเกิดอาการ “กลัวที่จะล้ม” เกิดภาวะซึมเศร้า และเริ่มประเมินตัวเองถึงความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น ต่อมาจะเริ่มไม่อยากเข้าทำกิจกรรมกับคนอื่น ๆ ในสังคม ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะดังกล่าว อันดับแรกเราต้องเข้าใจเรื่องของสรีรวิทยาตามปกติของผู้สูงอายุว่าปกติแล้วอวัยวะที่ควบคุมการทรงตัวและการรับรู้ของสมดุลในร่างกายต้องอาศัยทั้งตา หู ระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ และกระดูกที่แข็งแรง แต่ในผู้สูงอายุนั้นระบบประสาทรับรู้ทั้งที่หู ตา กล้ามเนื้อและข้อจะเสื่อมลง ส่งผลให้เกิดอาการทรงตัวลำบาก รู้สึกวิงเวียนได้ง่าย


สาเหตุของโรควิงเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ

  1. โรคทางระบบหู เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด ก้อนเนื้องอกในหู เส้นประสาทในหูอักเสบ พิษต่อระบบประสาทหูจากการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น
  2. โรคทางระบบประสาทและสมอง เช่น โรคเส้นเลือดในสมองตีบทั้งแบบชั่วคราวและถาวร โรคพาร์กินสัน โรคไมเกรนบางแบบ
  3. ปัญหาของอวัยวะบริเวณลำคอของผู้สูงอายุ เช่น โรคกระดูกต้นคอเสื่อม โรคเส้นเลือดที่คอตีบหรือการมีคราบไขมันเกาะบริเวณหลอดเลือดที่คอ ทำให้เวลาหันศีรษะเร็ว ๆ จะทำให้เกิดการอุดกั้นของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองชั่วคราวจนเกิดอาการเวียนศีรษะขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยมากในผู้สูงอายุ
  4. โรคความดันโลหิตตกในท่ายืน ปัจจุบันในผู้สูงอายุยังไม่มีการศึกษาวิจัยถึงหลักเกณฑ์การวินิจฉัยที่แน่นอน ดังนั้นในประเทศไทยยังคงใช้หลักการวินิจฉัยเดียวกับกลุ่มอายุอื่น ที่น่าสนใจคือมีรายงานในต่างประเทศระบุว่า ในผู้สูงอายุที่มีความดันโลหิตตกในท่ายืนไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมีอาการเวียนศีรษะ แสดงว่าอาจมีสาเหตุร่วมอย่างอื่นที่อธิบายการเกิดอาการเวียนศีรษะในผู้สูงวัยที่ไม่ใช่การมีความดันโลหิตตกในท่ายืนก็เป็นได้
  5. โรคความดันโลหิตตกหลังการรับประทานอาหาร หมายถึง การมีความดันโลหิตตกมากกว่าหรือเท่ากับ 20 mmHg ในท่านั่งหรือยืนภายใน 1 – 2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร
  6. โรคทางจิตเวช เช่น โรคเครียด โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคแพนิก หรือโรคย้ำคิดย้ำทำในผู้สูงอายุนั้น โรคทางจิตเวชที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้บ่อยที่สุดก็คือ โรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้าสามารถเป็นได้ทั้งสาเหตุและผลลัพธ์ของอาการวิงเวียนได้ทั้งคู่
  7. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะได้โดยผ่านกลไกที่แตกต่างกัน เช่น ยาลดความดัน ยาขับปัสสาวะ ยากันชัก ยาปรับอัตราการเต้นของหัวใจ ยาแก้แพ้ ยาฆ่าเชื้อ ยานอนหลับ และยาทางจิตเวช เป็นต้น
  8. โรคทางตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม
  9. โรคอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ โรคซีด โรคเกลือแร่ ไขมันผิดปกติ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

 

โดยสรุปแล้วแม้มีการจำแนกสาเหตุของการเกิดอาการวิงเวียนศีรษะไว้อย่างชัดเจน แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า ในผู้สูงอายุสาเหตุของอาการวิงเวียนมักไม่ได้เกิดลำพังจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากหลายสาเหตุผสมผสานกัน ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวควรมาพบแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด พร้อมนำยาที่รับประทานเป็นประจำมาให้แพทย์ดูเพื่อจะได้ทำการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ