หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
กระดูกพรุนกับผู้สูงอายุ

กระดูกพรุนคืออะไร

โรคกระดูกพรุนคือโรคกระดูกที่เกิดขึ้นได้กับกระดูกทั่วร่างกาย โดยมีลักษณะสำคัญคือ มวลหรือปริมาณเนื้อกระดูกลดลงร่วมกับการที่เนื้อกระดูกคุณภาพแย่ลง ส่งผลให้กระดูกในร่างกายแตกหักได้ง่าย แม้แต่แรงซึ่งปกติไม่ทำให้คนหนุ่มสาวกระดูกหัก ก็สามารถทำให้คนที่เป็นโรคกระดูกพรุนกระดูกหักได้


ทำไมผู้สูงอายุเสี่ยงโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน ทำให้มวลกระดูกลดลง ในผู้หญิงมวลกระดูกจะลดลงไปเรื่อย ๆ หลังหมดประจำเดือนหรือก่อนหมดประจำเดือนเล็กน้อย ส่วนในผู้ชายตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป มวลกระดูกจะลดลงเรื่อย ๆ พอลดลงจนกระดูกเริ่มแตกหักง่าย จะเรียกว่า โรคกระดูกพรุน เพราะฉะนั้นโรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุหรือผู้หญิงหมดประจำเดือน ที่ชอบเรียกกันว่า โรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือนและโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ


ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 

1) โรคกระดูกพรุนปฐมภูมิ เกิดในสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เป็นโรคกระดูกพรุนที่พบได้บ่อย เพราะเป็นธรรมชาติที่มวลกระดูกของคนเราจะลดลงหลังหมดประจำเดือนและหลังอายุ 50 ปี

ปัจจัยเสี่ยงคือ สิ่งที่ทำให้มวลกระดูกสลายเร็วขึ้น เช่น ขาดวิตามินดี ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ การใช้ยาบางประเภท ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม รวมถึงกรรมพันธุ์ โรคกระดูกพรุนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ถึง 40% คนในครอบครัวมีประวัติกระดูกหักง่าย หรือเคยกระดูกหักมาก่อนจากอุบัติเหตุแรงน้อย ๆ เช่น ล้มจากยืนแล้วมีกระดูกหัก

2) โรคกระดูกพรุนทุติยภูมิ เกิดจากโรคหรือยาบางชนิดที่มีผลทำให้มวลกระดูกสลายมากขึ้น และโรคกระดูกพรุนสามารถเกิดได้ในวัยหนุ่มสาว


อาการเตือนและสัญญาณของโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนมักไม่มีอาการเตือน จึงใช้วิธีประเมินปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน ใครมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่ามีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนก่อนคนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่อาการแรกที่เจอ คือ กระดูกหัก วิธีประเมินนอกจากใช้วิธีประเมินปัจจัยเสี่ยง คือการตรวจมวลกระดูก ซึ่งปัจจุบันเรามีเครื่องตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก (Bone Density Mass) ที่ทันสมัย สามารถวัดปริมาณของมวลกระดูกได้ชัดเจนและแน่นอน ในผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนที่กระดูกสันหลังจะมีอาการปวดหลัง แต่สาเหตุของอาการปวดหลังมีมากมายจึงต้องหาสาเหตุที่แท้จริง ที่สำคัญโรคกระดูกพรุนเกิดขึ้นได้กับกระดูกทุกชิ้นในร่างกาย แต่กระดูกที่มักเป็นกระดูกพรุนก่อนที่อื่นจะเป็นกระดูกสันหลังเป็นอันดับแรก จึงเป็นกระดูกที่หักบ่อยที่สุดในโรคกระดูกพรุน อาการจะมีปวดหลังก่อนล่วงหน้าที่จะหัก แต่ไม่ได้เป็นทุกคน เพราะฉะนั้นอาการปวดหลังไม่ใช่อาการหลักของโรคกระดูกพรุน


การรักษาโรคกระดูกพรุนในปัจจุบัน

การรักษาโรคกระดูกพรุนในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา ได้แก่
    • ผู้ป่วยรับแคลเซียมในปริมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ร่างกายจะนำแคลเซียมไปใช้สร้างกระดูก
    • ผู้ป่วยรับวิตามินดีในปริมาณ 800 – 1,000 ยูนิตต่อวัน วิตามินดีช่วยส่งเสริมร่างกายในการดูดซึมแคลเซียม และทำให้เซลล์กระดูกทำงานได้ดีขึ้น
    • ผู้ป่วยต้องออกกำลังกาย เช่น เดินวันละ 30 นาทีทุกวัน หรือสัปดาห์ละ 4 – 5 ครั้ง เพราะกระดูกจะแข็งแรง ต้องมีแรงกระทำตั้งแต่กระดูกสันหลังลงไปถึงสะโพกถึงเท้า จะทำให้กระดูกคงความแข็งแรงไว้ได้
  2. การรักษาโดยใช้ยา ปัจจุบันมียาที่สามารถเพิ่มมวลกระดูกที่ลดลงได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
    • ยายับยั้งการสลายกระดูก เพราะหลังอายุ 50 ปีขึ้นไป และหลังหมดประจำเดือน กระดูกจะสลายตัว สามารถให้ยาเพื่อยับยั้งการสลายกระดูกได้ การสลายกระดูกหรือมวลกระดูกจะสามารถเพิ่มขึ้นได้
    • ยาเพิ่มการสร้างมวลกระดูก ยากระตุ้นให้เซลล์กระดูกสร้างกระดูกใหม่เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นมวลกระดูกจะเพิ่มมากขึ้น เป็นยาที่ออกฤทธิ์แรงกว่ายาในกลุ่มยับยั้งสลายกระดูก 

ข้อดีของการใช้ยา

  • ช่วยเพิ่มมวลกระดูก
  • ช่วยให้ความแข็งแรงของกระดูกกลับคืนมา
  • ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักในอนาคต
  • ป้องกันไม่ให้กระดูกหักในอนาคต

ทั้งนี้การรักษาโดยการใช้ยาในผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์