อาการสูญเสียความจำชั่วคราว เหม่อลอยเป็นพัก ๆ นอนตื่นสาย อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ อย่างที่หลายคนคิด เพราะนี่คือสัญญาณของโรคลมชัก เพราะโรคลมชักไม่ได้มีอาการแค่ชักเกร็งกระตุกทุกส่วนของร่างกายหรือที่เรียกว่าโรคลมบ้าหมูเท่านั้น แต่คนที่เป็นโรคลมชักยังแสดงอาการได้หลายแบบ เช่น วูบ เบลอ จำอะไรไม่ได้ มักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใหญ่สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนกลุ่มวัยทำงานมักมีอาการเหม่อลอยเป็นพัก ๆ ระหว่างทำงาน ทำปากขมุบขมิบหรือเคี้ยวปาก มือเกร็ง บางรายอาจมีอาการพูดไม่ออก ในกลุ่มเด็กโตจะมีอาการผิดปกติ เช่น นอนตื่นสาย จากเดิมไม่เคยตื่นสายมาก่อน เป็นต้น
สัญญาณอันตราย
โรคลมชักมีความหลากหลายทางอาการมาก ขึ้นอยู่กับว่าภาวะผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองส่วนใดและรุนแรงแค่ไหน จึงสังเกตได้ยาก ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคลมชัก ยิ่งถ้ามีอาการเป็น ๆ หาย ๆ อาจไม่ทันสังเกต เช่น สูญเสียความจำไปชั่วขณะ ญาติจะพามาพบแพทย์ด้วยอาการเดินเซ หลง ๆ ลืม ๆ โดยคิดว่าเกิดจากความเสื่อมตามอายุ
โรคลมชักเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต รองลงมาคือกลุ่มเด็ก ซึ่งเกิดจากแผลเป็นในสมองติดตัวมาตั้งแต่เกิด บางรายเซลล์สมองผิดปกติ ดังนั้นพ่อ แม่ ลูกหลานต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรม หากพบอาการผิดปกติหรืออาการชักแม้เพียงครั้งเดียวให้รีบพามาพบแพทย์เพื่อรักษา เพราะผลจากการชักจะทำให้เซลล์สมองตาย
คนไข้หลายคนไม่เคยชัก แต่ระหว่างการรักษาโรคกลับมีอาการวูบ เพราะสมองถูกกระทบกระเทือนกลายเป็นโรคลมชักตามมา บางรายจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ เช่น ไปเที่ยวต่างประเทศกลับมาแล้วจำไม่ได้ หรือระหว่างสนทนา หยุดพูดไปชั่วขณะ
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกจึงรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนว่า โรคลมชักเป็นอันตรายร้ายแรงที่ไม่มีแนวโน้มลดลง จึงควรให้ความสำคัญในการดูแลคนใกล้ชิด เนื่องจากสามารถเกิดในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชีย จากรายงานทางการแพทย์ระบุว่า มีผู้ป่วยกว่า 50 ล้านคนเป็นโรคลมชัก ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาระหว่างคลอด หรือเกิดจากโรคเขตร้อนที่มีผลต่อสมอง เช่น โรคไข้สมองอักเสบ รวมทั้ง อุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจส่งผลให้เกิดโรคลมชักเพิ่มขึ้นด้วย
โรคลมชักถือเป็นโรคเก่าแก่ที่พบเป็นอันดับแรกๆ ของโรคทางสมอง คนสมัยก่อนเรียกโรคนี้ว่า โรคผีเข้า ต่อมามีการค้นพบยารักษาโรคลมชัก ตามมาด้วยการคิดค้นเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าทางสมองโดยชาวเยอรมัน หากพบอาการตั้งเริ่มต้นสามารถรักษาหายได้
เช็กก่อนช่วยได้
แนวทางการรักษาโรคลมชักของโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลจะใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาตรวจอาการเพื่อดูคนไข้อย่างละเอียด เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองและการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
การตรวจคลื่นสมอง (EEG: Electroencephalography) เป็นการบันทึกสัญญาณไฟฟ้าของกลุ่มเซลล์ในสมอง ผลการตรวจจะปรากฏเป็นเส้นกราฟต่อเนื่องบนจอภาพ การตรวจคลื่นสมองเป็นการตรวจที่ง่าย ไม่มีผลข้างเคียง และไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่คนไข้ การตรวจนี้มีประโยชน์มากในคนไข้ที่สงสัยว่าเป็นโรคลมชัก เนื่องจากสามารถยืนยันการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคลมชักจริงหรือไม่ ในกรณีที่อาการชักไม่ชัดเจน นอกจากนี้ยังช่วยจำแนกชนิดของโรคลมชัก ซึ่งมีผลต่อการเลือกยากันชักที่เหมาะสมกับโรคลมชักแต่ละประเภท
หากคนไข้รายไหนยังมีอาการไม่ชัดเจนจะมีการตรวจคลื่นสมอง 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลมีเครื่อง QEEG : Quantitative Electroencephalography ที่สามารถวัดค่าที่เป็นตัวเลขหรือกราฟออกมา ซึ่งไม่เหมือนกับการตรวจคลื่นสมองธรรมดา โดยสามารถคำนวณออกมาได้ว่า คนไข้เริ่มมีความผิดปกติอะไรออกมาแล้วแสดงเป็นภาพ ซึ่งอันนี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ในการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองระยะยาวของคนไข้วิกฤติ
คุณสมบัติของ QEEG คือ สามารถบันทึก 24 ชั่วโมงหลาย ๆ วัน แล้วออกมาเป็นกราฟให้เห็นได้ชัดเจนในใบเดียว ซึ่งโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลนำเข้ามาใช้ดูแลคนไข้ลมชักวิกฤติ นอกจากนี้ใชัการตรวจ EEG เพื่อประเมินอาการ ดูความสัมพันธ์กับคลื่นสมองกับอาการที่ผิดปกติต่าง ๆ เนื่องจากบางคนมีอาการเฉพาะตอนที่นอนหลับ หรือบางครั้งต้องให้คนไข้อดนอนเพื่อให้คลื่นไฟฟ้าออกมาชัดเจนขึ้น
ขณะเดียวกันมีการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ( MRI: Magnetic Resonance Imaging) สแกนสมองโดยเฉพาะ 1 – 2 ชั่วโมง โดยมีทีมผู้ชำนาญการอ่านฟิล์มสมองเพื่อความถูกต้องในการวินิจฉัยโรค ในกรณีคนไข้ไม่ตอบสนองต่อยาอาจใช้วิธีผ่าตัดโดยการตัดแผลเป็นออก หรือใช้ “แกมมา ไนฟ์” (Gamma Knife) ไปทำลายตรงจุดกำเนิดนั้น ๆ แต่คนไข้ส่วนใหญ่จะใช้ยากันชักช่วยปรับกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติในสมองให้กลับมาเป็นปกติ
นอกจากนี้ได้นำร่องระบบ “Web Base EEG Monitor” มาใช้ในเอเชีย เพื่อดูแลคนไข้โรคลมชักในห้องไอซียูได้อย่างใกล้ชิด แพทย์สามารถเปิดดูข้อมูลผู้ป่วยได้ตลอดเวลา ซึ่งระบบนี้จะช่วยทำให้คนไข้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ระบบนี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการรักษา แพทย์สามารถเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่มีข้อจำกัดด้านระยะทางหรือเวลา
ป้องกันโรคลมชัก
การป้องกันโรคลมชักที่ดีที่สุด คือ การรู้ตัวว่าเป็นโรคลมชักในระยะแรก ๆ และทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้สมองถูกทำลาย สามารถกลับมามีชีวิตได้ตามปกติ ส่วนพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ เช่น อดนอน อดอาหาร ออกกำลังกายหักโหมเกินไป ดื่มแอลกอฮอล์ เครียด เพราะทำให้มีโอกาสเป็นโรคลมชักง่ายขึ้น
โรคลมชักถือเป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงจึงควรรับการตรวจเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนจะสายเกินไป
ข้อมูล : ดร. นพ.โยธิน ชินวลัญช์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคความจำถดถอยและโรคลมชัก ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามเพิ่มเติม
โทร. 0 2310 3000 หรือ โทร. 1719
Email: [email protected]