หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ผ่าตัดหมอนรองกระดูกบริเวณเอวผ่านกล้องจุลทรรศน์

เมื่อมีอาการเสียวซ่าคล้ายเข็มทิ่ม ชา หรือไม่มีแรง เริ่มจากหลังส่วนล่างลามผ่านบริเวณก้นลงไปที่ขา อาจบ่งบอกว่าป่วยด้วยโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ซึ่งไม่ใช่ผู้ป่วยด้วยโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาททุกคนจะสามารถเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดเปิดเอาหมอนรองกระดูกสันหลังออกได้ คนส่วนใหญ่พบว่าจะลดอาการปวดได้ด้วยการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด เช่น การนอนพัก การทำกายภาพบำบัด การฝังเข็มบำบัด วิธีไคโรแพรคติก การรักษาด้วยยาต้านการอักเสบ และการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท (Eqidural Steroid Injection) อย่างไรก็ตามบางครั้งอาการปวดไม่ตอบสนองต่อการบำบัดด้วยวิธีเหล่านี้และอาจต้องใช้วิธีการรักษาอื่นที่จะให้ผลดียิ่งขึ้น


หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดขึ้นเมื่อผนังด้านนอกของหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมลง ทำให้สารน้ำในหมอนรองซึ่งเป็นส่วนที่อ่อนนุ่มด้านในของหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมา เมื่อสารน้ำภายในหมอนรองรั่วผ่านขอบนอกของหมอนรองออกมาจะกดกับเนื้อเยื่อเส้นประสาทการรับรู้ในกระดูกสันหลัง ทำให้มีอาการอ่อนแรง เสียวซ่าคล้ายเข็มทิ่ม หรือปวดหลังและขาด้านในข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง


รักษาหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท

ก่อนจะทำการรักษาหมอนรองกระดูกบริเวณเอวทับเส้นประสาทแบบผ่าตัดเปิดเอาหมอนรองกระดูกสันหลังออก แพทย์จะแนะนำทางเลือกในการรักษาแบบต่าง ๆ เช่น ใช้ยาแก้ปวดควบคู่ไปกับการรักษาแบบไม่ผ่าตัด การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท ในระหว่างการรักษาตามขั้นตอนเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการวัดความพิการที่เกี่ยวกับความเจ็บปวดเพื่อหาระดับความรุนแรงของโรค โดยใช้แผนภูมิคะแนนความเจ็บปวดเพื่อวัดระดับความเจ็บปวด และใช้ดัชนีวัดความพิการเพื่อวัดความสามารถของผู้ป่วยในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้สามารถใช้ในการประเมินผู้ป่วยแต่ละรายเบื้องต้นเพื่อติดตามตลอดเวลาและประเมินประสิทธิภาพของการรักษา

การฉีดสเตียรอยด์ลงในรากประสาทที่เลือกอาจจำเป็นต้องใช้ในการวินิจฉัยสาเหตุของอาการปวดรากประสาทเฉพาะที่และเพื่อบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างและอาการปวดขา อีกทั้งมีการใช้เอกซเรย์ (ด้วยเครื่องเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคป) เพื่อตรวจดูให้แน่ใจว่า สเตียรอยด์เข้าไปยังตำแหน่งที่ถูกต้อง หากอาการปวดของผู้ป่วยหายไปหลังจากฉีดยา จะสรุปได้ว่า รากประสาทในตำแหน่งที่ฉีดสเตียรอยด์เข้าไปนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง สเตียรอยด์ยังช่วยลดการอักเสบบริเวณรากประสาทได้อีกด้วย หลังจากที่เรารู้ตำแหน่งที่แน่นอนของบริเวณที่เป็นปัญหาแล้วจะสามารถรักษาด้วย “การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery)” หากจำเป็น


ผ่าตัดหมอนรองกระดูกบริเวณเอวผ่านกล้องจุลทรรศน์

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล โดยทีมแพทย์ ประกอบด้วย ศัลยแพทย์ระบบประสาทกระดูกสันหลัง ศัลยแพทย์กระดูกและกระดูกสันหลัง นักประสาทวิทยา จิตแพทย์ วิสัญญีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และอื่น ๆ ได้ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เช่น กล้องจุลทรรศน์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติโออาร์ม (O-ARM) และเครื่องมือนำร่องและติดตามการทำงานของระบบประสาทและไขสันหลังขณะผ่าตัด และใช้เทคนิคการทำผ่าตัดแผลเล็กที่ทันสมัย เรียกว่า “การผ่าตัดผ่านกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Discectomy)” ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าเป็นมาตรฐาน “Gold Standard” สำหรับการรักษาโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทด้วยการผ่าตัด เนื่องจากมีอัตราการเกิดซ้ำของโรคต่ำ ซึ่งอาการปวดหลังส่วนล่างและอาการปวดขาที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบไม่ผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดหมอนรองกระดูกบริเวณเอวผ่านกล้องจุลทรรศน์ เพื่อขจัดหมอนรองกระดูกที่ยื่นออกมาจากผนังหมอนรองกระดูกและเศษชิ้นส่วนหมอนรองกระดูกอื่น ๆ ที่อาจหลุดออกมาจากหมอนรองกระดูกออกไป


ข้อดีของเทคนิคผ่าตัดหมอนรองกระดูกบริเวณเอวผ่านกล้องจุลทรรศน์

  • ลดความเสียหายของกล้ามเนื้อและบริเวณเฉพาะที่
  • แผลสวย
  • ลดอาการปวดและเวลาในการผ่าตัด
  • ฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น


ก่อนออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะต้องรู้สึกว่าทำกิจกรรมด้วยตัวเองได้สะดวก เช่น นั่งและออกจากรถ ขึ้นและลงจากเตียง นั่งบนเก้าอี้ ไปห้องน้ำและอาบน้ำ รวมทั้งต้องรับประทานยาลดอาการปวดแผล เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยไม่ควรนั่งนานเกิน 60 นาทีในแต่ละครั้ง ไม่ยกของหนักหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง หรือนั่งในรถที่ขับสะเทือนแรง ๆ หลังผ่าน 2 สัปดาห์ไปแล้ว ผู้ป่วยต้องเริ่มโปรแกรมการออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อท้องและหลัง และต้องควบคุมน้ำหนักเพื่อไม่ให้มีไขมันส่วนเกินในร่างกาย